xs
xsm
sm
md
lg

เกมหักดิบปิดสมัยประชุมสภาฯ เพื่อไทย-ปชป.ชิงเหลี่ยมการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์
พรรคประชาธิปัตย์พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เร่งให้ความเห็นชอบออกร่างพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฏรโดยเร็วที่สุด ถึงกับส่งส.ส.ของพรรคนำโดยพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรมว.ยุติธรรมไปยื่นหนังสือถึงรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ5 มิถุนายน 2555ที่ผ่านมา

เป็นประเด็นสำคัญที่ประชาธิปัตย์อ้างเหตุว่า จากปกติที่จริงๆ จะต้องปิดสมัยประชุมตั้งแต่วันที่18 เม.ย.ที่ผ่านมาแต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการปิดสมัยประชุม ถือว่าเลยช่วงเวลาปกติมานานแล้ว แต่ที่รัฐบาลยังไม่ดำเนินการ ก็เพราะมีความดึงดันที่จะเสนอร่างพรบ.ปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. …ทั้ง4ฉบับหรือกฎหมายนิรโทษกรรมให้ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯในวาระแรกให้ได้ทั้งที่มีแรงต้านจากประชาชนทั่วสารทิศ

รวมถึงการต้องการให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ3 ให้ได้ ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้อง 5 สำนวนที่มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา291 ของรัฐสภาที่กำลังทำอยู่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา68เอาไว้แล้ว และมีคำสั่งให้รัฐสภารอผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนว่าจะออกมาอย่างไร ก็กรอบเวลมาแล้วว่าไม่น่าจะเกินกลางเดือนกรกฏาคมนี้

ฝ่ายค้านพรรคแมลงสาปจึงมองว่าที่รัฐบาลไม่ยอมออกพรฎ.ปิดสมัยประชุมสภาฯ ก็เพราะหวังว่าเมื่อส.ส.เพื่อไทยเข้าประชุมสภาฯได้ ก็จะพิจารณาวาระที่ค้างการพิจารณาอยู่คือร่างพ.ร.บ.ปรองดอง เพื่อให้ความเห็นชอบวาระแรกไป รวมถึงการจะหาทางให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตร่างแก้ไขรธน.วาระ 3 โดยไม่สนใจกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ

โดยอ้างว่า “คำสั่งศาล”เป็น “คำสั่งเถื่อน”ไม่เข้าข่ายมาตรา68ของรัฐธรรมนูญเพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ให้ศาลรธน.มาห้ามรัฐสภาในกรณีการโหวตแก้ไขรธน.ได้

หากเสียงข้างมากจากพรรคเพื่อไทยคิดจะดันทุรังต่อไปให้ถึงที่สุดกับเรื่องกฎหมายปรองดองและการแก้ไขรธน. ฝ่ายค้านเกรงว่าอาจจะทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงนอกรัฐสภาตามมา อย่างไรก็ตาม จะพบว่าฝ่ายรัฐบาล พยายามจะอ้างเหตุผลที่ไม่สามารถปิดสมัยประชุมสภาฯตอนนี้ได้ว่าเป็นเพราะมีกฎหมายสำคัญบางฉบับจ่อค้างอยู่

อาทิ พรบ.การฟอกเงิน ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการสำคัญในกฎหมายเพื่อให้สอดรับกับข้อตกลงเรื่องการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย -อาชญกรรมระหว่างประเทศ ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศด้านการฟอกเงินได้เร่งรัดไทยมาตลอดว่าจะออกกฎหมายฉบับนี้เมื่อใด และยังเป็นกฎหมายที่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะการเงินการธนาคารต่างลุ้นให้ผ่านโดยเร็วเพื่อจะได้ไม่มีปัญหาในเรื่องการดำเนินการธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ

เมื่อเป็นเช่นนี้ มันก็มาติดเงื่อนไขตรงที่ว่า วาระแรกของสภาฯ ในการพิจารณาร่างกฎหมาย คือพรบ.ปรองดอง หลังสภาฯมีมติเสียงข้างมากไปแล้วเมื่อ 31 พ.ค. 2555 ให้เลื่อนกฎหมายนี้ขึ้นมาเป็นวาระแรก

