สัปดาห์ที่ผ่านมา มี “ความชัดเจน” เพียงพอแล้วว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ “รับคำร้อง” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ก็ดี หรือออกเอกสารที่อ้างว่าเป็น “คำสั่ง” ก็ดี (ซึ่งแท้จริงศาลเขียนหัวเอกสารว่า “หนังสือเรียกเอกสาร หลักฐาน หรือบุคคล” ดูได้ที่ http://bit.ly/JhTXln ) นั้น ถือว่า “ขัดต่อรัฐธรรมนูญ” หรือไม่
นอกจากคำอธิบายทางหลักวิชา หรือบันทึกของ ส.ส.ร.หรือความเห็นของอัยการสูงสุดแล้ว ยังมีหลักฐานสำคัญอีกชิ้นที่ควรนำมาเปิดเผย คือ “คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2549” (สมัยรัฐธรรมนูญฯ 2540 ก่อนการรัฐประหาร) ซึ่งศาลในเวลานั้น ได้วางหลักอย่างชัดเจนว่า กรณีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 วรรคสอง ณ เวลานั้น (ซึ่งมีหลักการเดียวกันกับมาตรา 68 วรรคสอง ในปัจจุบัน ดังที่ท่านวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ และท่านจรัญ ภักดีธนากุลต่างยอมรับ) ผู้ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลได้ มีเพียง “อัยการสูงสุด” เท่านั้น!
ภาพหลักฐาน :
หากบัดนี้ผู้ใดจะยังถกเถียงต่อว่า สิ่งที่ศาลทำไปนั้น “ถูก” หรือ “ผิด” ก็คงไม่มีประโยชน์ที่จะอธิบาย “ข้อกฎหมาย” เพิ่มเติม เพราะความเห็นที่ต่างกันนั้น ไม่ได้อยู่ที่ข้อกฎหมาย แต่แท้จริงแล้วกลับอยู่ที่ “ความคิดรากฐานในทางประชาธิปไตย” ที่แตกต่างกัน ณ เวลาปัจจุบันของสังคม
ดังนั้น มาถึงสัปดาห์นี้ คำถามที่ควรจะถกกันต่อ จึงไม่ใช่เรื่อง “ข้อกฎหมาย” อีกต่อไป แต่เป็นคำถามที่ว่า หากศาลไม่ยอมถอย “พรรคเพื่อไทย” ในฐานะผู้มีเสียงข้างมากในสภา จะเดินหน้าพาบ้านเมืองต่อไปอย่างไร ให้เหมาะสมกับ “ความคิดรากฐานในทางประชาธิปไตย” ที่ควรเป็น?
ผู้เขียนเองเห็นว่า “ความคิดรากฐานในทางประชาธิปไตย” ที่ควรเป็น อย่างน้อยต้องยึดกฎหมายและประชาชนเป็นใหญ่ แต่ก็มิใช่หลับหูหลับตาใช้กฎหมายและเสียงข้างมากโดยไม่คำนึงถึงบริบททางสังคม ผู้เขียนจึงขอเปิดสัปดาห์ใหม่โดยการวิเคราะห์ “ทางสามแพร่ง” ของ “พรรคเพื่อไทย” ดังนี้
1. ทางแรก : รอให้ศาลมีคำวินิจฉัย
ทางเลือกนี้อาจมีข้อดีว่า หากสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “สภา” สามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ได้ ก็จะ “ดูเหมือน” ว่าปัญหาได้จบโดยดี
แต่หากมองให้ดี ทางเลือกนี้ จะสร้างปัญหาตามมาหลายข้อ
1.1 ประชาชนที่เป็นฐานเสียงของพรรค จะเกิดความสับสนว่า “จุดยืนของพรรค” เป็นอย่างไร เหตุใดจึงรอให้ศาลใช้อำนาจทั้งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
1.2 เมื่อสภาไม่คาดคิดว่าศาลจะรับคำร้องได้ แต่ก็รับได้ แล้วหากสุดท้ายศาลมีคำวินิจฉัย “สั่งห้ามการกระทำแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” ก็จะยิ่งโต้แย้งผลทางกฎหมายยากขึ้น (เพราะเป็นถึง “คำวินิจฉัย” มิใช่ “คำสั่ง”) และเป็นการยอมให้เกิดบรรทัดฐานที่ถูกนำมาใช้กับการล่วงละเมิดอำนาจอื่นของคณะรัฐมนตรี รัฐสภา หรือแม้แต่องค์กรอิสระในอนาคต
1.3 สุ่มเสี่ยงต่อการดึงไปสู่การยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมือง
สรุปคือ หาก “พรรคเพื่อไทย” รอศาล ปากว่าอย่าง แต่ทำอีกอย่าง ก็อาจเจ็บตัวทั้งจากมวลชนที่ไม่พอใจ และทั้งจากคำวินิจฉัยของศาลซ้ำอีก
