xs
xsm
sm
md
lg

โพลห่วงแก้รธน.ขัดแย้งรุนแรง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-สวนดุสิตโพลชี้ คนกรุงห่วงแก้รัฐธรรมนูญ สร้างความขัดแย้งเพิ่ม นอกจากนี้ยังมีเรื่องของข้อมูลไม่ชัดเจน ทำให้ลังเลว่าควรแก้หรือไม่ ส่วนการถ่ายทอดสดเป็นผลดี ทำเข้าใจมากขึ้น และได้เห็นพฤติกรรมของนักการเมืองชัดเจนขึ้น ด้านเอแบคโพลล์เทียบผลงาน 2 รัฐบาล คนจำผลงาน "มาร์ค" ตามจับ "แม้ว" มากสุด ส่วน "ปู" ปราบยาเสพติด

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนที่สนใจติดตามการประชุมร่วมรัฐสภา กรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ทั้ง 3 ฉบับ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 741 คน

หัวข้อ ประชาชนคิดอย่างไรกับการอภิปราย กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 38.88 % เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เกรงว่าจะเกิดการกระทบกระทั่งกันของกลุ่มต่างๆ 22.57 % เห็นว่า การเมืองวันนี้คงต้องติดตามต่อไป และหวังว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่า เอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง 15.61 % เห็นว่า เป็นไปตามที่คาด คงต้องยอมรับกับผลที่ออกมา รัฐบาลมีเสียงข้างมาก ย่อมได้เปรียบเป็นธรรมดา 14.20 % เห็นว่ายังไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องนี้มากนัก และคิดว่ายังมีประชาชนอีกมาก ที่ยังไม่รู้ถึงข้อดี-ข้อเสียของการแก้รัฐธรรมนูญ และ 8.74 % เห็นว่า เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย

เมื่อถามว่า จากการติดตามการอภิปราย ประชาชนคิดว่า ควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ปรากฏว่า 48.11 % ไม่แน่ใจ เพราะข้อมูลยังไม่เพียงพอ และไม่ชัดเจน แต่ละฝ่ายต่างพยายามพูดชักจูงให้ได้ประโยชน์กับฝ่ายของตนเอง ฯลฯ 27.57 % ไม่น่าจะแก้ไข เพราะกลัวเกิดเหตุความวุ่นวาย ทำให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง ฯลฯ และ 24.32 % น่าจะแก้ไข เพราะทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง การเมืองและประเทศชาติจะได้พัฒนาดีขึ้นฯลฯ

เมื่อถามถึงข้อดี จุดเด่น และ ข้อเสียที่ควรปรับปรุง จากการติดตามการอภิปรายในสภา กรณี “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” พบว่า ข้อดี 42.20 % ได้รับรู้ และเข้าใจเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากขึ้น 39.37 % ได้เห็นบทบาท ความรู้ความสามารถ ของผู้อภิปรายทั้ง 2 ฝ่าย และ 18.43 % เป็นข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจของประชาชน ขณะที่ข้อเสียที่ควรปรับปรุง 61.29 % เห็นว่าพฤติกรรมนักการเมือง โดยเฉพาะในช่วงก่อ
นจะปิดการประชุม 20.17 % การประท้วง และการตอบโต้ที่ไม่สุภาพของทั้ง 2 ฝ่าย และ 18.54% การไม่เคารพต่อที่ประชุม และประธานในที่ประชุม

เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญ มีผลกระทบทางด้านการเมืองมากน้อยเพียงใด 43.57 % เห็นว่าค่อนข้างมีผลกระทบ เพราะทำให้เกิดความขัดแย้ง แต่ละฝ่ายไม่ยอมฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน มุ่งเอาชนะมากเกินไป ฯลฯ 38.92 % เห็นว่า มีผลกระทบมากเพราะมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง เป็นเกมการเมืองที่เอาชนะคะคานกัน ต่างฝ่ายต่างใส่ร้ายกัน ฯลฯ 10.74 % เห็นว่ามีผลกระทบน้อย เพราะเป็นการแก้ไขตามระบอบประชาธิปไตย ทุกคนน่าจะฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน ฯลฯ และ 6.77 % เห็นว่าไม่มีผลกระทบ เพราะเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ ต้องแก้ไขได้ ฯลฯ

