ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของพม่า ขอรัฐบาลดูแลแรงงานพม่าในไทย อย่าให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบ เชื่อมั่น กม.ไทย ขณะที่ อองซาน ชี้ กม.พม่าดี แต่ศาลต้องมีการเปลี่ยนแปลง “เหลิม” รับปากดูแลสวัสดิการแรงงานพม่า ขณะที่ผู้ลี้ภัยพม่าต้องกลับอย่างมีศักดิ์ศรี ยันไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับจนกว่าสถานการณ์พม่ากลับเข้าสู่สภาวะปกติ
วันนี้ (31 พ.ค.) ที่้ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของพม่า ในฐานะแขกของที่ประชุมใหญ่เวทีเศรษฐกิจโลกว่าด้วยเอเชียตะวันออก หรือ World Economic Forum on East Asia 2012 (WEF) เข้าพบ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือปัญหาแรงงานและผู้ลี้ภัยพม่าในประเทศไทย พร้อมด้วย นายอาจหาญ, นายวันเฉลิม และ ร.ต.ท.ดวงเฉลิม อยู่บำรุง
โดย นางอองซาน ได้ขอให้รัฐบาลไทยแก้ปัญหาผู้ประกอบการ ไม่เอาใจใส่ดูแลแรงงานพม่า โดยพบว่า ผู้ประกอบการได้มีการยึดพาสปอร์ตแรงงาน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการโยกย้ายจากงาน และเรื่องของดูแลชดเชยเมื่อแรงงานเกิดอุบัติเหตุหรือป่วย ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า เดิมทีในอดีตมีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นจริง แต่ในรัฐบาลชุดนี้ มีคณะกรรมการเข้ามาดูแลเรื่องแรงงาน ทำให้ปัญหาเหล่านี้ลดลง แต่วันนี้ผู้ประกอบการจะเป็นฝ่ายกลัวมากกว่า เพราะหากไม่มีแรงงานพม่าแล้ว ก็ไม่สามารถประกอบการได้ เพราะไทยไม่มีแรงงาน ซึ่งแรงงานพม่าส่วนใหญ่จะอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร เชียงใหม่ และ สุราษฎร์ธานี
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า เรื่องของการรักษา นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้มีการอนุมัติให้แรงงานต่างด้าวเข้าสู่โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งแรงงานที่จะได้รับสิทธิจะต้องมีการพิสูจน์สัญชาติที่ชัดเจน รวมถึงได้รับค่าแรง 300 บาท ซึ่งมีผลทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค.56 ตนยืนยันให้ผู้ประกอบการดูแลแรงงานในเรื่องของการรักษาพยาบาล และสิทธิ เพราะเราจะเหมือนพี่น้องกัน อาจจะมีข้อบกพร่องบ้าง แต่ก็จะพยายามต่อไป ยืนยันจะดูแลแรงงานพม่าให้ดีที่สุด มีปัญหาน้อยที่สุด และจะอนุญาตให้ลูกหลานพม่าได้ศึกษา เพราะเชื่อว่า จะเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดี จะเป็นการเชื่อมทางด้านวัฒนธรรม และความเข้าใจระหว่างพ่อแม่กับผู้ประกอบการให้ดีขึ้น เพราะรู้ภาษาไทยมากขึ้น
