ครม.ถกเครียด “ปู” นำทีมเร่งสรุปปิดเกมใส่เกียร์ถอย ชง พ.ร.ฎ.ปิดสมัยนิติบัญญัติ อ้างเหตุผลต้องถอดชนวนขัดแย้ง บริหารบ้านเมืองให้สงบสุข ยันรัฐบาลไม่ได้เลิกโหวต รธน.วาระ 3 ด้าน “ณัฐวุฒิ” ยุรัฐบาลดันทุรังสู้ โวยถอยแนวร่วมไม่ปลื้ม ขู่วันใดศาล รธน.เชือด กองเชียร์จะทิ้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ซึ่งมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานนั้น ปรากฏว่าที่ประชุม ครม.ได้ใช้เวลาหารือเรื่องการออก พ.ร.ฎ.ปิดการประชุมสมัยนิติบัญญัติในวันที่ 19 มิ.ย.กันนานเป็นพิเศษเกือบ 1 ชั่วโมง โดยมีรายงานข่าวแจ้งว่านายกฯ มีท่าทีที่มีการเตรียมประเด็นมาอย่างดี และพยายามที่จะรวบรัดไม่อยากให้รัฐมนตรีแสดงความเห็นกันมากนัก แต่สุดท้ายก็มีการถกเถียงกันอย่างเคร่งเครียดพอสมควร โดยนายกฯ พยายามตัดบทและรีบปิดเกมให้ ครม.เห็นชอบ พ.ร.ฎ.ปิดสมัยประชุม นิติบัญญัติในวันที่ 19 มิ.ย. โดยอ้างเหตุผลรัฐบาลจำเป็นต้องสร้างความสงบสุขขึ้นในบ้านเมือง
โดยการประชุมเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.40 น. ภายหลังจากที่นายกฯได้พูดถึงเรื่องในวาระที่นายกฯ แจ้งให้ที่ประชุมทราบแล้ว นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ ครม.ได้แจ้งต่อ ครม.ว่า มีเรื่องสำคัญที่ ครม.จะหารือ คือ เรื่อง พ.ร.ฎ.ปิดประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติและการจัดทำความเห็นชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นได้มอบให้นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะวิปรัฐบาลได้แจ้งว่าการการประชุมวิปรัฐบาลเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมาก็ได้แจ้งว่ามีกฎหมายที่ค้างอยู่คือ พ.ร.บ.ก่อการร้าย และกรอบการเจรจาระหว่างประเทศ ตามมาตรา 190 อีก 9 ฉบับ และกฎหมายอื่น คือ กฎหมายฟอกเงิน ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพ การสาธารณสุขชุมชน ซึ่งเต็มที่ก็คงจะพิจารณาได้เสร็จสิ้นในไม่กี่วันต่อจากนี้ เพราะฉะนั้นวิปรัฐบาลก็เลยกำหนดว่าจะขอให้ปิดกาประชุมสมัยนิติบัญญัติในวันที่ 19 มิ.ย.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อถึงตรงนี้นายกฯ ได้หันไปมองนายวรวัจน์ แล้วบอกว่า “ค่ะ ถือว่ารับทราบตามนั้น ต่อเลยค่ะ” อย่างไรก็ตาม ในจังหวะนั้นนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ และแกนนำ นปช. ได้รีบยกมือขอพูดโดยระบุว่า “ผมเข้าใจที่มา แต่ขอพูดนิดนึงได้มั้ยครับ” จนนายกฯ ต้องหันไปสบตา ร.ต.อ.เฉลิมเป็นเชิงจะขอความเห็นว่าจะปล่อยให้มีการพูดหรือไม่ ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิมก็ไม่ได้แสดงท่าทีอะไร นายณัฐวุฒิจึงได้พูดต่อไปว่า ตนเข้าใจที่มา เหตุผลทั้งหมดที่มีการเสนอความเห็นในสถานการณ์การเมืองในขณะนี้
“ผมเรียนว่าสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้องค์กรที่ควรจะทำหน้าที่ทางกฎหมาย มิได้ทำหน้าที่ตามกฎหมาย เพราะถ้าตีความตามตัวบทกฎหมายเราสู้ได้ทุกประตู เราไม่กลัวถ้าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ทางกฎหมาย แต่วันนี้เขาไม่ได้ทำหน้าที่ทางกฎหมายแต่กลับทำหน้าที่ทางการเมือง ผมมีมติความคิดว่าเมื่อเขาคิดเห็นทางการเมือง ผมก็ต้องแสดงความเห็นทางการเมืองเช่นกัน แน่นอนรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และการเดินหน้าผ่านมา 2 วาระ เป็นไปตามนโยบายและบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ประชาชนอยากเห็นท่าทีที่ชัดเจน ถ้าเรามีมติอย่างนี้แล้วมีเหตุผลประชาชนจะผิดหวังที่ไม่ได้เห็นท่าทีที่ชัดเจน จากรัฐบาลที่เขาเชียร์ การเลื่อนการลงมติหรือการปิดสมัยประชุม เป็นสิ่งที่ประชาชนไม่ได้ยอมรับมาตั้งแต่ต้น การแสดงความพร้อมที่จะโหวต