xs
xsm
sm
md
lg

“เหลิม” ชี้นำ อสส.ให้ฟันธงผู้ที่ยื่นเรื่องให้ศาล รธน.ตาม ม.68 ต้อง อสส.เท่านั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง
รองนายกฯ เหลิมปากดีชี้นำ อสส.แถลง 7 มิ.ย.ต้องฟันธงให้ผู้ที่ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามมาตรา 68 ต้องเป็นอัยการสูงสุดเท่านั้น เหิมแขวะศาลอย่าตุลาการภิวัฒน์บ่อยนัก อัด 9 ตุลาการไม่ใช่เจ้าของประเทศ ยันไม่แตะหมวดพระมหากษัตริย์ กล่อมประชาชนช่วยกันปกป้องรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ส่อธาตุแท้แก้ รธน.อาจถึงขั้นยุบศาลปกครอง-ศาล รธน. โวยตรวจสอบไม่ได้


วันนี้ (6 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า โดยหลักการแล้วที่ศาลรัฐธรรมนูญทำอย่างนี้สังคมรับไม่ได้ เพราะพรรคเพื่อไทยปราศรัยตลอดหากชนะเลือกตั้งเราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มันเป็นนโยบาย ทั้งแก้รัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ปรองดอง แล้วจู่ๆ จะมาล้มล้างการปกครองได้อย่างไร เขาเขียนชัด ถ้าคุณแปลความเข้าข้างว่ามีเหตุตามมาตรา 68 วรรคแรก จากนั้นต้องมาทำตามวรรค 2 คือ ให้อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นคนยื่นเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ร้องทั้งหมดต้องมา อสส.

“วันที่ 7 มิ.ย. อสส.จะประชุม ผมยังหวังว่า อสส.จะเป็นที่พึ่งของสังคมได้ อสส.ไม่ต้องไปคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญผิดหรือถูก ต้องฟันธงว่าผู้ที่ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามมาตรา 68 ต้องเป็นอัยการสูงสุดเท่านั้น บ้านเมืองจะดีขึ้น บางคนไปไกล เอากฎหมายแพ่งมาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นคนละเรื่อง แล้วมาบอกว่าต้องคานอำนาจรัฐสภา รัฐสภาโลกไหนที่มีการคานอำนาจ พูดจาอะไรต้องมีความรับผิดชอบ เพื่อไทยต้องทำหน้าที่ต่อไปส่วนพรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าลงมติวาระ 3 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภา ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลแล้ว มันเลยแล้วหลังจากที่รัฐบาลเสนอและสภารับหลักการวาระแรก” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว

เมื่อถามว่ามีความหวังกับการพิจารณาของอสส.มากน้อยแค่ไหน ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ถ้าเป็นนักกฎหมายคิดอย่างอื่นไม่ได้ ต้อง อสส.เท่านั้นที่ยื่นเรื่องเสนอ ถ้าคนเป็นนักกฎหมายเพียวๆ มีจิตวิญญาณ เรียนกฎหมายกันมา เป็นอื่นไม่ได้ ถามนิดนึงว่าศาลรัฐธรรมนูญมาทำให้เกิดความโต้แย้งทำไม ต้องให้ผู้ร้องไปยื่นอัยการสูงสุด หากเห็นว่าเข้าเกณฑ์มาตรา 68 วรรคแรก ดำเนินการตามวรรค 2 ศาลรัฐธรรมนูญทำตามวรรค 3 ยุบพรรค สี่เพิกถอนสิทธิ

เมื่อซักว่าโฆษก อสส.ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญทำได้ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ต้องอ่านให้ละเอียด เพราะ อสส.ยังไม่พิจารณาเนื้อหา ขณะนี้เขาขอรายละเอียดที่สภาอยู่ แล้วเขาคงไม่พูดใครผิดใครถูก เขาคงพูดว่าถ้ายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญต้องอสส.นักกฎหมายต้องทำอย่างนั้น และตนหวังว่าจะเป็นอย่างนั้น และคงไม่นำเรื่องนี้หารือกับนายกฯ เพราะไม่เกี่ยวมันเป็นเรื่องรัฐสภาแล้ว ส่วนขั้นตอนจะใช้เวลาอีกนานหรือไม่นั้นถ้าพูดผ่านสื่อผ่านได้ ว่าประธานรัฐสภาลองหยิบประเด็นนี้มาหารือในรัฐสภา แล้วสมาชิกจะว่าอย่างไร จะทำให้ประชาชนเข้าใจ ซึ่งประชาชนเข้าใจตนคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะถอย

เมื่อถามว่ามีความกังวลว่าหากเดินหน้าไปปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญขึ้นคนที่ลงมติอาจมีปัญหาได้ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า มันทำไม่ง่ายอย่างที่คิด บ้านเมืองนี้ศักดิ์สิทธิ์ ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ ใครที่คิดไม่ดีไม่งามมันไม่ง่ายแบบพลิกฝ่ามือ คุณมีกัน 9 คน ก็ยัง 7 ต่อ 1 อีก 1 คนลาไป แล้วคุณยังจะรุ่มร่าม ทำอะไรมันต้องเกรงใจเจ้าของประเทศ คือประชาชน 67 ล้านคน