ดังนั้นหากมีการประชุมสภาฯ ได้ ที่ประชุมสภาฯก็ต้องพิจารณากฎหมายฉบับนี้ก่อนเป็นลำดับแรก หากจะขอพิจารณากฎหมายฟอกเงิน ที่เป็นกฎหมายสำคัญ ก็ต้องไปขอมติจากที่ประชุมสภาฯ

แต่ก็มาติดปัญหาตรงที่ว่า ประชาชนหลายฝ่ายก็ไม่ไว้ใจเพราะหากปล่อยให้ส.ส.เพื่อไทยเข้าประชุมสภาฯกันได้ ก็ไม่มีหลักประกัน ว่าจะไม่มีการโหวตรับหลักการร่างพรบ.ปรองดองแห่งชาติวาระแรก แบบรวบรัดเร่งรีบแล้วค่อยมาพิจารณาร่างพรบ.ฟอกเงิน

มันก็เลยติด “เดดล็อก”

“ทีมข่าวการเมืองASTVผู้จัดการ”เห็นว่าการแก้ปัญหา สามารถทำได้ไม่ยาก คือการถอนร่างพรบ.ปรองดองออกจากวาระการพิจารณาฯ ไปก่อน โดยทางผู้เกี่ยวข้องต้องมีท่าทีหรือมติให้ชัดเจนเช่น วิปรัฐบาล-มติพรรคเพื่อไทยหรือผู้เสนอร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับต้องแสดงเจตจำนงต่อสังคม รวมถึงสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ก็ต้องออกมาบอกกับประชาชนว่าจะทำเรื่องนี้อย่างไร ขั้นตอนทำแบบไหน และยืนยันว่าจะไม่มีการพิจารณาร่างพรบ.ปรองดองหากมีการเปิดประชุมสภาฯได้

ถ้าทำแบบนี้ ทุกอย่างที่ติดขัด ก็น่าจะเดินไปได้ บนหลักการความไว้ใจซึ่งกันและกัน การยอมถอยคนละก้าว เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

ฝ่ายเพื่อไทยและประธานฯสมศักดิ์ หากจะยังดื้อดึงใช้เสียงข้างมากในสภาฯออกกฎหมายล้างผิดช่วยนายใหญ่ต่อไปให้ได้ รวมถึงพยายามจะหางช่องทางโหวตลงมติแก้ไขรธน.วาระ 3 ให้ได้โดยไม่ยอมแม้แต่จะรอแค่ประมาณ 5-6อาทิตย์เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้จบสิ้นกระบวนความไปก่อน เพื่อให้ข้อกฎหมายทุกอย่างเคลียร์ให้ชัด

ก็รอกันไม่ได้

ทำเหมือนกับว่าการรอให้ศาลรธน.วินิจฉัยเสร็จในช่วงไม่เกินกลางเดือนกรกฏาคม แล้วค่อยไปว่ากันหลังจากนั้นซึ่งทำได้หลายอย่างทั้งการขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อเรียกประชุมรัฐสภาลงมติแก้ไขรธน.วาระ3 หรือจะรออีกแค่ 2 อาทิตย์ต่อจากช่วงกลางเดือนกรกฏาคม สภาฯ ก็เปิดสมัยสามัญในวันที่ 1 สิงหาคมแล้ว จะไปโหวตแก้ไขรธน.ตอนนั้นก็ยังทัน

ไม่เห็นต้องรีบเร่งอะไร ทำยังกับถ้าไม่โหวตแก้ไขรธน.กันตอนนี้แล้ว ประเทศมันจะถล่ม บ้านเมืองจะกลียุค ผู้คนจะล้มตาย แผ่นดินจะลุกเป็นไฟ

ทั้งที่ถึงจะโหวตรธน.วาระ 3 จะช้าหรือเร็ว ประชาชนหลายสิบล้านคนก็ไม่เห็นได้ประโยชน์อะไร มีแต่พวกนักการเมืองที่จะได้ประโยชน์จากการมีรัฐธรรมนูญซึ่งพวกตัวเองเขียนกันเองมาบังคับใช้เร็วขึ้น รวมถึงเพื่อความสะใจที่ได้แข็งขืนตอบโต้ศาลรัฐธรรมนูญหลังจากพวกฝั่งเพื่อไทยเก็บกดมานานกับศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้

“ทีมข่าวการเมือง”จึงเห็นว่า หากรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ยังไม่คิดจะดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมสภาฯ ก็ควรต้องมีคำชี้แจงถึงเหตุผลออกมาให้ประชาชนได้รับรู้

