xs
xsm
sm
md
lg

อดีตอธิการ มธ.ย้ำ รธน.50 มาจากประชามติ ต้องถาม ปชช.ก่อนแก้-รัฐสภาอ้างเป็นตัวแทนแก้เองไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อดีตอธิการบดี มธ.ชี้ รธน.50 มาจากการลงประชามติ ส.ส.-ส.ว.อ้างเป็นตัวแทน ปชช.หรือโอนอำนาจไปให้ ส.ส.ร.แก้ไขไม่ได้ ต้องเอากลับไปถามประชาชนเท่านั้น ย้ำศาล รธน.มีอำนาจรับคำร้อง แนะสภาชะลอการลงมติ พร้อมชี้ พ.ร.บ.ปรองดองขัดหลักแบ่งแยกอำนาจ ทั้งยังเป็นกฎหมายการเงิน จี้ประธานสภาฯ รับผิดชอบกรณีวินิจฉัยผิด



วันนี้ (8 มิ.ย.) นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แถลงว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการรับคำร้องว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่รัฐสภากำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และมีอำนาจในการออกคำสั่งชะลอการลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ศาลเพียงแต่รับเรื่องไว้พิจารณาเท่านั้น ยังไม่มีการตัดสินว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ คำสั่งศาลยังไม่ใช่คำวินิจฉัยจึงไม่มีผลผูกพันรัฐสภา ซึ่งรัฐสภามีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปหรือไม่ แต่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาจะต้องแสดงความรับผิดชอบหากการเดินหน้าโดยไม่ฟังคำสั่งศาลจะนำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคต

นายสุรพลกล่าวต่อว่า โดยความเห็นส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้ควรชะลอออกไปก่อนจนกว่าจะมีข้อยุติทางใดทางหนึ่ง เนื่องจากยังความขัดแย้งด้านข้อกฎหมายอยู่ สุดท้ายแล้วหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาและมีผู้ไม่เห็นด้วยก็มีกระบวนการตรวจสอบและยื่นถอดถอนได้

นายสุรพลกล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญ 2550 มาจากการการลงประชามติของประชาชนทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นถ้ายึดหลักว่าอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญมาจากใคร อำนาจในการแก้ไขก็ควรจะมาจากตรงนั้น เพราะฉะนั้นสภาจะมีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการเอาไปถามประชาชนว่าจะรับหรือไม่รับ เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ก็ควรต้องกลับไปถามประชาชนก่อนว่าจะแก้หรือไม่ จะแก้อย่างไร แก้ตรงไหน รัฐสภา ไม่ว่า ส.ส.หรือ ส.ว.จะมาอ้างความเป็นตัวแทนประชาชนมาแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ และขณะนี้ทั้งสองสภายังมีมติให้สภาที่ 3 คือ ส.ส.ร.มาแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก

อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังกล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ว่ามีเนื้อหาเป็นการลบล้างผลของการกระทำรวมถึงความผิดที่ได้พิพากษาไปแล้ว ซึ่งการยกคำพิพากษาเฉพาะบางกรณีอาจขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ไม่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติมาก้าวล่วงฝ่ายตุลาการตามหลักแบ่งแยกอำนาจ อีกทั้งยังมีความชัดเจนว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยการเงิน แม้ก่อนหน้านี้จะมีข้อสรุปจากการหารือของประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการ 35 คณะว่าไม่เกี่ยวข้อง แต่ควรยุติการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองออกไปก่อน และประธานสภาฯ ต้องแสดงความรับผิดชอบที่มีวินิจฉัยออกมาเช่นนั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น