xs
xsm
sm
md
lg

รบ.ส่งกฤษฎีกา แก้เกี้ยว! ลั่นชำเรา รธน.ไม่ขัด ม.168 ปัดเอี่ยวล้มล้างการปกครอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อัชพร จารุจินดา
รัฐบาลส่งกฤษฎีกาแจงแก้เกี้ยวคำสั่งศาล รธน.ให้สภาฯ ชะลอแก้ไขร่าง รธน.วาระ 3 ตาม ม.68 ตะแบงอ้างชำเรา กม.สูงสุดไม่ขัด ม.168 ชัวร์ ท่องตามสคริปต์ยังไม่เริ่มฉีก รธน. แค่เปิดทางให้มี ส.ส.ร.ก่อน ป้องกระบวนการสรรหา ส.ส.ร.เป็นกลางแน่ พร้อมปัดไม่ล้มล้างการปกครอง

วันนี้ (12 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แถลงข่าวกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่า คณะรัฐมนตรีพิจารณาการทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า กลไกในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 นั้น ผู้เกี่ยวข้องต้องทำคำชี้แจง คณะรัฐมนตรีจึงจัดทำคำชี้แจงที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่รายละเอียดนั้นมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมาย ตนจึงรับหน้าที่ชี้แจงกับสังคมให้รับทราบ

นายอัชพรกล่าวว่า คำชี้แจงคำร้องสรุปเป็น 4 ประเด็น คือ 1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ อยู่ในบังคับมาตรา 68 หรือไม่ คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่าบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวนั้นห้ามการกระทำใดที่เปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือใช้อำนาจของรัฐโดยไม่ถูกต้องนั้น มีความหมายว่าต้องเป็นการกระทำที่ละเมิดหลักการรัฐธรรมนูญโดยตรง หรือดำเนินการโดยรัฐธรรมนูญไม่มีบัญญัติรับรองให้กระทำได้ โดยหลักของบทบัญญัตินี้เพื่อปกป้องการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเป็นหลัก ส่วนสิ่งที่คณะรัฐมนตรีดำเนินการ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ที่บัญญัติว่าคณะรัฐมนตรีเสนอแก้ไขได้ คณะรัฐมนตรีจึงดำเนินการภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีอยู่ ส่วนเมื่อได้เสนอไปแล้วเป็นอำนาจหน้าที่รัฐสภาว่าจะพิจารณาอย่างไรและจะเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะรัฐมนตรีเสนอไปรัฐสภาได้มีการตั้ง กมธ.แก้ไขหลายประเด็นและร่างที่พิจารณาอยู่ในตอนนี้ก็เป็นร่างของรัฐสภาและต้องดำเนินการตามมาตรา 291 จนจบ

“ส่วนประเด็นที่ระบุว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 นั้น คณะรัฐมนตรีมีความเห็นว่าเป็นคนละเรื่องกัน เพราะรัฐบาลทำตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญทุกประการ” นายอัชพรกล่าว

นายอัชพรกล่าวว่า 2. ในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ยังไม่มีการแตะต้องมาตราใดเลย เพราะรัฐธรรมนูญทุกมาตรายังบังคับใช้ได้ต่อไป การเสนอแก้ไขในตอนนี้ดำเนินการเพียงให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เกิดขึ้นเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญต่อไปและมาตรา 291/11 ระบุว่าการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญต้องไม่มีผลในการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ฉะนั้นจึงเป็นหลักประกันได้ว่า สาระของ ส.ส.ร.ที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญจะกระทำในสิ่งที่มีผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ได้ หากมีการกระทำแบบนั้นร่างรัฐธรรมนูญจะตกไป

นายอัชพ กล่าวว่า 3. มีอ้างว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะมีผลทำให้คณะรัฐมนตรีควบคุมการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่ต้องการได้นั้น พิจารณาแล้วเห็นว่าบทบัญญัติที่ระบุว่า ส.ส.ร.มาจากเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในทุกจังหวัด 77 คน และผู้ทรงวุฒิ 22 คน เสนอชื่อมาจากองค์กรเอกชนและสถาบันการศึกษาคัดเลือกกันเองและเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ รัฐสภาประกอบด้วย ส.ส.และ ส.ว.จำนวนคะแนนเสียงของรัฐบาลไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา ฉะนั้น การดำเนินการของ ส.ส.ร.นั้นจึงไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลว่าจะดำเนินการสิ่งใดได้บ้าง และเมื่อได้สภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว กำหนดว่า ส.ส.ร.ต้องรับฟังความเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน และบทบัญญัติใดจะกระทบระบอบการปกครองไม่ได้ เป็นหลักประกันว่าการดำเนินการของ ส.ส.ร.จะอยู่ในกรอบที่รัฐธรรมนูญระบุไว้และเป็นไปตามความเห็นของประชาชน

