xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ชี้หากสภาไม่ฟังศาลดื้อแพ่งลงมติ รธน.วาระ 3 อาจกระทบอำนาจประมุขแห่งรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา
ASTVผู้จัดการ - “คำนูณ สิทธิสมาน” ส.ว.สรรหาชี้ประเด็นละเอียดอ่อนระบุ หากประธานสภาดื้อนัดลงมติรัฐธรรมนูญวาระ 3 โดยไม่ฟังศาล รธน.นัดไต่สวนและมีมติกรณีมาตรา 68 ก่อนอาจกระทบอำนาจประมุขแห่งรัฐที่นายกฯ ต้องนำเรื่องกราบบังคมทูลตามขั้นตอน ชี้อนาคตสถานการณ์ความขัดแย้งบ้านเมืองขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ “สมศักดิ์” คนเดียว



ช่วงบ่ายวันนี้ (8 มิ.ย.) ที่รัฐสภา ในการประชุมรัฐสภา โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งประธานได้แจ้งต่อที่ประชุมในการรับทราบคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญตามคำร้องมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องแล้ว รวมทั้งมีคำสั่งให้รอการดำเนินการที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหาได้ลุกขึ้นอภิปรายถึงกรณีดังกล่าวโดยระบุว่า ตนตระหนักดีถึงอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจของรัฐสภานั้นเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีข้อถกเถียงว่าประธานรัฐสภาและสภาจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ตนพบว่าในประเด็นเรื่องคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญสมาชิกรัฐสภาค่อนข้างจะเห็นตรงกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีคำสั่งโดยตรงต่อรัฐสภา ประธานรัฐสภา หรือสมาชิกรัฐสภา แต่จากเอกสารระบุชัดว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งมายังเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอ้างตามอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 วรรคหนึ่ง

“มาตรา 213 ในการปฏิบัติหน้าที่ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ ตลอดจนขอให้พนักงานสอบสวน หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาได้ ... ถ้าผมเข้าใจไม่ผิดสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรก็เป็นหน่วยราชการหรือเป็นหน่วยงานของรัฐประเภทหนึ่ง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารข้าราชการฝ่ายรัฐสภา และการสั่งมายังเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรของประธานศาลรัฐธรรมนูญก็เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา” นายคำนูณกล่าว

นายคำนูณกล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้ประกอบกับคำแถลงของศาลรัฐธรรมนูญ ตนจึงเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้สั่งประธานรัฐสภา แต่เมื่อเลขาธิการรัฐสภานำเรื่องขึ้นเรียนประธานรัฐสภาแล้วก็ขึ้นอยู่กับอำนาจในการวินิจฉัย และดุลยพินิจของประธานรัฐสภาว่าจะดำเนินการอย่างไรหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ตนจึงเชื่อว่าทางศาลรัฐธรรมนูญมีความระมัดระวังอยู่แล้วมิให้อำนาจตุลาการก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัติ

“ผมเห็นว่าในประเด็นนี้ไม่ใช่คำวินิจฉัยตามมาตรา 216 วรรคห้า เพราะว่าศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัยในกรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเพียงแต่รับเรื่องที่มีผู้มาร้อง 5 สำนวนไว้พิจารณา และนัดวันไต่สวนในวันที่ 5-6 กรกฎาคม และมีหนังสือให้ผู้ที่ถูกร้องมาชี้แจงภายใน 15 วัน ซึ่งก็คงจะตกในวันที่ 15 หรือ 16 มิถุนายน” นายคำนูณระบุ และว่า จึงไม่เป็นประเด็นที่จะต้องถกเถียงกันต่อไปว่าศาลรัฐธรรมนูญมาสั่งรัฐสภา ซึ่งถ้าประธานรัฐสภาตรึกตรองดูแล้ว เห็นว่าหนังสือดังกล่าวไม่เป็นสาระ จะเดินหน้านัดสมาชิกเพื่อลงมติรัฐธรรมนูญวาระ 3 ในสัปดาห์หน้าเลยก็ได้

ชี้ปัญหาบทบาทของ “อัยการสูงสุด”

ส่วนกรณีที่มีผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 นั้น นายคำนูณให้ความเห็นว่า แม้ตนจะไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ แต่ตนก็เกิดข้อสงสัยเช่นกันว่าการแก้ไขดังกล่าวขัดต่อมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่ โดยมาตรา 68 ระบุว่า “บุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้หรือให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้

“ในกรณีที่บุคคล หรือพรรคการเมืองใด กระทําการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทําดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคําร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือน การดําเนินคดีอาญาต่อผู้กระทําดังกล่าว”


โดยในประเด็นนี้ นายคำนูณกล่าวอภิปรายต่อว่า “เมื่ออัยการสูงสุดรับเรื่องมาจากผู้ที่เขาทราบการกระทำดังกล่าวแล้วเนี่ย อัยการสูงสุดที่รัฐธรรมนูญ 68 วรรคสองเขียนว่า ตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคําร้องให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าว อัยการสูงสุดจะต้องทำแค่ไหนอย่างไร หนึ่ง ตรวจสอบรวบรวมข้อเท็จจริงทั้งหมด แล้วก็ทำความเห็น รวมทั้งอาจจะเป็นความเห็นของอัยการสูงสุดเอง แล้วยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยขั้นสุดท้าย หรือว่า อัยการสูงสุดทำหน้าที่ตรวจสอบทั้งหมดแล้วก็วินิจฉัยเสียเองว่า หากการกระทำดังล่าวนั้นไม่มีมูล ก็ไม่ต้องยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ อันนี้ก็เป็นมุมมองทางกฎหมายที่แตกต่างกันในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสองเพิ่มเติมต่อไป”

