เชียงราย - เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพ พร้อมองค์กรภาคีเมืองพ่อขุนฯ รวมตัว “แต่งดำ” เคลื่อนไหวพร้อม 8 จว.ภาคเหนือ ค้านรัฐฟื้นเก็บตังค์ 30 บาทรักษาทุกโรค เรียกร้องยกระดับการรักษาบัตรทอง ให้เท่ากับ ขรก.-ประกันสังคม หวั่นไทยเข้า เออีซี.ทำมาตรฐานการรักษา ปชช.ต่ำชั้นลงอีก
วันนี้ (23 ก.พ.) เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพจังหวัดเชียงราย นำโดย นายธนชัย ฟูเฟื่อง ประธานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยกลุ่มพลังมวลชนจาก 9 เครือข่าย เช่น เครือข่ายหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายเยาวชน เครือข่ายชุมนุมเมือง ฯลฯ ประมาณ 100 คน ได้รวมตัวชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องผ่าน นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้รัฐบาลพัฒนายกระดับโครงการหลักประกันสุขภาพ หรือเรียกกันติดปากว่าบัตรทอง หรือในอดีตเรียก 30 บาทรักษาทุกโรค
โดยมีการจัดทำเอกสารเนื้อหา ระบุว่า ปัจจุบันไม่มีการพัฒนาคุณภาพการรักษากับประชาชน แต่กลับมีภัยคุกคาม เพราะมีกระแสเรื่องการจะกลับมาเรียกเก็บเงินจากประชาชนจากโครงการดังกล่าวอีก เช่น เก็บ 30 บาทเหมือนเดิม ฯลฯ และมีการแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยอ้างเรื่องการขาดทุน
นอกจากนี้ ยังมีกระแสเรื่องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของคนต่างชาติโดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อหลักประกันสุขภาพของคนไทย เกิดกลุ่มคนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข เกิดปัญหาบุคลากรแพทย์และพยาบาลต้องรับภาระในการดูแลผู้ป่วยจนเกินมาตรฐาน เกิดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาลกับคนไทย โดยเฉพาะความไม่เท่าเทียมกันของสวัสดิการข้าราชการและระบบประกันสังคมกับประชาชนที่ใช้บัตรทอง ฯลฯ
พวกเขาจึงต้องการให้มีการพัฒนาระบบประกันสุขภาพกับประชาชน เพื่อให้เท่าเทียมกับกลุ่มคนอื่น เพราะปัจจุบันคนใช้บัตรทองเหมือนเป็นบุคคลสำรองของสังคม
นายธนชัย กล่าวว่า ประชาชนคนไทยเสียภาษีผ่านระบบต่างๆ ดังนั้น จึงเหมาะสมแล้วที่พวกเราจะภาคภูมิใจในสวัสดิการรักษาพยาบาลด้วยบัตรทอง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสวัสดิการอื่นๆ เช่น ข้าราชการ ประกันสังคม กลับยังด้อยกว่ามากและยังมีกระแสเรื่องการจะกลับมาเรียกเก็บเงินจากประชาชนอีก โดยอ้างว่าสถานพยาบาลประสบปัญหาขาดทุน ซึ่งพวกเราขอค้านว่า ไม่จริง เพราะประชาชนเสียภาษีให้รัฐอยู่แล้ว และการขาดทุนไม่ควรนำฐานจากประชาชนที่ใช้บัตรทองเป็นตัวตั้งอย่างเดียว แต่ควรจะนำสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคมมาพิจารณาร่วมด้วย ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าประชาชนลำบากกว่าคนสองประเภทหลังนี้อย่างมาก โดยเฉพาะข้าราชการที่ต่างได้รับสิทธิพิเศษจากสถานพยาบาลทั้งสิ้น
“หากเข้าสู่ประชาชนคมอาเซียนเต็มตัว ก็จะมีผู้ที่ใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยมากขึ้น เพราะไม่มีพรมแดน คนไทยก็จะกระทบหนักกว่าที่เป็นอยู่ เพราะสภาพปัจจุบันบุคลากรแพทย์และผู้ป่วยก็ไม่สมดุลกันอยู่แล้ว” นายธนชัย กล่าว
นายธนชัย กล่าวอีกว่า เครือข่ายฯได้ประสานกันเคลื่อนไหวทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือให้ทำกิจกรรมพร้อมกันในวันนี้ (23 ก.พ.) ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละจังหวัดจะดำเนินการอย่างไร สาเหตุเพราะก่อนหน้านี้เคยมีการสอบถามไปยังกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการพัฒนาระบบประกันสุขภาพและการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น แต่กลับไม่ได้รับคำตอบ
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ต่อมา นายสุรชัย ลิ้นทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เข้ารับเรื่องแทนผู้ว่าราชการจังหวัด และระบุว่า จะนำข้อเสนอจากประชาชนนำเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้รับทราบ โดยกรณีนี้เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง ทำให้กลุ่มชาวบ้านพอใจและแยกย้ายกันไปยื่นหนังสือต่อที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย และสำนักงาน นายสามารถ แก้วมีชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เชียงราย เขต 1 พรรคเพื่อไทย ก่อนสลายตัว