***โพลเทียบผลงาน 2 รัฐบาล"มาร์ค-ปู"

วันเดียวกัน น.ส.ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นักวิจัยประจำสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง "รื้อฟื้นความจำของความสอดคล้องตรงกันระหว่างวาระรัฐบาลกับวาระประชาชน เปรียบเทียบระหว่างรัฐบาลอภิสิทธิ์กับรัฐบาลปัจจุบัน และอะไรที่คนไทยอยากเห็นจากคนไทยด้วยกันเองในช่วงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี" โดยศึกษาจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,478 ตัวอย่าง

ความทรงจำ 5 อันดับแรกของประชาชนต่อภารกิจ นโยบาย วาระของรัฐบาลยุค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อันดับแรก 53.9% ระบุว่าเป็นข่าวการติดตามจับตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ข่าวยึดทรัพย์ ดำเนินคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ อันดับที่สอง 48.7% ระบุว่าเป็นข่าวความพยายามแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ต้องใช้เวลานาน อันดับที่สาม 46.9% ระบุว่า ข่าวการดำเนินคดีกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. อันดับที่สี่ 43.1% ระบุว่าเป็นข่าวนโยบายไข่ชั่งกิโล นำเข้าน้ำมันปาล์ม น้ำมันพืช และอันดับที่ห้า 40.5% ระบุว่าเป็นข่าวการประกันราคาข้าว ผลผลิตทางการเกษตร ตามลำดับ

ความทรงจำของประชาชนในภารกิจ นโยบาย วาระของรัฐบาลยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อันดับแรก 68.9% ระบุว่าเป็นข่าวการแก้ไขปัญหายาเสพติด รองลงมาคือ 67.7% ระบุว่าเป็นข่าวการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ร้อยละ 63.5 ข่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 61.4% ระบุว่าเป็นข่าวค่าแรง 300 บาทต่อวัน เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท บัตรเครดิตชาวนา และจำนำข้าว และ 58.7% ระบุว่าเป็นข่าวการเยียวยาผู้เสียชีวิตและสูญเสียจากการชุมนุม

เมื่อถามถึงความสอดคล้องตรงกันระหว่าง วาระรัฐบาลกับวาระประชาชนในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบว่าวาระรัฐบาลที่สอดคล้องตรงกันกับวาระประชาชนมากที่สุดคือการแก้ไขปัญหายาเสพติด 76.1% รองลงมาคือนโยบายด้านสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค 67.3% แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 56.2% และการแก้ปัญหาน้ำท่วม 50.1%

สำหรับนโยบายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ยังไม่สอดคล้องกับวาระประชาชนมากที่สุดคือคือการแก้ปัญหาปากท้อง ปัญหาสินค้าราคาแพง 70.1% รองลงมาคือ ระบุปัญหาราคาเชื้อเพลิง 68.1% นโยบายด้านการศึกษา การปรับปรุงคุณภาพการศึกษา 65.6% นโยบายค่าแรง 300 บาทต่อวัน 60.5% และนโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท 56.8%

เมื่อถามถึงความต้องการอยากได้อะไรจากคนไทยด้วยกันเอง พบว่า 89.2% อยากเห็นคนไทยรักกัน 80.6% อยากให้คนไทยมีน้ำใจ เกื้อกูลกัน 78.3% อยากให้คนไทยให้อภัยต่อกัน 74.6% อยากให้คนไทยเลิกทะเลาะกัน เลิกแตกแยก ช่วยกันทำให้บ้านเมืองสงบสุข และ 71.9% อยากให้คนไทยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว

เมื่อถามถึงระยะเวลาให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ทำงาน พบว่า 38.0% ระบุว่าอยู่จนครบวาระ 19.5% ระบุว่าอยู่ 2-3 ปี 21.2% ระบุว่าอยู่ 1-2 ปี 7.5% ระบุอยู่ 6 เดือนถึง 1 ปี และ 13.8% ระบุนับจากนี้ไปไม่เกิน 6 เดือน.
กำลังโหลดความคิดเห็น