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ลี้ภัยพม่าที่อยู่ใน 4 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และ ราชบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่พักพิงชั่วคราว โดยมีอยู่ประมาณ 140,000 คน นั้น ไทยเองต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชน นโยบายรัฐบาลชุดนี้ จะให้ที่พักพิงไปจนกว่าสถานการณ์ในพม่าจะดีขึ้น ผู้ลี้ภัยมีความสมัครใจที่จะกลับไปอย่างมีศักดิ์ศรี เราสัญญา และเดินทางประเทศที่ 3 อย่างเต็มใจ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 48 แล้ว ล่าสุด นายกฯสั่งให้ยึดหลักมนุษยธรรม โดยไทยร่วมกับอีกหลายประเทศ มีการคัดกรองผู้ลี้ภัย เพื่อดูพื้นฐานนำไปสู่การพัฒนา ทราบคุณสมบัติ ทักษะ เพื่อรัฐบาลจะเพิ่มเติมให้ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นการเตรียมความพร้อม ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ เพราะรัฐบาลอยากเน้นในเรื่องของการศึกษา เศรษฐกิจ และเท่าที่ดูรัฐบาลพม่าเองก็มีความเข้าใจ และยืนยันรัฐบาลไทยไม่มีนโยบายส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ จนกว่าประเทศพม่าจะมีความพร้อม และจะเร่งพิสูจน์สัญชาติ เพื่อจัดระเบียบแรงงานให้ถูกกฎหมายเพื่อสวัสดิการที่ดี
ขณะที่ นางอองซาน กล่าวว่า ขอขอบคุณ ซึ่งรู้ว่าท่านมีจิตใจที่เมตตากรุณาเรื่องแรงงานพม่า และผู้ลี้ภัยทุกคนให้ความสนใจ หากสถานการณ์ในพม่าก็จะเรียกแรงงานพม่ากลับ ทั้งหมดนี้ตนจะนำไปแจ้งกับแรงงานพม่า ซึ่งแรงงานเหล่านั้นคงดีใจ โดยแรงงานพม่าที่เข้าสู่ประเทศไทย เกิดจากการสู้รบในพม่า แต่เชื่อมั่นว่า เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ รัฐบาลไทยดูแลผู้ลี้ภัยไม่ต่างอะไรกับประเทศเดนมาร์ก แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่เล็กกว่า ซึ่งไทยดูแลผู้ลี้ภัยพม่ามานานแล้ว และเพื่ออนาคตของลูกหลานเราเองก็ยอมที่จะให้ไปประเทศที่สาม ซึ่งต้องขอขอบคุณเป็นอย่างสูง ที่ดูแลการศึกษาให้กับเด็กๆ ซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติ ซึ่งไม่เหมือนกับเด็กสามัญทั่วไป มีโรงเรียนประถม โรงเรียนมัธยม
ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้สร้างความปรองดอง ผู้ลี้ภัยเข้ามาเราไม่จับ เพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ ขณะที่ นางอองซาน กล่าวว่า ประเทศไทยเราเป็นพุทธศาสนิกชน เชื่อในเรื่องของความดี ไทยช่วยเหลือผู้อพยพ เพราะพม่าเกิดความปั่นป่วนทางการเมือง เกิดการสู้รบ ทำให้มีผู้อพยพ ขอขอบคุณคนไทย และรัฐบาลไทยที่ช่วยดูแล ตอนที่ตนไปพบแรงงานพม่า ตนก็แยกไม่ออกคนไหนคนไทย คนไหนพม่า หน้าตาเหมือนกันหมด
ทั้งนี้ ช่วงท้ายการหารือ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้ ตนจะเดินทางไปพม่า เจรจาในเรื่องขอความร่วมมือในด้านยาเสพติด ส่วนเรื่องนายพลนะคะมวย ผู้บัญชาการกองทัพกะเหรี่ยงโกะทูบลอ ซึ่งอยู่ในแบล็กลิสต์จริง ขณะที่ อองซาน กล่าวว่า เชื่อมั่นในตัวบทกฎหมายไทย ถ้าตามกฎหมายก็ถูกต้อง ส่วนกฎหมายพม่าเป็นกฎหมายที่เลียนแบบอังกฤษ ซึ่งในพม่าไม่ใช่กฎหมายไม่ดี แต่เป็นเพราะศาลไม่ดี ยืนยันว่า ปัญหาเกิดจากศาล ซึ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า สำหรับศาลไทยเชื่อถือได้
