หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้รัฐบาลออก พ.ร.ฎ.ปิดสมัยประชุม เพื่อยุติความขัดแย้ง ชี้หากเดินหน้าปัญหายิ่งลุกลาม วอนเคารพดุลพินิจของศาล เตือนตำรวจซ้อมปราบฝูงชนไม่ควรทำให้เผชิญหน้ารุนแรง ชี้รัฐบาลต้องรับผิดชอบเพราะเป็นต้นตอกฎหมายเป็นตัวเร่งสถานการณ์ขัดแย้ง
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง"นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์"
วันนี้ (4 มิ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนขอเรียกร้องให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมในการประชุม ครม.วันอังคารนี้ (5 มิ.ย.) เพื่อยุติความขัดแย้งจากกรณีร่าง พ.ร.บ.ปรองดองและร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังมีความเห็นแตกต่างในข้อกฎหมาย โดยใช้เวลาหลังจากนี้ทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย ซึ่งจะช่วยทำให้สถานการณ์เย็นลงได้ในระดับหนึ่ง และยังลดความหวาดระแวงของมวลชนที่มีต่อรัฐบาล เนื่องจากหากยังมีการเปิดสมัยประชุมอยู่ก็จะไม่มีความมั่นใจว่าจะมีการลักไก่นำเอาร่างกฎหมายที่เป็นปัญหาเข้าสู่การพิจารณาหรือไม่
ดังนั้น สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองคือต้องออกพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุม เพื่อปลดล็อกเงื่อนไขความขัดแย้งก่อนที่สถานการณ์จะลุกลามออกไป เพราะหากยังเดินหน้าต่อไปย่อมมีปัญหาตามมา โดยเฉพาะกรณีที่จะลงมติวาระ 3 ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ศาลมีคำสั่งให้ระงับไว้ก่อน ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องตีความตามมา อีกทั้งยังอยากให้เคารพต่อดุลพินิจของศาลเพราะเป็นผู้ชี้ขาดในเรื่องนี้ หากยังเดินหน้าก็จะเกิดปัญหาในเชิงโครงสร้างอำนาจที่จะทำให้สถานการณ์มีความยุ่งเหยิงมากขึ้น
นายอภิสิทธิ์ยังคาดหวังว่านายกรัฐมนตรีจะรับฟังเสียงท้วงติงจากตนและหลายฝ่ายที่มีความห่วงใยต่อบ้านเมือง เนื่องจากหากเลื่อนการพิจารณากฎหมายสองฉบับนี้ออกไปก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย มีเพียงแค่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องหาหนีคดีอาญาแผ่นดินคนเดียวที่เดือดร้อน เพราะเอาเรื่องของตัวเองเป็นหลักโดยใช้คนอื่นเป็นตัวประกัน คนที่ควรลดเงื่อนไขลงคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งนี้ ประเทศไม่ควรเข้าสุ่การเผชิญหน้าเพราะจะทำให้เกิดวิกฤตการเมืองที่รุนแรงอีกครั้งจนยากที่ประเทศจะฟื้นฟูกลับมาได้อีก ซึ่งภาคเอกชนก็แสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้
ดังนั้น นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บริหารประเทศควรตัดสินใจโดยยึดประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นหลัก และในวันพรุ่งนี้วิปฝ่ายค้านจะมีท่าทีที่ชัดเจนไปยังคณะรัฐมนตรีด้วย พร้อมกับเตือนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีการซ้อมปราบฝูงชนว่าไม่ควรทำให้เกิดการเผชิญหน้าที่รุนแรงมากขึ้น เพราะประเทศไม่จำเป็นต้องเข้าสู่สถานการณ์แบบนี้ หากมีความรุนแรงเกิดขึ้นผู้ที่รับผิดชอบคือรัฐบาล เนื่องจากเป็นต้นตอของปัญหาผลักดันกฎหมายที่เกิดความขัดแย้งจนกลายเป็นตัวเร่งของสถานการณ์