“งานนี้ไม่สำเร็จหรอก อย่ามาตุลาการภิวัฒน์บ่อยนักเลย ผมต่อสู้มาตั้งแต่เป็น รมว.ยุติธรรม ผมไม่เห็นด้วยระบบศาลคู่ ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง เพราะควบคุมตรวจสอบไม่ได้ ตรวจสอบไม่ได้ มันไม่ยุติธรรม แต่ถ้าเป็นศาลยุติธรรมสามารถร้องเรียน ขอเปลี่ยนตัวองค์คณะได้ อย่างนี้พึ่งได้ ตอนยกร่างมาตรา 68 เจตนารมณ์ก็ชัดว่าต้องให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นและเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญก็เขียนชัดให้อัยการสูงสุดยื่น แล้ววันนี้ไปทำอะไรมาถึงทำอย่างนี้ ซึ่งกฎหมายนี้เปิดไว้สำหรับผู้ยื่นเพียงช่องทางเดียว เพราะใช้คำว่า 'และ' หาก 2 ช่องทางต้องใช้ 'หรือ'” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว

เมื่อถามว่าส่วนตัวสนับสนุนให้มีการโหวตวาระ 3 เลยหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า รัฐธรรนูญเขียนไว้อย่างนั้นให้พ้นแล้ว 15 วัน แต่จะไปชี้แนะประธานรัฐสภาไม่ได้ แต่ถ้าเปิดปรึกษาว่าคำสั่งนี้ชอบหรือไม่ ตนได้ขอเวลาเขาไว้ 1 ชั่วโมง มันไม่ใช่คำวินิจฉัยหรือพิพากษาถึงจะผูกพันทุกองค์กรและหน่วยงาน แต่เป็นคำสั่ง และจะสั่งได้อย่างไรในเมื่อ อสส.ยังไม่ได้ยื่นเรื่องให้ ซึ่งคำสั่งนี้สภามีสิทธิไม่เชื่อได้ มันไม่ผูกพัน ยังไม่มีการพิจารณารายละเอียดเป็นอย่างไร แต่ทีบางพรรคยกข้อกฎหมายหน้าตาเฉย มันไม่ใช่สองมาตรฐานเลย มาตรฐานเดียว

เมื่อถามว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจเป็นกังวลว่าการจะล้มศาลรัฐธรรมนูญหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า คิดอะไรอยู่ จะไปล้มล้างอย่างไร สภาไม่เกี่ยว อยู่ที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งใครเป็นก็ยังไม่รู้ ยกร่างอย่างไรก็ไม่ทราบ และขั้นตอนสุดท้ายต้องมาทำประชามติถามประชาชนทั้งประเทศ ถ้าพูดอย่างนั้นแปลว่าดูถูกประชาชน ถ้าทำอะไรผิดฝาผิดตัวประชาชนเขาไม่เอาด้วย รัฐธรรมนูญก็ไม่ผ่าน จะกังวลอะไรมากมาย 9 คน เจ้าของประเทศเหรอ อย่าวิตกจริต และไม่แตะหมวดพระมหากษัตริย์ ท่านทั้งหลายจงรักภักดีแล้วพวกตนไม่จงรักภักดีเหรอ คิดอะไรอยู่

เมื่อถามว่าการเอาระบบตุลาการภิวัฒน์มาทำอย่างนี้อีก รัฐบาลจะตั้งรับอย่างไร ต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า รัฐบาลขอเรียกร้องให้ประชาชนมาช่วยกันปกป้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยคะแนนท่วมท้น เมื่อประชาชนมอบความไว้วางไว้ ประชาชนต้องช่วยรัฐบาล รัฐบาลไม่ได้ทำอะไรผิด และการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะล้มล้างอย่างไร เพราะสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกฯ ก็แก้ไขมาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อปี 2540 และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ก็แก้ไข 2-3เรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญไปไกลไป ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญหลายคนก็ชอบกัน นายจรัญ ภักดีธนากุล และนายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรู้จักกันไกลๆ เมื่อสมัยเป็น รมว.ยุติธรรม

เมื่อถามถึงการขึ้นป้ายโจมตีร่าง พ.ร.บ.ปรองดองกล่าวหาว่าเป็นกฎหมายขายชาติและหมิ่นสถาบันรัฐบาลจะทำอย่างไร ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า คนแพ้ในสภาก็ต้องเล่นนอกสภา รอบหน้าเหลือ 80 คน ถ้าเดินอย่างนี้ต่อไป ตนปราศรัยทุกที่ว่าถ้าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เลือกพรรคเพื่อไทยให้ขาด ถ้าไม่ต้องการก็เลือกประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ผลการเลือกตั้งก็ออกมาอย่างนี้ กราบเรียนศาลรัฐธรรมนูญถ้าตนกับท่านยังมีไมตรีต่อกันตนว่างานนี้ท่านไปไม่รอด คงไม่มีใครเอาด้วย

เมื่อถามว่าหากการเมืองเล่นกันแรง ประชาชนก็แย่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ไม่แย่ ตนบอกตำรวจแล้วให้แก้ไขปัญหาการชุมนุมด้วยความละมุนละม่อม อย่าใช้กำลังโดยเด็ดขาด ตนได้อธิบายความตามที่ได้ฝึกปราบจลาจลมาใช้ระบบประเทศอังกฤษ อธิบายขั้นตอน ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ให้สื่อให้ประชาชนเห็น พฤติกรรมม็อบเป็นอย่างไร ตำรวจดำเนินการอย่างไร และไม่ใช้อาวุธ การใช้แก๊สน้ำตาให้กลิ้ง อย่าใช้ปืนยิง
กำลังโหลดความคิดเห็น