ถ้ารัฐบาลมีเหตุผลที่ชี้แจงได้ เช่น เพราะมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายสำคัญๆ หลายฉบับ อย่างเช่น พรบ.ฟอกเงิน หรือข้อตกลงระหว่างประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ซึ่งต้องให้รัฐสภาเห็นชอบ

แบบนี้เชื่อว่าประชาชนก็เข้าใจได้ แต่รัฐบาลก็ต้องบอกให้ได้ด้วยว่า แล้วจะพิจารณากฎหมายหรือข้อตกลงต่างๆ เหล่านี้แล้วเสร็จเมื่อใด แล้วจากนั้นจะมีกฎหมายสำคัญๆอะไรอีกบ้าง ทุกอย่างต้องมีเงื่อนไขปฏิทินเวลาให้ชัดเจน

เพื่อที่ประชาชนจะได้รู้ข้อมูลอีกด้านจากฝ่ายรัฐบาล ว่ามีเหตุผลไปโต้แย้งพรรคประชาธิปัตย์ถึงเหตุผลที่ยังไม่ยอมปิดประชุมสภาฯ ได้หรือไม่ ขอให้เชื่อเถอะว่า ประชาชนพร้อมจะรับฟังข้อมูลทุกด้านและตัดสินใจเองว่าจะเชื่อฝ่ายไหน

เพราะจากข่าวที่ได้ยินมา ก็พบว่า ในระหว่างการประชุมครม.เมื่อ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ในวงหารือนอกรอบของรัฐมนตรีหลายคนจากทั้งเพื่อไทยและชาติไทยพัฒนาที่นอกห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล

มีรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ร่วมสิบคน นั่งจับเข่าคุยเรื่องการปิดประชุมสภาฯกันอย่างออกรสออกชาด หลังรู้ว่า ประชาธิปัตย์ ส่งคนมายื่นหนังสือถึงนายกฯที่ทำเนียบรัฐบาลวันเดียวกันกับที่ประชุมครม.เพื่อขอให้มีการออกพรฎ.ปิดสมัยประชุมสภาฯ

โดยรมต.ที่ไปร่วมจับเข่าสุมหัวคุยกัน ก็มีอาทิเช่น วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ไปหารือเรื่องการปิดประชุมสภาฯกับวิปรัฐบาลและทางสภาฯ-วิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข-สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข-ชุมพล ศิลปอาชา รมว.ท่องเที่ยวฯ และหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา โดยมี อัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีการ่วมแจม

รัฐมนตรีเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะจากพรรคเพื่อไทย รุมสับศาลรธน.กันอย่างดุเดือด ว่าใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ รมต.บางรายถึงกับระบุว่า

“รอบนี้ศาลรัฐธรรมนูญเสียทีแล้ว พลาดหนัก จะถอนมติก็ไม่ได้ เพราะกลัวเสียหน้า”

และเสียงส่วนใหญ่เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ยิ่งศาลรัฐธรรมนูญมาบอกให้ชลอการลงมติ ก็ยิ่งต้องประชุมลงมติให้ได้ จะได้หักกันไปเลย

ส่วนเรื่องการปิดสมัยประชุมสภาฯ มีคนหูดี เอามาเล่าต่อๆกันว่า บรรดารัฐมนตรีทั้งหลาย ยุยงกันว่า ยิ่งประชาธิปัตย์มาบอกให้รัฐบาลปิดสภาฯ ถ้าขืนไปรับลูก รีบออกพรฎ.ปิดสภาฯเลย รัฐบาลจะเสียแต้มการเมือง คนจะมองว่ารัฐบาลตามก้นฝ่ายค้าน คิดเองไม่เป็น ดังนั้น ให้ลากเกมยาว ถ้าจะต้องยาวไปจนถึงปลายเดือนมิถุนายนหรือกลางเดือนกรกฏาคมจนเกือบจะชนกับวันเปิดประชุมสภาฯสมัยหน้าสิงหาคมเลยก็ต้องยอม อย่าไปเล่นตามเกมของประชาธิปัตย์เด็ดขาด

ประเมินสถานการณ์ไม่ออกว่า หากดันทุรังกันแบบนี้ ใครจะพังเป็นศพแรก
 วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น