สมาชิกพรรค ปชป.ค้านวุ่น เหตุผล “สมศักดิ์” เลื่อนถก พ.ร.บ.ปรองดอง เป็นวาระเร่งด่วน พรุ่งนี้ ยืนยันถึงข้อบังคับที่ให้อำนาจ และได้วินิจฉัยไปแล้วทุกอย่างถือว่าจบ และพยายามตัดบทให้มีการลงมติในญัตติ ฝ่ายค้านจึงได้ลุกฮือยื้อยุดให้ นายสมศักดิ์ ลงจากบัลลังก์ ท่ามกลางเสียงตะโกนด่าทอ “เผด็จการรัฐสภา ไอ้ค้อนปลอมตราดูไบ” ด้าน “รังสิมา” หวิดตบ ส.ส.หญิงแดง
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง การรายงาน โดย “เติมศักดิ์ จารุปราณ”
วันนี้ (30 พ.ค.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 15.00 น.โดยมี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยเมื่อเริ่มประชุม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ได้เสนอทันทีให้เลื่อนวาระลำดับที่ 27-30 คือร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ...ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และคณะ เป็นผู้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่มี นายนิยม วรปัญญา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กับคณะ เป็นผู้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่มี นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กับคณะ เป็นผู้เสนอ และร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่มี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กับคณะ เป็นผู้เสนอ ขึ้นมาพิจารณาในวันพรุ่งนี้ (31 พ.ค.) ต่อจากการพิจารณากระทู้ทั่วไป ซึ่ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า อยากสอบถามเรื่องการเลื่อนระเบียบวาระ เพราะถ้ามิชอบก็ไม่สามารถเลื่อนได้ ตนอยากทราบว่า ทำไมประธานจึงวินิจฉัยว่า ทั้ง 4 วาระคือ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เป็นเรื่องเร่งด่วน แม้การวินิจฉัยจะเป็นอำนาจของประธานก็ตาม แต่ถ้าไปดูระเบียบวาระเรื่องเร่งด่วนตั้งแต่ลำดับที่ 1-26 จะเห็นว่า เกือบทั้งหมดเป็น พ.ร.บ.ที่เสนอโดย ครม.และประชาชนทั้งสิ้น เกือบจะไม่มีที่เสนอโดย ส.ส.เพราะหากกฎหมายใดที่เสนอโดย ส.ส.ประธานจะไปบรรจุไว้ในเรื่องที่เสนอใหม่
นายจุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องนี้เหล่านี้เราเคยพูดมาแล้วว่าชอบด้วยข้อบังคับหรือไม่ที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมของ ส.ส.เพราะตอนที่พิจารณาผลการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองเข้าสู่การพิจารณาของสภา และเสนอให้มี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มาด้วยท่ามกลางความสงสัยของสมาชิกที่สอบถามถึงเหตุผล จนในที่สุด กมธ.ส่วนหนึ่งยืนยันว่า จะไม่มีการเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่วันนี้กลับเป็นฉบับเดียวกันกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ในวันนี้ แม้ชื่อปรองดองแต่เนื้อหาไม่ปรองดอง เป็นการล้มล้างความผิดให้คนเพียงคนใด และให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น วันนั้นที่ประชุมได้ให้คำมั่นว่าจะไม่เสนอจนกว่าจะสานเสวนา และรับฟังความเห็นจากประชาชนหาความเห็นพ้องกันก่อนจะตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง หากประชาชนไม่เห็นด้วยก็จะไม่นำเสนอนิรโทษกรรม ยกเว้นเราเห็นพ้องกันจึงจะเสนอได้เพื่อป้องกันความแตกแยก และเกิดวิกฤตครั้งใหม่