2. ทางที่สอง : เดินหน้าลงมติ “วาระที่ 3” ทันที
ข้อดีของทางเลือกนี้ คือ ทำได้เร็ว ได้ใจมวลชน และ “หาก” ศาลเคารพหลักกฎหมาย ศาลย่อมต้อง “จำหน่ายคำร้อง” ตามข้อกำหนดวิธีพิจารณาข้อที่ 23 ของศาล กล่าวคือ ศาลต้องยุติคดี เพราะมาตรา 68 ให้อำนาจศาลวินิจฉัย “สั่งห้ามการกระทำ” เท่านั้น แต่เมื่อการกระทำ คือ การแก้ไขมาตรา 291 ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว ศาลจึงไม่มีวัตถุแห่งคดีหรือประโยชน์ในการพิจารณาต่อไป เพราะศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัยให้ยกเลิกการกระทำย้อนหลัง
แต่ทางเลือกนี้ก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะในเวลานี้ ไม่มีสิ่งใดที่ประกันว่า ศาลจะ “จำหน่ายคำร้อง” ซ้ำร้าย จะทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายเรื่อง เช่น
2.1 อาจมีผู้แอบอ้างประเด็น “การลงพระปรมาภิไธย” เพื่อประโยชน์ทางการเมือง และหากเกิดปัญหาจริง ก็จะมีมวลชนบางกลุ่มกดดันให้สภาใช้เสียงข้างมากยืนยัน “ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม” ตามมาตรา 291 (7) ประกอบกับมาตรา 151 ซึ่งก็จะยิ่งที่เกิดแรงกดดันสูงขึ้นอีก และอาจมีผู้ไม่หวังดีสร้างสถานการณ์โดยข้ออ้างเดิมๆ ที่ว่าไม่จงรักภักดี แทรกแซงตุลาการ หรืออ้างมวลชนตีกัน ฯลฯ มาทำลายประชาธิปไตยในที่สุด
2.2 แม้หากไม่รุนแรงเท่า ข้อ 2.1 ก็อาจมีผู้อ้างการลงมติเป็นเหตุให้มีการ “เข้าชื่อถอดถอน” หรือ “ดำเนินคดีอาญา” ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า จะถูกถอดถอนหรือเอาผิดได้หรือไม่ แต่ปัญหา คือ อาจเกิดกรณีตาม “รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรค 4” ซึ่งเพียง ป.ป.ช. ทำการ “ชี้มูล” ความผิด ก็จะทำให้สมาชิกรัฐสภาที่ถูกกล่าวหา “ถูกห้ามไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่” จนกว่า ป.ป.ช. อัยการ และวุฒิสภาจะดำเนินการจบ ซึ่งหากใช้เวลา ก็จะกระทบต่อจำนวนเสียงในสภา และสร้างอุปสรรคต่อ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ในที่สุด
2.3 แม้หากไม่รุนแรงเท่าข้อ 2.1 และ 2.2 ก็จะยังมีคนไปยื่นคำร้องขอให้ศาลใช้อำนาจ ตามมาตรา 68 “สั่งห้ามการกระทำที่เกี่ยวกับ ส.ส.ร.” ซ้ำซ้อน อีก เช่น สั่งห้าม กกต. ดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ร. หรือสั่งห้ามองค์กรที่เกี่ยวข้องทำการเสนอชื่อ ส.ส.ร. ฯลฯ ซึ่งปัญหาก็จะยิ่งแก้ยาก เพราะองค์กรเหล่านั้นไม่ใช่รัฐสภา และอาจยอมปฏิบัติตามศาลก็เป็นได้
สรุปคือ แม้ “พรรคเพื่อไทย” จะเดินหน้าลงมติทันที ปัญหาก็จะยังไม่จบ และก็จะเพิ่มตามมาเรื่อยๆ
3. ทางที่สาม : สภา “หาทางลง” ให้กับศาล เพื่อประโยชน์มหาชน
วิธีการนี้ “พรรคเพื่อไทย” ทำได้ โดยการประกาศจุดยืนให้ชัดเจนว่า ศาลนั้นได้ใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ และสิ่งที่ศาลอ้างว่าเป็น “คำสั่ง” นั้นย่อมไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย รัฐสภาจึงชอบที่จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