นายคำนูณกล่าวต่อว่า ขณะที่คนกลุ่มหนึ่งกำลังดำเนินการถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 7 ท่าน เพราะมองว่าตุลาการฯ ละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสอง แต่ก็มีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่มองเห็นต่างว่า อัยการสูงสุดก็ละเมิดมาตรา 68 วรรคสองด้วยการทำตัวเป็นศาลเสียเอง คนกลุ่มหลังก็กำลังดำเนินการถอดถอนอัยการสูงสุดตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญมาตรา 270-275 ต่อไปเช่นกัน

ส.ว.สรรหากล่าวด้วยว่า ปัญหาความขัดแย้งของมุมมองเรื่องมาตรา 68 ดังกล่าว ตนจึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความกระจ่างด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ในอดีตในหลายๆ กรณีศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยที่เกินความคาดหมายของตนเช่นกันเช่นในกรณี วินิจฉัยว่า พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟู ว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ โดยตอนนั้นสมาชิกรัฐสภาหลายคนก็ชื่นชมศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่ตนแม้จะไม่เห็นด้วยแต่ก็น้อมรับคำวินิจฉัยดังกล่าว

นอกจากนี้ยังมีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ขัดแย้งกันอีกมากมาย เช่น เจตนารมณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 มาตราเดียว เพื่อทำให้เกิดการล้มเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ทั้งฉบับ จนได้ชื่อว่าเป็น “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมาตุฆาต” หรือลูกฆ่าแม่, ประเด็นเกี่ยวกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็นต้น

“ผมไม่แน่ใจจริงๆ ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีคำสั่งที่เรากำลังอภิปรายกันอยู่นี้ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน เมื่อวันศุกร์ที่แล้วเนี่ย อัยการสูงสุดท่านจะสรุปสำนวนทั้ง 5 สำนวนได้เมื่อคืนนี้หรือไม่ หรือจะต้องรอให้มันผ่านไปเสียก่อน อย่าลืมนะครับท่านประธานกำหนดวันลงมติรัฐธรรมนูญวาระ 3 แต่เดิม ก่อนจะมีคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ 1 มิถุนายน มันคือวันอังคารที่ 5 มิถุนายน ที่ผ่านมา แล้วถ้าอัยการสูงสุดท่านมาสรุปเอาวันที่ 7 มิถุนายน แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นกับมาตรา 68 ครับ ... มาตรา 68 เพื่อสมาชิกหลายท่านว่าเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้ความผิดดังกล่าวเกิดขึ้น ให้มีการตรวจสอบเสียก่อน มันก็ไม่มีความหมายสิครับ เพราะรัฐสภาลงมติไปแล้ว อันนี้ก็เป็นประเด็นปัญหาที่ทางอัยการสูงสุดก็จะต้องตอบต่อสังคม” นายคำนูณตั้งคำถาม

ระบุถ้าไม่ฟังศาล อาจระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท

นายคำนูณกล่าวย้ำว่า ความรับผิดชอบทั้งหลายอยู่กับนายสมศักดิ์ ประธานรัฐสภา และชี้ให้เห็นว่าหากมีการลงมติรัฐธรรมนูญในวาระ 3 เสร็จสิ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ ตามมาตรา 291 วรรคท้าย ก็จะต้องดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 150 และ 151 อันเป็นขั้นตอนของประมุขแห่งรัฐ

“กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อลงมติวาระ 3 เสร็จ นายกรัฐมนตรี อันนี้นอกเหนือจากอำนาจนิติบัญญัติแล้วนะครับ ประมุขของอำนาจบริหารจะต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลภายใน 20 วัน การนำความขึ้นกราบบังคมทูลภายใน 20 วัน มองด้านหนึ่งก็ถือว่าเป็นขั้นตอนสุดท้าย ของประมุขแห่งรัฐ แต่บังเอิญประมุขแห่งรัฐของไทยก็คือพระมหากษัตริย์ ก็จะมีความละเอียดอ่อนที่มากขึ้นเป็นลำดับ ผ่าน 150 เสร็จแล้ว นายกรัฐมนตรีไม่นำขึ้นก็ไม่ได้ เพราะว่ามีเงื่อนไขตาม 291 วรรคท้าย ประกอบ 150 ว่าให้ทำภายใน 20 วัน และเมื่อขึ้นไปถึงประมุขของรัฐแล้วจะเกิดอะไรขึ้น?” นายคำนูณถาม และกล่าวต่อว่า เมื่อเรื่องต้องเข้าสู่กระบวนการกราบบังคมทูล แต่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนกรณีขัดแย้ง แล้วจะให้ประมุขแห่งรัฐตัดสินใจอย่างไร?

ในตอนท้าย นายคำนูณกล่าวสรุปว่า สิ่งที่สมาชิกรัฐสภาต้องตระหนักว่า ถ้ามีการลงมติรัฐธรรมนูญวาระ 3 ภายในสัปดาห์หน้า จะก่อให้เกิดปัญหาและความขัดแย้งขยายวงมากขึ้นหรือไม่ และพวกเรามีใครต้องการให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าวหรือไม่ ส่วนทางออกนั้นตนเห็นว่าอยู่ที่การตัดสินใจของประธานรัฐสภาว่าจะกำหนดนัดวันลงมติรัฐธรรมนูญวาระ 3 เมื่อไหร่ ซึ่งไม่ใช่ว่าการรอดังกล่าวจะหมายถึงการเชื่อฟังคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่หมายความถึง ทัศนะของประธานรัฐสภาต่ออนาคตของบ้านเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น