จากนั้น ร.ต.อ.เฉลิม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือร่วมกับนางอองซาน ว่า นางอองซาน เป็นห่วงแรงงานชาวพม่าที่ทำงานในประเทศไทย ซึ่งเรื่องห่วงเป็นเรื่องในอดีต ปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้ว โดยเฉพาะการพิสูจน์สัญชาติว่าเป็นแรงงานพม่าจริง มีบัตร มีหลักฐาน เมื่อก่อนแรงงานชาวพม่าที่ทำงานในประเทศไทย จะได้ค่าแรงงานน้อย ไม่มีสวัสดิการ ไม่ได้รับการช่วยเหลือดูแล แต่เมื่อตนเข้ามารับผิดชอบด้านแรงงาน นายกฯได้มอบหมายให้มีการแก้ไขปรับปรุง สมัยก่อนเวลาจะมีการพิสูจน์สัญชาติต้องเอาแรงงานพม่าไปตามชายแดน ซึ่งแรงงานไม่สมัครใจ จึงปรับปรุงให้รัฐบาลพม่ามาพิสูจน์สัญชาติได้ในประเทศไทย โดยเฉพาะใน 5 จว.ที่มีแรงงานพม่าทำงาน เช่น จังหวัดสมุทรปราการ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ และ สมุทรสาคร ซึ่งได้ทำแล้ว และในวันที่ 1 มิ.ย.แรงงานไทยทั้งหมดจะได้ 300 บาท แรงงานพม่าที่พิสูจน์สัญชาติแล้วก็จะได้ค่าแรง 300 บาทเหมือนกัน รัฐบาลยังมีนโยบายให้แรงงานพม่ารักษา 30 บาทรักษาทุกโรค เหมือนคนไทย กำชับเจ้าของโรงงานดูแลสวัสดิการ ไม่กดขี่ข่มเหง นอกจากนี้ ยังหารือเรื่องผู้ลี้ภัย ซึ่งอยากไปอยู่ประเทศที่ 3 เราก็ส่งไปแล้ว 77,000 คน และยังจะมีอีกใน 4 จว.เราดูแลสวัสดิการ หากผู้ลี้ภัยอยากกลับบ้านเกิด เราเห็นว่า ถ้ามีความพร้อมกลับแล้วปลอดภัย ยูเอ็นเอชซีอาร์ ก็ร่วมพิจารณาด้วย เราก็ส่งกลับ ขณะนี้รัฐบาลได้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง สำรวจผู้ลี้ภัยในเรื่องอาชีพ ทักษะ ความพร้อม ความต้องการเพื่อไปพิจารณาการช่วยเหลืออย่างไรให้เขาได้รับสิทธิอันพึงได้ ส่วนเรื่องการศึกษาเด็กพม่าที่ไม่ได้จดทะเบียนพยายามแก้ไขให้มีการจดทะเบียนให้หมด
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่เราให้ความร่วมมือจะเป็นภาระเรื่องแรงงานกับเราหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่สร้างภาระ ที่ผ่านมา ไม่มีใครแก้ มีปัญหาเราต้องยอมรับวันนี้ภาคอุตสาหกรรมเมืองไทย ถ้าไม่ได้แรงงานพม่าจบ เพราะคนไทยไม่ทำแล้วใช้แรงงานพม่า 80 เปอร์เซ็นต์ ลาวกับกัมพูชา 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อถามว่า กลุ่มแรงงานผิดกฎหมายจำนวนมากจะดำเนินการอย่างไร ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า หากมีการพิสูจน์สัญชาติหลักฐานถูกต้อง ได้สิทธิเพิ่มขึ้นก็ไม่หลบเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ทั้งนี้ เป็นห่วงว่า หากมีการก่อสร้างท่าเรือทวาย แรงงานจะกลับบ้านหมด ต้องเอาใจเหมือนสิงคโปร์ เมื่อถามว่า มีความเป็นห่วงเรื่องสาธารณสุขและอาชญากรรม มีมาตรการรองรับหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า เราต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหาปรับปรุง มันมีได้กับเสีย เมื่อถามว่า การพูดคุยวันนี้จะทำให้กระทบพม่าหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า คงไม่กระทบ เพราะตนไม่ได้เป็นนายกฯ เป็นรองนายกฯ และไม่ได้คุยเรื่องการเมือง