แต่เพื่อให้สังคมไม่ต้องมาสุ่มเสี่ยงกับปัญหาที่อาจตามมา “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งมีเสียงข้างมาก จะร่วมกับฝ่ายค้านและ ส.ว. ประกาศ “คำสัตย์” ต่อปวงชนว่า เมื่อสภาได้ลงมติวาระที่ 3 ไปเสร็จสิ้นจนมีรัฐธรรมนูญ “หมวดใหม่” เพิ่มมาแล้ว สภาก็จะทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งทันที แต่จะแก้ไขเพียงจุดเดียวเท่านั้น คือ สภาจะ “ยินยอม” ให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถร่วมตรวจสอบ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ที่ ส.ส.ร. จะได้ยกร่างขึ้นหลังดำเนินการไปในระยะเวลา 240 วัน
ทั้งนี้ สภาจะ “ยินยอม” ให้ศาลจะตรวจสอบได้เฉพาะ 3 ประเด็นที่กำหนดไว้เท่านั้น คือ ตรวจสอบว่า “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ได้ “เปลี่ยนแปลงการปกครองฯ” “เปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ” หรือ “เปลี่ยนแปลงหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์” หรือไม่ ซึ่งหากสภาจะกำหนดให้ศาลต้องวินิจฉัยด้วย “คะแนนเสียงเอกฉันท์” หรือโดยสัดส่วนพิเศษ ก็ย่อมชอบธรรมที่จะกำหนดได้ ไม่ต่างจากกรณีการตรวจสอบพระราชกำหนด ซึ่งเป็นกฎหมายเล็กกว่ารัฐธรรมนูญเสียอีก
หาก “พรรคเพื่อไทย” แสดงภาวะความเป็นผู้นำในทางประชาธิปไตยแบบนี้ ศาลรัฐธรรมนูญย่อมต้องมี “วุฒิภาวะ” เพียงพอที่จะ “จำหน่ายคำร้อง” ออกจากศาล เพราะวันนี้ศาลประกาศชัดเจนว่า ศาลไม่ได้ห้ามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ศาลเพียงจะตรวจสอบดูว่า แก้ไปแล้ว “พลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน” หรือไม่ ดังนั้น หากศาลสามารถมีโอกาสตรวจสอบได้ “หลัง ส.ส.ร.ยกร่างเสร็จ” จึงเข้าลักษณะตาม “ข้อกำหนดวิธีพิจารณาของศาลข้อที่ 23” และศาลต้อง “จำหน่ายคำร้อง” เพื่อยุติคดี และผู้ใดจะนำเหตุคล้ายกันมาเริ่มต้นคดีใหม่ต่อกระบวนการ ส.ส.ร.ก็ย่อมไม่อาจทำได้
คงมีผู้ย้อนถามถึงข้อเสนอนี้ว่า เหตุใดต้องให้ “พรรคเพื่อไทย” เป็นฝ่ายมาพยายามแก้ปัญหา ผู้เขียนก็อาจตอบเพียงว่า ผู้ที่สร้างปัญหาก็มิได้มีความสามารถแก้ปัญหาที่ตนสร้างเสมอไป และบางครั้ง ผู้ที่แก้ปัญหาได้แต่ไม่ยอมแก้ ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเสียเอง
การเลือกทางเดินในทางประชาธิปไตย มิใช่การเลือกระหว่างเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยเท่านั้น แต่เป็นการเลือกทางเดินเพื่อให้ฝ่ายที่ต้องยอมเดินตาม ไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง
กรณีปัญหาของมาตรา 68 ในวันนี้ จึงมิได้เป็นเพียงปัญหาเชิงกฎหมายระหว่าง “รัฐสภา” และ “ศาลรัฐธรรมนูญ” แต่จะเป็นความท้าทายให้ “พรรคเพื่อไทย” ได้ค้นพบและพิสูจน์ “ความคิดรากฐานในทางประชาธิปไตย” ของพรรคนั้น เป็นเช่นไร
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณี มาตรา 68 ดูได้ที่ http://bit.ly/JhTXln
นอกจากคำอธิบายทางหลักวิชา หรือบันทึกของ ส.ส.ร.หรือความเห็นของอัยการสูงสุดแล้ว ยังมีหลักฐานสำคัญอีกชิ้นที่ควรนำมาเปิดเผย คือ “คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2549” (สมัยรัฐธรรมนูญฯ 2540 ก่อนการรัฐประหาร) ซึ่งศาลในเวลานั้น ได้วางหลักอย่างชัดเจนว่า กรณีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 วรรคสอง ณ เวลานั้น (ซึ่งมีหลักการเดียวกันกับมาตรา 68 วรรคสอง ในปัจจุบัน ดังที่ท่านวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ และท่านจรัญ ภักดีธนากุลต่างยอมรับ) ผู้ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลได้ มีเพียง “อัยการสูงสุด” เท่านั้น!
