xs
xsm
sm
md
lg

ศาลมั่นใจใช้ ม.68 เจตนารมณ์กัน รบ.เหิมแก้ รธน.พลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาลรัฐธรรมนูญเตรียมเปิดเนื้อหาพิสูจน์ข้อกล่าวหาทำเกินอำนาจ ระบุหาก รธน.มีเจตนาให้อำนาจ อสส.ฝ่ายเดียวยื่นคำร้องได้ ต้องบัญญัติชัดแจ้งดัง ม.262 และ 272 วิเคราะห์เป็นเหตุเป็นผล “เพื่อแม้ว” ดันทุรังหวังปลดล็อกรัฐธรรมนูญ ม.309-237 รื้อองค์กรยุติธรรม แก้ยุบพรรค ล้มคำพิพากษาคดี คตส. ตอบสนองนายใหญ่กลับบ้านสมใจ พูดเป็นปริศนาแม้สภาจะไม่ฟังศาล แต่เชื่อมีหน่วยอื่นฟังศาลแน่หลังมีคำวินิจฉัย

วันที่ 5 มิ.ย. แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญเปิดเผยว่า ขณะนี้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ให้สำนักงานฯ ทำการศึกษา 5 คำร้องที่มีการร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปัตย์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ และให้มีการสรุปประเด็นเนื้อหาตามคำร้อง ก่อนที่จะให้ทีมโฆษกเป็นผู้ชี้แจงต่อสาธารณะเพื่อให้สังคมได้ทราบและเข้าใจว่าเหตุผลที่ศาลต้องรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา เพราะเป็นการร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่ให้อำนาจศาลในการรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า แรงกดดันที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายของคณะตุลาการฯ เพราะในการประชุมพิจารณารับคำร้องดังกล่าวของคณะตุลาการฯ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ใช้เวลาในการถกเถียงมากกว่า 2 ชั่วโมง ถึงประเด็นที่จะเกิดขึ้นหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้อง ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาว่าศาลไม่มีอำนาจรับคำร้อง เมื่อรับคำร้องแล้วสามารถมีหนังสือให้รัฐสภาชะลอการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังไม่เกิดขึ้นศาลรัฐธรรมนูญจะไปรู้ได้อย่างไรว่ามีการกระทำที่ล้มล้างการปกครอง

“อยากให้รอดูคำชี้แจงที่ทีมโฆษกจะมีการชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นตามคำร้องทั้ง 5 คำร้องก็จะทราบว่า ผู้ร้องร้องว่าการแก้ไขรัฐธรมนูญที่มีเนื้อหาแน่ชัดแล้ว และกำลังจะพิจารณาวาระ 3 ซึ่งจะไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรอีก เพียงแค่ยกมือว่าจะรับหรือไม่รับเท่านั้น มีเจตนาที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองเป็นอย่างอื่น แล้วก็จะทราบว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้เป็นเพราะว่าคำร้องเข้าตามองค์ประกอบของมาตรา 68 แล้ว ถ้าปล่อยให้ผ่านไปก็เท่ากับว่าเปิดทางให้ทำอย่างนั้นขึ้นมาได้ แล้วรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในลักษณะให้ศาลใช้อำนาจในเชิงป้องกันก็จะใช้การอะไรไม่ได้ แล้วถึงตอนนั้นใครจะรับรองได้ว่าจะไม่มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ไปในทางที่พลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน”

ดังนั้น เมื่อมีการกล่าวหาในลักษณะนี้ การวินิจฉัยก็ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน เปรียบเหมือนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยฆ่าคน โจทก์ก็ต้องหาพยานหลักฐานมาแสดงให้ศาลเห็นว่าจำเลยฆ่าคนจริง ขณะที่จำเลยต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์ว่าตนเองไม่ได้ฆ่าคนตามที่จำเลยกล่าวหา กรณีนี้จึงขึ้นอยู่กับการไต่สวน หากผู้ถูกร้องมีความสุจริตก็หาพยานหลักฐานมาแสดงให้ได้ ว่าไม่มีเจตนาที่จะทำอย่างนั้น รวมถึงให้ความมั่นใจได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมันจะไม่เป็นการพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินเรื่องก็จบ

ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยเน้นย้ำว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 68 นั้นเป็นอำนาจของอัยการสูงสุดเพียงฝ่ายเดียว แหล่งข่าวกล่าวว่า ในการพิจารณาของคณะตุลาการฯ เห็นว่าหากรัฐธรรมนูญมีเจตนาเช่นนั้น ต้องมีการเขียนบทบัญญัติไว้ดังเช่นรัฐธรรมนูญมาตรา 262 ที่บัญญัติว่า กรณี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ใดมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ให้ส่งเอกสารพร้อมรายงานผลการตรวจสอบไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสอง ที่บัญญัติ ว่า หาก ป.ป.ช.มีมติว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดหรือ ตุลาการ ผู้พิพากษา มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติให้มีการส่งเอกสารและรายงานพร้อมความเห็น ไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อดำเนินการถอดถอน และอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 บัญญัติ ให้ผู้ทราบการกระทำที่เป็นการล้มล้างฯ ย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งในเรื่องของสิทธิ หากเกี่ยวข้องกับการพิทักษ์รักษาสิทธิของประชาชนต้องตีความอย่างกว้าง แต่ถ้าเป็นเรื่องที่มีผลต่อการจำกัดสิทธิที่เป็นผลร้ายต่อประชาชนจะต้องตีความอย่างเคร่งครัด ดังนั้นถามว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นเรื่องของการพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินจะให้จำกัดสิทธิเฉพาะผู้ยื่นว่าเป็นอำนาจของอัยการสูงสุดแต่เพียงฝ่ายเดียวได้หรือ

“คำสั่งที่ให้ชะลอการพิจารณา แก้ไขรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการพิจารณาแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 291 (5) กำหนดว่า เมื่อพิจารณาวาระ 2 เสร็จสิ้นให้รอไว้ 15 วัน เมื่อพ้นกำหนดนี้ให้พิจารณาวาระ 3 ต่อไป เท่ากับว่าพ้น 15 วันแล้วจะพิจารณาวาระ 3 เมื่อใดก็ได้ ไม่ใช่ต้องทำทันที หรือทำภายใน 15 วันอย่างที่พูดกันเวลานี้ จึงเห็นว่าหากทิ้งเวลาไว้ 1 เดือน เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยก็ไม่เห็นส่งผลเสียหายอะไร แต่คณะตุลาการฯ ก็วิเคราะห์ไว้ก่อนแล้วว่า สภาจะไม่ยอมหยุดและเดินหน้าต่อ ซึ่งศาลเองก็จะยังคงไต่สวนต่อไป แม้จะมีการรับหลักการวาระ 3 ไปแล้ว เพราะเชื่อว่าถ้าศาลมีคำวินิจฉัยแล้วถึงสภาจะไม่ฟังแต่เชื่อว่ามีบางหน่วยงานจะฟังศาล” แหล่งข่าวกล่าว และว่า ศาลเปิดโอกาสให้ชี้แจงหากไม่ชี้แจงเทียบกับคดีแพ่งไม่ปฏิเสธก็แปลว่ายอมรับ และถ้าวันไต่สวนไม่มาก็เท่ากับว่าเป็นการไต่สวนข้างเดียวแล้ววินิจฉัย ดังนั้นถ้าสุจริตก็ไม่เห็นต้องกลัวอะไร แต่ที่งอแงในเวลานี้เป็นการแสดงว่าไม่สุจริตในตัวหรือเปล่า

นอกจากนี้ยังมองว่า ที่พรรคเพื่อไทยเร่งรีบในการที่จะเดินหน้าให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เพื่อต้องการที่จะปลดล็อกรัฐธรรมนูญมาตรา 309 และ 237 เพื่อให้การทำงานของคตส.นั้นไม่มีผล ใช้ไม่ได้ และนำไปสู่การยกเลิกคำพิพากษาในคดีที่ คตส.เป็นผู้ดำเนินการไว้ และเพื่อยกเลิกการยุบพรรค ซึ่งที่มีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้ามาให้สภาพิจารณา ก็เพื่อหยั่งกระแส เมื่อเห็นว่ามีการต่อต้านมา ก็พักไว้ และมาเดินหน้าในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน โดยจะรื้อรัฐธรรมนูญเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรยุติธรรม ซึ่งไม่ใช่การยุบ แต่จะเป็นการเปลี่ยนระบบการสรรหาตัวบุคคลเข้ามาผู้พิพากษา ตุลาการใหม่ ดังนั้นจึงจะดันเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดองต่อไป เพื่อรองรับการกลับมาของนายใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น