อมรรัตน์ ล้อถิรธร.....รายงาน
หลัง ส.ส.เพื่อไทยและ “พล.อ.สนธิ” พยายามดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ที่มีผลลบล้างคำพิพากษาและเอื้อประโยชน์ต่อ “ทักษิณ” ให้ผ่านสภา จนทำบ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวายทั้งนอกและในสภามาแล้ว คราวนี้ ทักษิณ-ส.ส.เพื่อไทย-เสื้อแดง-กลุ่มนิติราษฎร์ ยังพยายามโค่นอำนาจของ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ลงด้วย หลังศาลมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการโหวตร่างแก้ไข รธน.ในวาระ 3 ไว้ก่อน งานนี้ ต้องจับตา รัฐสภาจะกล้าท้าทายศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่? และสภาฯ ยังจะกล้าเดินหน้า กม.ปรองดองอีกหรือไม่?
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
พลันที่องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 รับคำร้องที่หลายกลุ่มบุคคลเสนอให้ศาลฯ วินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่รัฐสภาเตรียมโหวตในวาระ 3 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะส่อว่าเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคพวกตัวเอง มิใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงบางมาตราตามที่ควรจะเป็น พร้อมกันนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้แจ้งให้ทางรัฐสภาทราบ เพื่อชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ที่กำหนดมีขึ้นในวันที่ 5 มิ.ย.ไว้ก่อน และให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ครม. ,รัฐสภา ,พรรคเพื่อไทย ,พรรคชาติไทยพัฒนา ,นายสุนัย จุลพงศธร และคณะ ,นายภราดร ปริศนานันทกุล และคณะ ส่งหนังสือชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน
ปรากฏว่า แทนที่รัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยจะเคารพและปฏิบัติตามมติของศาลรัฐธรรมนูญ กลับออกมาสร้างกระแสดิสเครดิตและโจมตีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นการใหญ่ สังเกตได้จากนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย นอกจากกล่าวหาว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่มีสิทธิรับคำร้องเรื่องแก้รัฐธรรมนูญไว้วินิจฉัยแล้ว ยังขู่ด้วยว่า การกระทำของตุลาการฯ อาจเข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และอาจถูกยื่นถอดถอนด้วย
จากนั้นกลุ่มเสื้อแดงและแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ก็รีบออกมารับลูก โดยตั้งโต๊ะล่ารายชื่อเพื่อยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากที่หน้ารัฐสภา พร้อมเตรียมยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภาให้เดินหน้าโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ในการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 8 มิ.ย.นี้ด้วย นี่ยังไม่รวมกรณีที่กลุ่มเสื้อแดงได้ยกโขยงกันไปประท้วงหน้าศาลรัฐธรรมนูญเพื่อจี้ให้ตุลาการทบทวนมติ ขณะที่กลุ่มนิติราษฎร์ ที่เคลื่อนไหวสอดรับกับกลุ่มเสื้อแดง ก็ไม่น้อยหน้า รีบออกมาชี้ว่าคำสั่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขัดต่อกฎหมาย หากรัฐสภายอมรับในคำสั่งของศาล ก็จะส่งผลให้ศาลขยายแดนอำนาจของตนออกไป กลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตามนักกฎหมายหลายคน รวมทั้งผู้คร่ำหวอดด้านกฎหมายอย่างนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 ยืนยันว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 216 ระบุไว้ชัดว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาด และมีผลผูกพันทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ
สำหรับรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่พรรคเพื่อไทย-กลุ่มเสื้อแดงและกลุ่มนิติราษฎร์ อ้างว่า ประชาชนไม่สามารถยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้ ต้องให้อัยการสูงสุดเท่านั้นเป็นผู้ยื่น ระบุว่า “บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้ ขณะที่วรรค 2 ระบุว่า “ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ที่ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว...” ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พรรคการเมืองใดเลิกการกระทำ ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคดังกล่าวได้ รวมทั้งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบนั้นเป็นเวลา 5 ปี
ด้วยเหตุนี้กระมัง ส.ส.พรรคเพื่อไทยและกลุ่มเสื้อแดงจึงก้นร้อนนั่งไม่ติด ขนาดนายใหญ่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีซื้อที่รัชดาฯ ยังออกมาฟาดงวงฟาดงาใส่ศาลรัฐธรรมนูญ หาว่าศาลฯ กำลังปล้นอำนาจ พร้อมปลุกให้คนเสื้อแดงออกมาต่อต้านศาลรัฐธรรมนูญด้วย “ขบวนการปล้นอำนาจกำลังเริ่มต้นอีกครั้งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ชะลอไว้ไม่ให้โหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ... ต้องบอกประชาชนว่าจะปล่อยให้กระบวนการปล้นอำนาจเกิดขึ้นอีกหรือ ตกลงจะยอมรับอำนาจที่ไม่มีอำนาจหรือไม่”
ฟังความเคลื่อนไหวของฝ่ายเพื่อไทยและเสื้อแดงมามากแล้ว ลองไปฟังมุมมองของฝ่ายอื่นดูบ้าง ทั้งในแง่การเร่งแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาลและการพยายามออก พ.ร.บ.ปรองดองฯ นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา ยืนยันว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องเรื่องแก้รัฐธรรมนูญไว้วินิจฉัยตามมาตรา 68 โดยเป็นไปตามหลักดุลอำนาจ เพื่อป้องกันวิกฤตที่จะเกิดขึ้น
“หลักดุลอำนาจ มี 2 แบบ แบบหนึ่งคือ กระบวนการแต่ละฝ่ายเสร็จสิ้นแล้ว คือใช้ดุลอำนาจที่ตัวเองมีอยู่ไปแก้ปัญหาตรงนั้น แต่อีกหลักหนึ่ง คือดุลอำนาจก่อนที่กระบวนการจะเสร็จสิ้น เช่น เป็นกระบวนการป้องปรามไม่ให้ไปถึงจุดที่จะวิกฤตขึ้นมา ซึ่งมาตรา 68 เป็นกระบวนการป้องปรามไม่ให้ไปสู่ตรงนั้น (ถาม-ทางเพื่อไทยบอกว่า มาตรา 68 ไม่ได้ให้คนทั่วไปยื่นต่อศาลโดยตรงได้ จะขัดมาตรา 68 มั้ย?) ไม่ใช่หรอก 68 เขาบอกว่า บุคคลที่รู้ ให้ไปดำเนินการ คือไปยื่นคำร้องกล่าวโทษไปที่อัยการ และเขาใช้คำว่าและให้ฟ้องที่ศาลรัฐธรรมนูญด้วย ทีนี้มันก็มีประเด็น ประเด็นที่ 1 ก็คือ อัยการเท่านั้นที่เป็นผู้ฟ้องใช่มั้ย คงไม่ใช่ เพราะจริงๆ แล้วมันมีมาตรา 212 อยู่ เป็นเรื่องการที่ประชาชนถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ ก็สามารถใช้สิทธิฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง แต่กระบวนการก็หมายความว่า ก่อนที่จะมาศาลโดยตรง คุณต้องใช้ช่องทางอื่นมาก่อน แล้วมันไปไม่ได้ ก็คือ จะมาที่ศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 ได้”
ขณะที่นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ก็มองกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งชะลอการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ว่า เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ใครก็ไม่มีอำนาจไปก้าวล่วง นายวิชา ยังแสดงความเป็นห่วงร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ที่มีความพยายามผลักดันเข้าพิจารณาในสภาฯ ด้วย เพราะมีการแทรกแซงอำนาจตุลาการ ล้มล้างคำพิพากษาของศาล
“ปกติเขาไม่แตะหรอก อำนาจตุลาการน่ะ ที่เขาวินิจฉัย ท่านดำเนินการไปแล้วเนี่ย จบก็คือจบ ...(ถาม-ในต่างประเทศจะไม่เคยมีเลยใช่มั้ยที่ไปกระทบต่อคำพิพากษาที่ตัดสินแล้ว) คำพิพากษาเนี่ย เขาก็อาจจะดำเนินการ อย่างการนิรโทษกรรม การอภัยโทษ หรือการล้างมลทิน พูดง่ายๆ ว่า ยอมรับว่ามีโทษอยู่ แต่จะนิรโทษคือไม่ให้มีโทษนั้นอีกต่อไป หรืออภัยโทษ คือรับโทษบางส่วน และไม่มีโทษอีกต่อไป หรือล้างมลทินโทษ คือโทษเดิมก็จะหมดไป แต่จะไม่กล่าวถึงการวินิจฉัยของศาลอะไรทั้งนั้น คือศาลวินิจฉัยแล้วก็จบกัน เป็นไปตามนั้น…
“(ถาม-แล้วเรื่องเงิน 4.6 หมื่นล้าน(คดียึดทรัพย์) ที่คุณทักษิณบอกว่าตัวเองถูกปล้นไป?) ถึงได้บอกว่ามีการต่อสู้คดีแล้วไง มันมีการต่อสู้คดีตามทางการแล้ว ศาลท่านก็วินิจฉัยแล้ว ที่ผมกังวลอยู่ก็คือตรงนี้แหละ (ถาม-แสดงว่า อ.คิดว่า ถ้า พ.ร.บ.ตัวนี้ เนื้อหาแบบนี้ออกมา เงินจำนวนนี้ก็ต้องคืน(ทักษิณ)ใช่มั้ย?) แน่นอน ถ้าเขาเขียนแบบนี้ เขียนต้องการให้คืนนั่นแหละ มันไม่ใช่ประเด็นอื่นแล้ว ประเด็นนี้ล่ะ ท่านก็พูดอย่างนี้แหละ เงินของผม ผมจะเอาคืน”