“จนวันนี้เกือบจะเรียกว่า ไม่มีปี่มีขลุ่ย อยู่ๆ ก็เสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพียงแต่ใช้ชื่อปรองดองลับลวงพรางให้เกิดความเข้าใจผิด ให้เข้าใจว่า เป็นกฎหมายนำไปสู่ความปรองดอง แต่คือการล้มล้างความผิดให้คนเพียงคนเดียวแล้วนำไปสู่ความแตกแยก เมื่อมีคนนำเสนอเข้ามาเหตุใดประธานจึงรับลูกแล้ววินิจฉัยว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนบรรจุเข้าระเบียบวาระมาทันที” นายจุรินทร์ กล่าว
ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวต่อว่า การจะบรรจุกฎหมายใดในวาระที่เป็นเรื่องเร่งด่วนนั้น มีลักษณะของการพิจารณา คือ ต้องเกี่ยวกับประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน ซึ่งตนคิดว่า หากเราใช้ดุลพินิจเรื่องนี้ไม่ใช่ประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน แต่เป็นประโยชน์ของคนเพียงคนเดียว หรือบางกลุ่มเท่านั้น นอกจากนี้ กฎหมาย หรือต้องเข้าข่ายกรณีจำเป็นรีบด่วนในการรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง แต่แค่เสนอเข้าสภา ความแตกแยกก็กำลังจะเกิดขึ้น หน้ารัฐสภาก็มีประชาชนจำนวนมากมาชุมนุมเพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และไม่มีใครรับประกันว่าจะไม่นำไปสู่วิกฤตของประเทศในอนาคต
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า อยากทราบว่า ทำไมประธานถึงวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ถึงไม่ใช่กฎหมายที่ไม่เกี่ยวกับการเงิน เพราะถ้ากฎหมายฉบับนี้เกี่ยวด้วยการเงิน ประธานจะไม่สามารถบรรจุได้ทันที เนื่องจากต้องมีข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 ระบุไว้ชัดเจนว่าถ้าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินจะต้องมีการรับรองจากนายกรัฐมนตรีก่อน จึงจะบรรจุเข้าสู่วาระของสภาได้ ซึ่งการที่ต้องให้นายกฯ รับรองก่อน เพราะเป็นผู้บริหารสูงสุดของฝ่ายบริหาร มีอำนาจดูแลเงิน และทรัพสินย์ของแผ่นดินประเทศ ดังนั้น นายกฯ จึงต้องใช้ดุลพินิจว่ากฎหมายนี้มีการนำเงินของแผ่นดินไปใช้จ่ายหรือไม่ และเงินในคลังของแผ่นดินจะมีเพียงพอต่อการนำไปใช้ในกฎหมายนั้นๆ หรือไม่ ซึ่งเราเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง อาจเข้าข่ายว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน เพราะมาตรา 143 ระบุไว้ชัดเจน เช่น (2) เป็นกฎหมายที่ต้องจ่ายเงินแผ่นดิน (3) การวินิจฉัยว่าผูกพันกับทรัพย์สินของรัฐ
“ประธานต้องทำความชัดเจนในเรื่องนี้ก่อน โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เป็นผู้เสนอ เพราะจะผลกระทบตามมาต่อการจ่ายเงินแผ่นดิน คือ คืนทรัพย์สินให้ผู้กระทำความผิดและได้รับการนิรโทษกรรม เพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ตัดสินคดีเป็นที่สิ้นสุด พร้อมกับให้ยึดทรัพย์สินเป็นของแผ่นดิน ดังนั้น เมื่อนิรโทษกรรมแล้วยังต้องคืนทรัพย์สินให้ด้วยหรือไม่” นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า อยากให้ประธานได้ถาม พล.