ภาพหลักฐาน :
หากบัดนี้ผู้ใดจะยังถกเถียงต่อว่า สิ่งที่ศาลทำไปนั้น “ถูก” หรือ “ผิด” ก็คงไม่มีประโยชน์ที่จะอธิบาย “ข้อกฎหมาย” เพิ่มเติม เพราะความเห็นที่ต่างกันนั้น ไม่ได้อยู่ที่ข้อกฎหมาย แต่แท้จริงแล้วกลับอยู่ที่ “ความคิดรากฐานในทางประชาธิปไตย” ที่แตกต่างกัน ณ เวลาปัจจุบันของสังคม
ดังนั้น มาถึงสัปดาห์นี้ คำถามที่ควรจะถกกันต่อ จึงไม่ใช่เรื่อง “ข้อกฎหมาย” อีกต่อไป แต่เป็นคำถามที่ว่า หากศาลไม่ยอมถอย “พรรคเพื่อไทย” ในฐานะผู้มีเสียงข้างมากในสภา จะเดินหน้าพาบ้านเมืองต่อไปอย่างไร ให้เหมาะสมกับ “ความคิดรากฐานในทางประชาธิปไตย” ที่ควรเป็น?
ผู้เขียนเองเห็นว่า “ความคิดรากฐานในทางประชาธิปไตย” ที่ควรเป็น อย่างน้อยต้องยึดกฎหมายและประชาชนเป็นใหญ่ แต่ก็มิใช่หลับหูหลับตาใช้กฎหมายและเสียงข้างมากโดยไม่คำนึงถึงบริบททางสังคม ผู้เขียนจึงขอเปิดสัปดาห์ใหม่โดยการวิเคราะห์ “ทางสามแพร่ง” ของ “พรรคเพื่อไทย” ดังนี้
1. ทางแรก : รอให้ศาลมีคำวินิจฉัย
ทางเลือกนี้อาจมีข้อดีว่า หากสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “สภา” สามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ได้ ก็จะ “ดูเหมือน” ว่าปัญหาได้จบโดยดี
แต่หากมองให้ดี ทางเลือกนี้ จะสร้างปัญหาตามมาหลายข้อ
1.1 ประชาชนที่เป็นฐานเสียงของพรรค จะเกิดความสับสนว่า “จุดยืนของพรรค” เป็นอย่างไร เหตุใดจึงรอให้ศาลใช้อำนาจทั้งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
1.2 เมื่อสภาไม่คาดคิดว่าศาลจะรับคำร้องได้ แต่ก็รับได้ แล้วหากสุดท้ายศาลมีคำวินิจฉัย “สั่งห้ามการกระทำแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” ก็จะยิ่งโต้แย้งผลทางกฎหมายยากขึ้น (เพราะเป็นถึง “คำวินิจฉัย” มิใช่ “คำสั่ง”) และเป็นการยอมให้เกิดบรรทัดฐานที่ถูกนำมาใช้กับการล่วงละเมิดอำนาจอื่นของคณะรัฐมนตรี รัฐสภา หรือแม้แต่องค์กรอิสระในอนาคต
1.3 สุ่มเสี่ยงต่อการดึงไปสู่การยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมือง
สรุปคือ หาก “พรรคเพื่อไทย” รอศาล ปากว่าอย่าง แต่ทำอีกอย่าง ก็อาจเจ็บตัวทั้งจากมวลชนที่ไม่พอใจ และทั้งจากคำวินิจฉัยของศาลซ้ำอีก
2. ทางที่สอง : เดินหน้าลงมติ “วาระที่ 3” ทันที
ข้อดีของทางเลือกนี้ คือ ทำได้เร็ว ได้ใจมวลชน และ “หาก” ศาลเคารพหลักกฎหมาย ศาลย่อมต้อง “จำหน่ายคำร้อง” ตามข้อกำหนดวิธีพิจารณาข้อที่ 23 ของศาล กล่าวคือ ศาลต้องยุติคดี เพราะมาตรา 68 ให้อำนาจศาลวินิจฉัย “สั่งห้ามการกระทำ” เท่านั้น แต่เมื่อการกระทำ คือ การแก้ไขมาตรา 291 ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว ศาลจึงไม่มีวัตถุแห่งคดีหรือประโยชน์ในการพิจารณาต่อไป เพราะศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัยให้ยกเลิกการกระทำย้อนหลัง