ด้านนายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) ชี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องของประชาชนไว้วินิจฉัยตามมาตรา 68 ขณะที่ประชาชนก็มีอำนาจในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เมื่อเห็นว่าใครกำลังสร้างกระบวนการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ก็มีสิทธิต่อต้าน ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญคงเห็นว่า คำร้องมีเหตุผลน่าสนใจ จึงรับไว้พิจารณา ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะต้องชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าได้กระทำการตามคำร้องหรือไม่ หากมีหลักฐานรับฟังได้ว่าไม่ได้มีแผนการดังกล่าว ศาลฯ ก็ยกคำร้อง แต่ถ้าผู้เกี่ยวข้องบอกว่าไม่มี แล้วภายหลังมีการกระทำตามคำร้องโผล่ออกมา ศาลก็มีอำนาจที่จะยับยั้งอีกครั้งหนึ่ง นายแก้วสรร ยังบอกด้วยว่า ส่วนตัวแล้วมองว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีความลับๆ ล่อๆ และไม่ได้ตอบความต้องการของสังคม
“ลักษณะสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ครั้งนี้ มันไม่เหมือนกับปี’40 ปี’40 มันเกิดขึ้นเพื่อจะตอบความต้องการของสังคม ซึ่งมันชัดเจนว่าต้องการปฏิรูปการเมือง แล้วโจทย์ก็ชัดเจนว่าทำอย่างไรจะให้ฝ่ายบริหารไม่ล้มลุกคลุกคลาน เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ Blank Cheque(เช็คเปล่าที่ไม่ได้ระบุจำนวนเงิน) ที่ส่งไปให้ ส.ส.ร.นั่นข้อที่ 1 ข้อที่ 2 รัฐสภาในสมัย 2540 ซึ่งเขาเป็นผู้มีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขารับผิดชอบอยู่ เขาไม่ได้ทิ้งความรับผิดชอบ เขาใช้วิธีให้คนสมัครเป็น ส.ส.ร.แล้วเขาก็เลือก แล้วพอร่างเสร็จ เขาก็เป็นคนให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ถึงจะไปถึงในหลวง แต่พวกคุณไม่ได้ใช้วิธีนี้”
“คุณจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อตอบโจทย์อะไร ก็ไม่มีใครรู้ ไม่มีกระแส ไม่มีความต้องการอะไรในสังคม พวกคุณก็ไม่พูดอะไร แล้วคุณก็ใช้วิธีเลือกตั้ง ส.ส.ร. แทนที่จะสรรหามาจากไหน คุณก็ไม่เกี่ยว ร่างอะไรมา คุณก็ไม่รับผิดชอบ ส่งให้ประชามติ แล้วก็ไปในหลวง คำถามมันก็น่าจะถามอย่างที่ศาลถามน่ะ คุณทำอย่างนี้ ฝ่ายคัดค้านฝ่ายผู้ร้องเขาถึงเห็น บอก เฮ้ย! มันจะล้มล้างรัฐธรรมนูญหรือเปล่า มีเจตนาอะไรแฝงอยู่ เขาก็มีสิทธิจะร้อง และศาลก็มีสิทธิจะเรียกมาถาม เหตุทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็เป็นเพราะคุณไม่มีเหตุผลชัดเจนในกระบวนการที่คุณทำ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องจุดผิดพลาด มันเป็นเรื่องความลับๆ ล่อๆ ซึ่งไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น”
นายแก้วสรร ยังพูดถึงความพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ของรัฐบาลและ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิและอดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ด้วยว่า ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า พล.อ.สนธิกลืนน้ำลายได้อย่างไร คนมีศักดิ์ศรีเขาไม่ทำกันแบบนี้!!
เมื่อถามว่า เกรงว่าบ้านเมืองจะวุ่นวายด้วยเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดองฯ หรือไม่? นายแก้วสรร บอกว่า มันวุ่นอยู่แล้ว เพราะขณะนี้การปกครองอยู่ในระบบชั่วคราวที่ พ.ต.ท.ทักษิณพยายามสร้างไว้ เพื่อเปิดทางให้ตัวเองเข้ามาสวม โดยเอาลูกน้องและน้องสาวมาสร้างอำนาจ จนเกิดเป็นรัฐบาล แต่ทำงานไม่ได้ แล้ววันนี้ยังจะมาแทรกแซง เอากฎหมายมาตอบสนองตัวเองอีก บ้านเมืองจึงได้จมอยู่กับความขัดแย้งและความไม่สงบแบบนี้ ซึ่งประเด็นอยู่ที่ว่า บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร อยู่ที่คนชื่อ “ทักษิณ” จะเลือกให้เป็นอย่างนั้นหรือ? ไม่เข้าใจว่าประชาชนทนกันได้อย่างไร?