นายอัชพรกล่าวว่า 4. ประชามติที่เปิดให้ประชาชนทั้งประเทศให้ความเห็นชอบ ฉะนั้นทุกขั้นตอน คณะรัฐมนตรีไม่มีโอกาสแทรกแซงตามที่กล่าวอ้างกันได้เลย เจตจำนงของรัฐธรรมนูญคือต้องการคืนอำนาจให้ประชาขนมีโอกาสกำหนดหลักเกณฑ์ปกครองประเทศขึ้นมาเองภายใต้ภาวะประชาธิปไตย ทุกขั้นตอนประชาชนจะเข้ามาดูแลกันเองทั้งสิ้น ส่วนการที่อ้างว่าการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดมาตรา 291 นั้น ขอเรียนว่ามาตรานี้เปิดให้มีกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยการพิจารณาของรัฐสภา การเสนอแก้ไขครั้งนี้เป็นการกระทำตามมาตรานี้ที่ผ่านกระบวนการต่างๆ ทุกอย่าง แต่การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็นการแก้ไขเพิ่มบทบัญญัติขึ้นมาอีกหมวดหนึ่งเข้ามา หมายความว่าหากร่างรัฐธรรมนูญผ่าน บทบัญญัติเหล่านี้จะบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับบทบัญญัติอื่นๆ

“ปกติแล้วรัฐธรรมนูญไม่อาจขัดแย้งกันเองได้ เมื่อเข้ามาเป็นบทบัญญัติหนึ่งแล้วจะมีผลบังคับใช้เช่นเดียวกัน สิ่งที่กล่าวอ้างกันนั้น คณะรัฐมนตรีจึงชี้แจงต่อศาลและสังคมว่าการดำเนินการของรัฐบาลกระทำภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทุกประการ ไม่ได้มีข้อขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนการลงมติเมื่อใดอยู่ในอำนาจรัฐสภา คณะรัฐมนตรีไม่มีอำนาจก้าวล่วงได้” นายอัชพรกล่าว

นายอัชพรกล่าวเพิ่มเติมกับสื่อมวลชนว่า หนังสือที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ จะยืนยันชี้แจงข้อเท็จจริงว่า มาตรา 68 จะนำมาใช้อ้างว่าระงับการแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติให้แก้ไขได้ในตัวเอง คือ มาตรา 291 ส่วนเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญในการแก้ไขนั้นไม่มีการแตะต้องบทบัญญัติใดๆ เลย โดยเฉพาะข้ออ้างว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะล้มล้างการปกครองฯ หรือเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นรูปแบบอื่น คณะรัฐมนตรียืนยันว่าไม่มีการดำเนินการตามข้ออ้างเพราะการแก้รัฐธรรมนูญมีเพียงแต่งตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมา และระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญแล้วว่าจะล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของประเทศไม่ได้ ยืนยันว่าคณะรัฐมนตรีไม่แทรกแซงการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะสุดท้ายต้องมีการรับฟังความเห็นประชาชนและต้องลงประชามติ

“ส่วนการหารือเรื่องนี้ในห้องประชุมคณะรัฐมนตรีนั้น คณะรัฐมนตรีอภิปรายกว้างขวาง ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนให้เดินหน้า แต่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯระบุว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นถูกต้องตามกฎหมาย แต่เห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญในช่วงนี้ไม่เหมาะสม เพราะเรื่องนี้มีความเห็นขัดแย้งรุนแรงมาก ควรมานั่งคุยเพื่อทำความเข้าใจกันทุกฝ่ายก่อนดีกว่า รอเหตุการณ์สงบแล้วค่อยนำเสนอขึ้นมาใหม่” นายอัชพรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น