แต่ทางเลือกนี้ก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะในเวลานี้ ไม่มีสิ่งใดที่ประกันว่า ศาลจะ “จำหน่ายคำร้อง” ซ้ำร้าย จะทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายเรื่อง เช่น
2.1 อาจมีผู้แอบอ้างประเด็น “การลงพระปรมาภิไธย” เพื่อประโยชน์ทางการเมือง และหากเกิดปัญหาจริง ก็จะมีมวลชนบางกลุ่มกดดันให้สภาใช้เสียงข้างมากยืนยัน “ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม” ตามมาตรา 291 (7) ประกอบกับมาตรา 151 ซึ่งก็จะยิ่งที่เกิดแรงกดดันสูงขึ้นอีก และอาจมีผู้ไม่หวังดีสร้างสถานการณ์โดยข้ออ้างเดิมๆ ที่ว่าไม่จงรักภักดี แทรกแซงตุลาการ หรืออ้างมวลชนตีกัน ฯลฯ มาทำลายประชาธิปไตยในที่สุด
2.2 แม้หากไม่รุนแรงเท่า ข้อ 2.1 ก็อาจมีผู้อ้างการลงมติเป็นเหตุให้มีการ “เข้าชื่อถอดถอน” หรือ “ดำเนินคดีอาญา” ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า จะถูกถอดถอนหรือเอาผิดได้หรือไม่ แต่ปัญหา คือ อาจเกิดกรณีตาม “รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรค 4” ซึ่งเพียง ป.ป.ช. ทำการ “ชี้มูล” ความผิด ก็จะทำให้สมาชิกรัฐสภาที่ถูกกล่าวหา “ถูกห้ามไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่” จนกว่า ป.ป.ช. อัยการ และวุฒิสภาจะดำเนินการจบ ซึ่งหากใช้เวลา ก็จะกระทบต่อจำนวนเสียงในสภา และสร้างอุปสรรคต่อ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ในที่สุด
2.3 แม้หากไม่รุนแรงเท่าข้อ 2.1 และ 2.2 ก็จะยังมีคนไปยื่นคำร้องขอให้ศาลใช้อำนาจ ตามมาตรา 68 “สั่งห้ามการกระทำที่เกี่ยวกับ ส.ส.ร.” ซ้ำซ้อน อีก เช่น สั่งห้าม กกต. ดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ร. หรือสั่งห้ามองค์กรที่เกี่ยวข้องทำการเสนอชื่อ ส.ส.ร. ฯลฯ ซึ่งปัญหาก็จะยิ่งแก้ยาก เพราะองค์กรเหล่านั้นไม่ใช่รัฐสภา และอาจยอมปฏิบัติตามศาลก็เป็นได้
สรุปคือ แม้ “พรรคเพื่อไทย” จะเดินหน้าลงมติทันที ปัญหาก็จะยังไม่จบ และก็จะเพิ่มตามมาเรื่อยๆ
3. ทางที่สาม : สภา “หาทางลง” ให้กับศาล เพื่อประโยชน์มหาชน
วิธีการนี้ “พรรคเพื่อไทย” ทำได้ โดยการประกาศจุดยืนให้ชัดเจนว่า ศาลนั้นได้ใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ และสิ่งที่ศาลอ้างว่าเป็น “คำสั่ง” นั้นย่อมไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย รัฐสภาจึงชอบที่จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