อ.สนธิ ที่เป็นคนเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เข้ามาว่ากฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์อย่างไร นอกจากนิรโทษกรรมแล้วต้องคืนทรัพย์สินให้ด้วยหรือไม่ เพราะถ้าคืนกฎหมายฉบับนี้ก็เข้าข่ายเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ต้องส่งไปขอความรับรองจากนายกฯ ก่อนจึงจะบรรจุในระเบียบวาระได้ หรือให้เป็นอำนาจของที่ประชุมร่วมกันของประธานสภา และประธาน กมธ.ทุกคณะ เพื่อชี้ขาดว่า กฎหมายนี้เกี่ยวกับการเงินหรือไม่ จึงจะเข้าสู่วาระได้ การที่ประธานรวบรัดตัดสินใจบรรจุเข้าระเบียบวาระทันที ทำให้เกิดข้อสงสัย ซึ่งเราต้องการความกระจ่าง และอยากให้ถาม พล.อ.สนธิ ว่า นอกจากล้างความผิดแล้วเป็นการคืนทรัพย์สินด้วยหรือไม่
นายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า ได้วินิจฉัยไปแล้วว่าเป็นเรื่องด่วน และไม่เกี่ยวกับกฎหมายการเงิน ถือว่าประธานได้วินิจฉัยไปแล้วอย่างถูกต้องทุกอย่าง และหากเมื่อมีสมาชิกเสนอญัตติให้มีการเลื่อน รวมทั้งมีผู้รับรองถูกต้องแล้ว ตนก็ต้องถามว่าในเมื่อมีคนเสนอให้เลื่อนญัตติและมีผู้รับรอง จะมีคนใดเห็นเป็นอื่น
ด้าน นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายอ้างมาตรา 5 ในร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง บอกให้ยกเลิกผลสอบของ คตส.ต้องกลับมาเหมือนไม่เคยมีความผิด ถ้าอย่างนั้นก็ต้องตั้งงบแผ่นดิน 4.6 หมื่นล้านบาท เพื่อชดเชยเงินคืน จึงเป็นการยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ของ พล.อ.สนธิ ส่งผลให้มีการคืนเงินชัดเจน ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินแน่นอน เมื่อดูในมาตรา 142 ประกอบมาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายที่เสนอโดยส.ส.หากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินต้องให้นายกฯ เซ็นรับรองก่อน
นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้ถามว่า ประธานเอาอำนาจอะไรมาวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน และไม่เกี่ยวกับเรื่องการเงิน ดังนั้น อยากให้ประธานได้ชี้แจงด้วยว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน และไม่เกี่ยวกับเรื่องการเงิน ดังนั้น อยากให้ประธานได้ชี้แจงด้วยว่า พ.ร.บ.นี้มันเร่งด่วนตรงไหน ซึ่ง นายสมศักดิ์ ได้ตัดบทว่า ได้วินิจฉัยแล้วว่าไม่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินถือว่าเรื่องนี้จบไปแล้ว ตนยืนยันว่า ประธานได้วินิจฉัยอย่างถูกต้อง และบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมแล้ว โดยตนวินิจฉัยตามข้อบังคับที่ 42 ว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน
ซึ่งระหว่างที่ นายสมศักดิ์ ชี้แจง ได้มี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พากันยกมือประท้วง พร้อมกับส่งเสียงด่าทอนายสมศักดิ์ ถึงการทำหน้าที่ประธานกันตลอดเวลา
นายวิทยา ลุกขึ้นตอบโต้อีกครั้งว่า อยากให้ประธานโผล่หน้าออกไปดูนอกสภาก่อน ที่จะตอบว่าเอาส่วนไหนวินิจฉัย ว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะกฎหมายทุกฉบับเราไม่สามารถเขียนขึ้นมาเองได้ แม้แต่ พล.อ.สนธิ ก็ไม่ได้เขียนเอง ไม่รู้มีใครยัดมือใส่ให้มาหรือไม่ และยืนยันว่า ไม่เคยก้าวร้าวประธาน แต่ถามหาเหตุผล