และท่าทีที่พร้อมจะสู้ต่างหากที่ทำให้ได้ใจของประชาชน แต่การที่เราเลื่อนและปิดสมัยประชุม กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นายณัฐวุฒิกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณัฐวุฒิยังกล่าวต่อไปว่า “ผมยอมรับว่าผมไม่สามารถอธิบายอะไรให้พี่น้องผม และความจริงผมสู้ทุกสมรภูมิ ไม่เคยคิดว่าจะต้องกลัวอะไร ผมเข้าใจที่มาและเหตุผล แต่ถามว่าหากเราทำแบบนี้แล้วงกองเชียร์เราจะเหลือใครบ้าง ลองจินตนาการดูว่าหากศาลตัดสินไปในทางที่เป็นลบกันเรา แล้วเราจะไปอธิบายกองเชียร์ได้อย่างใด เรื่อง พ.ร.บ.ปรองดองต้องบอกเลยว่าหลายคนไม่เห็นด้วย มวลชนไม่พร้อมสู้เราก็ไปชวนเขามา ถ้าไม่เอา พ.ร.บ.ปรองดองเข้าก็โหวตวาระ 3 ไปได้แล้ว ผมไม่ได้ตีอกชกหัวแต่แค่บอกว่าในวันที่เขาไม่พร้อมออกมาเราก็ไปชวนเขามาปกป้องเรา แต่ในวันที่เขาพร้อมจะปกป้องและอยากเห็นท่าทีที่เข้มแข็งของเรา เรากลับเลือกจะหลบและอ่อนแอ แสดงให้เห็นถึงความอ่อนด้อยในการทำงานการเมือง ถ้าเป็นมวยถือว่าคนเชียร์ผิดหวัง ในวันที่เราถูกตัดสินในทางที่เป็นลบ อาจจะไม่เหลือใครยืนเลือกข้างเราเลยก็ได้ ผมน้อมรับความเห็นของทุกฝ่าย แต่การที่ไปโหวตว่าคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ปิดสมัยประชุมแบบนี้ ผมเชื่อว่าจะเป็นข่าวใหญ่และเป็นลบกันเรา แล้วใครจะเป็นหลักการันตีว่าวันหนึ่งวันใดในอนาคตศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้เขาจะ ทำอะไรหรือจะลงมติอะไรตามแต่ใจที่เขาอยากจะทำ เราก็ต้องฟังอย่างนี้ทุกครั้งใช่หรือไม่ แล้วประชาชนตั้งคำถามว่าในวันที่เป็นฝ่ายค้านก็ไม่ได้ช่วยอะไร ในวันที่เป็นรัฐบาลให้สู้ก็ยังไม่สู้อีก”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนายณัฐวุฒิพูดเช่นนี้ นายกฯ ซึ่งมีสีหน้าเคร่งเครียดก็พยายามจะตัดบท โดยกล่าวว่า “เข้าใจความรู้สึกและเข้าใจความเห็นของคุณณัฐวุฒิ อยากอธิบายให้ได้ฟังว่าในประเทศไทยเรามีอำนาจอธิปไตย 3 อำนาจด้วยกัน คือ อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ 3 อำนาจต้องแยกกันไป แน่นอนเมื่อมีหนึ่งอำนาจมาท้วงติงอีกหนึ่งอำนาจเขาคอมเม้นท์มาเราจะไม่ฟังเลยคงไม่ได้ จริงอยู่คุณณัฐวุฒิบอกว่าเป็นนโยบายที่เราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นนโยบายที่เราจะต้องเดินหน้าเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ แม้แต่ พ.ร.บ.ปรองดองก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องทำ แต่วันนี้ต้องเข้าใจด้วยว่ามันเลย ครม.ไปอยู่สภาฯ แล้ว การที่วิปรัฐบาลส่งเรื่องมาแสดงจุดยืนเช่นนี้ เราทำอย่างอื่นไม่ได้จริงๆ นอกจากรับทราบ ส่วนตัวถามวันนี้ว่าเห็นด้วยหรือไม่ อย่าให้พูด แต่เมื่อมันเกิดข้อขัดแย้ง เราไม่ปิดสมัยประชุม เราไม่ถอดชนวนความขัดแย้งนั้น ประเทศชาติก็เดินหน้าต่อไปไม่ได้ การสร้างความสงบสุขเป็นสิ่งที่รัฐบาลพึงตระหนักว่าเราจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองของเราเกิดความสงบสุขเกิดสันติภาพ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ในตอนท้าย นายณัฐวุฒิได้ลุกขึ้นขอถามเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นความรู้ว่า ตั้งแต่มีศาลรัฐธรรมนูญมาเขาเคยตัดสินอะไรที่มีผู้กระทำความผิดเยอะๆ แบบครั้งนี้หรือไม่ แบบที่กำลังจะให้ ส.ส.ผิดกันแบบนี้ รวมถึงหากเขาใช้ข้อกฎหมายในการมาเอาผิด ส.ส. มันจะส่งผลถึงขั้นทำให้ ส.ส.ทั้งหมดมีปัญหาหรือไม่ ซึ่งนายอัชพร จารุจินดา เลขาฯ กฤษฎีกา ตอบว่า ไม่มีกฎหมายข้อไหนที่ทำได้ ที่บอกว่าจะไปตัดสิทธิ ส.ส. หรือจะให้ ส.ส.ติดคุก ดูแล้วไม่มีเลย และการยุบพรรคก็เป็นไปไม่ได้เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญมันก็เป็นหน้าที่ของ ส.ส.อยู่แล้ว