แต่เพื่อให้สังคมไม่ต้องมาสุ่มเสี่ยงกับปัญหาที่อาจตามมา “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งมีเสียงข้างมาก จะร่วมกับฝ่ายค้านและ ส.ว. ประกาศ “คำสัตย์” ต่อปวงชนว่า เมื่อสภาได้ลงมติวาระที่ 3 ไปเสร็จสิ้นจนมีรัฐธรรมนูญ “หมวดใหม่” เพิ่มมาแล้ว สภาก็จะทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งทันที แต่จะแก้ไขเพียงจุดเดียวเท่านั้น คือ สภาจะ “ยินยอม” ให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถร่วมตรวจสอบ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ที่ ส.ส.ร. จะได้ยกร่างขึ้นหลังดำเนินการไปในระยะเวลา 240 วัน
ทั้งนี้ สภาจะ “ยินยอม” ให้ศาลจะตรวจสอบได้เฉพาะ 3 ประเด็นที่กำหนดไว้เท่านั้น คือ ตรวจสอบว่า “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ได้ “เปลี่ยนแปลงการปกครองฯ” “เปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ” หรือ “เปลี่ยนแปลงหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์” หรือไม่ ซึ่งหากสภาจะกำหนดให้ศาลต้องวินิจฉัยด้วย “คะแนนเสียงเอกฉันท์” หรือโดยสัดส่วนพิเศษ ก็ย่อมชอบธรรมที่จะกำหนดได้ ไม่ต่างจากกรณีการตรวจสอบพระราชกำหนด ซึ่งเป็นกฎหมายเล็กกว่ารัฐธรรมนูญเสียอีก
หาก “พรรคเพื่อไทย” แสดงภาวะความเป็นผู้นำในทางประชาธิปไตยแบบนี้ ศาลรัฐธรรมนูญย่อมต้องมี “วุฒิภาวะ” เพียงพอที่จะ “จำหน่ายคำร้อง” ออกจากศาล เพราะวันนี้ศาลประกาศชัดเจนว่า ศาลไม่ได้ห้ามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ศาลเพียงจะตรวจสอบดูว่า แก้ไปแล้ว “พลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน” หรือไม่ ดังนั้น หากศาลสามารถมีโอกาสตรวจสอบได้ “หลัง ส.ส.ร.ยกร่างเสร็จ” จึงเข้าลักษณะตาม “ข้อกำหนดวิธีพิจารณาของศาลข้อที่ 23” และศาลต้อง “จำหน่ายคำร้อง” เพื่อยุติคดี และผู้ใดจะนำเหตุคล้ายกันมาเริ่มต้นคดีใหม่ต่อกระบวนการ ส.ส.ร.ก็ย่อมไม่อาจทำได้
คงมีผู้ย้อนถามถึงข้อเสนอนี้ว่า เหตุใดต้องให้ “พรรคเพื่อไทย” เป็นฝ่ายมาพยายามแก้ปัญหา ผู้เขียนก็อาจตอบเพียงว่า ผู้ที่สร้างปัญหาก็มิได้มีความสามารถแก้ปัญหาที่ตนสร้างเสมอไป และบางครั้ง ผู้ที่แก้ปัญหาได้แต่ไม่ยอมแก้ ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเสียเอง
การเลือกทางเดินในทางประชาธิปไตย มิใช่การเลือกระหว่างเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยเท่านั้น แต่เป็นการเลือกทางเดินเพื่อให้ฝ่ายที่ต้องยอมเดินตาม ไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง
กรณีปัญหาของมาตรา 68 ในวันนี้ จึงมิได้เป็นเพียงปัญหาเชิงกฎหมายระหว่าง “รัฐสภา” และ “ศาลรัฐธรรมนูญ” แต่จะเป็นความท้าทายให้ “พรรคเพื่อไทย” ได้ค้นพบและพิสูจน์ “ความคิดรากฐานในทางประชาธิปไตย” ของพรรคนั้น เป็นเช่นไร
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณี มาตรา 68 ดูได้ที่ http://bit.ly/JhTXln