“ท่านต้องกลับไปถามนายกฯ ว่า เงิน 4.6 หมื่นล้าน ที่ยึดมาจะให้คืนให้พี่ชายเอากับเขาด้วยหรือไม่ แล้วค่อยเอากลับเข้ามาในสภา อย่าใช้เสียงข้างมากลากไป ทุกอย่างมันเคยเกิดขึ้นมาแล้ว กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมตอบสนอง” ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ฝ่ายค้านจะพยายามจี้ให้นายสมศักดิ์ ชี้แจงถึงเหตุผลเร่งด่วนที่ต้องรีบบรรจุระเบียบวาระ แต่ นายสมศักดิ์ ยังไม่ยอมตอบว่าเร่งด่วนอย่างไร เพียงแต่ยืนยันถึงข้อบังคับที่ให้อำนาจ และได้วินิจฉัยไปแล้วทุกอย่างถือว่าจบ
ขณะที่ นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ประท้วงว่า ฝ่ายค้านไปบังคับให้ พล.อ.สนธิ ชี้แจงว่า ต้องคืนทรัพย์สินให้ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่ เพราะเป็นคนร่างกฎหมาย ถ้าตนจะถามบ้างว่าคนที่ได้ค่านายหน้าจากการยึดทรัพย์กลัวจะได้เงินคืนใช่หรือไม่
ด้าน นายสมศักดิ์ พยายามชี้แจงว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องการมองต่างมุม เหตุผลที่วินิจฉัยว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะผลโพลทุกโพลที่ไปสำรวจมาเขาต้องการอยากเห็นความปรองดอง ส่งผลให้ฝ่ายค้านพากันส่งเสียงโห่ไม่ยอมฟัง ยกมือประท้วง ขณะที่บางคนชี้หน้าด่ากันอย่างชุลมุน
ฝ่าย นพ.ชลน่าน ยืนยันที่จะเสนอญัตติให้เลื่อนวาระการพิจารณาขึ้นมา หากฝ่ายค้านจะคัดค้านก็เสนอญัตติมา แต่หากไม่เสนอญัตติก็แสดงว่ายินยอม ส่วนจะเป็นเรื่องการเงินหรือไม่ให้ไปอภิปรายหลังจากนั้น ขณะที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ต่างสนุบสนุนให้รีบลงมติโดยเร็ว ส่วนนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พยายามคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เพราะมีผู้ชุมนุมอยู่หน้าสภาจำนวนมาก จึงต้องทำตามความต้องการของกลุ่มคนเหล่านั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในที่ประชุมยังคงวุ่นวาย เนื่องจากฝ่ายค้านไม่ยินยอมให้ดำเนินการลงมติ และขอให้ นายสมศักดิ์ แสดงผลโพลที่อ้างถึง และมีหลายโพลที่ไม่เห็นด้วย
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้คาดผ้าที่ศีรษะพร้อมข้อความ “สายล่อฟ้า” เพื่อเป็นสัญลักษณ์คัดค้านการ พ.ร.บ.ปรองดอง และ ยืนยันว่า ประธานไม่มีสิทธิ์บรรจุเข้ามา เพราะขัดรัฐธรรมนูญถึง 3 มาตรา ไม่ควรจะดึงดันต่อไป หากเป็นตนจะฉีกทิ้ง จากนั้นได้ฉีกร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับหนึ่งทิ้ง
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ประท้วง นายวรชัย ว่า พูดจาเสียดสีทำนองพวกตนแสดงความเห็นตามแรงกดดันข้างนอก เพราะพวกตนทำตามหน้าที่ ยืนยันว่า ประธานจะมาถามมติเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะญัตติโมฆะด้วยตนเองอยู่แล้ว เพราะประธานใช้อำนาจผิดรัฐธรรมนูญ ไม่มีสิทธิ์วินิจฉัยว่าร่างนี้เป็นเรื่องการเงินหรือไม่ รัฐธรรมนูญใหญ่กว่าข้อบังคับ ถ้าประธานไม่เคารพรัฐธรรมนูญ พวกตนก็ไม่เคารพประธาน
จากนั้น นายสมศักดิ์ ได้สั่งพักการประชุมประมาณ 15 นาที เมื่อเปิดประชุมอีกครั้ง นายสมศักดิ์ ได้ขอร้องให้ทุกคนรักษามารยาท เพราะอยากให้มีความปรองดองเกิดขึ้นในสภา
นายสุเทพ กล่าวว่า ประธานต้องชี้แจงว่า ทำไมถึงต้องพักการพักการประชุม เพื่ออะไร ต้องมีคำตอบ ถ้าไม่มีก็จะประท้วงต่อไป ถ้าดึงดันฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับนี้ใช้ไม่ได้อีกต่อไป
นายสมศักดิ์ แจง ตนเห็นว่า บรรยากาศไม่ดีเลย พัก 15 นาที เพื่อให้บรรยากาศลดลงหน่อย
แต่ นายสุเทพ ยังคงยืนยันว่า พิจารณาต่อไปไม่ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญต้องไปร่วมประชุมกับประธานกรรมาธิการทั้ง 35 คณะก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อไม่มีทางออก นายสมศักดิ์ จึงเปิดโอกาสให้สมาชิกแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ นายพีระพันธ์ พาลุสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวสนับสนุน นายสมศักดิ์ โดยอ้างข้อบังคับการประชุมข้อ 111 ที่ว่า หากประธานวินิจฉัยแล้วว่าไม่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน และได้แจ้งให้ผู้เสนอร่างได้ทราบ โดยผู้เสนอร่างไม่มีการคัดค้านภายใน 7 วัน ก็ถือว่าร่างนั้นไม่ได้เป็นกฎหมายการเงิน และ พล.อ.สนธิ ก็ไม่ได้คัดค้านอะไร อีกทั้งไม่มีข้อความใดในร่าง พ.ร.บ.บอกต้องไปคืนเงิน และที่ผ่านมา กฎหมายนิรโทษกรรมไม่เคยเป็นกฎหมายการเงิน
นายสุเทพ กล่าวว่า ใครจะอ้างอย่างไรก็ตาม แต่ข้อบังคับไม่สามารถเหนือรัฐธรรมนูญได้ เวลานี้ทุกคนในที่ประชุมมีข้อสงสัย ให้ประธานไปเอาคำรับรองนายกฯมา หรือไปเรียกประชุมประธานกรรมาธิการ 15 วัน เท่านั้น ถ้าดึงดันให้เลื่อน ถือว่าทำผิด เพราะญัตติไม่สมบูรณ์ สภาพิจารณาต่อไม่ได้ ต้องไปทำให้ถูกเสียก่อน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เสนอว่า ประธานต้องหาคำตอบให้ได้ก่อนว่าการบรรจุร่าง พ.ร.บ.ที่สมาชิกสงสัยว่าเป็นร่างเกี่ยวกับการเงินนั้นถูกต้องหรือไม่ ก่อนที่จะไปพิจารณาญัตติเลื่อนวาระหรือไม่เลื่อน โดยประธานต้องดูว่า ถ้าไม่ใช่ ครม.เป็นเจ้าของร่างต้องให้นายกฯรับรอง เพราะถือเป็นสิทธิ์ฝ่ายบริหาร เพราะอาจจะสร้างภาระผูกพันที่กระทบกับงบแผ่นดินในอนาคต จึงต้องวินิจฉัยเรื่องนี้ทันทีเมื่อมีข้อสงสัย กรณีนี้ไม่เกี่ยวกับข้อบังคับ 111 ตามที่อ้าง แต่ปัญหานี้ คือ ประธานเห็นว่า ไม่เข้ากฎหมายการเงิน แต่สมาชิกบางส่วนเห็นต่าง และกฎหมายให้อำนาจกับที่ประชุมประธานกรรมาธิการร่วม เพราะมีบางมาตราเขียนว่า ถ้าใครได้ผลกระทบจากคณะปฏิวัติ ให้ถือว่าไม่เป็นผู้กระทำความผิด และให้ถือว่าไม่เคยต้องคำพิพากษาคดีที่ดินรัชดาของ พ.ต.ท.ทักษิณ
ซึ่งระหว่างนี้มี ส.ส.พรรคเพื่อไทย พากันประท้วงว่า นายอภิสิทธิ์ อภิปรายออกนอกประเด็น ขอให้มีการลงมติว่าจะเลื่อนหรือไม่ค่อยมาพิจารณากันในแต่ละประเด็น ซึ่ง นายสมศักดิ์ ได้กล่าวย้ำอีกว่า ประเด็นคือบรรจุแล้ว ชอบหรือไม่ชอบอยู่ที่การตีความประเด็นที่เราต้องคุยกันคือ จะเลื่อนหรือไม่เลื่อน ดังนั้น ตนขอให้มีการลงมติว่าจะเลื่อนหรือไม่ก่อน ค่อยมาพูดกัน ส่งผลให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ส่งเสียงโห่ร้องด้วยความไม่พอใจต่อคำวินิจฉัยของประธาน
นายอภิสิทธิ์ อภิปรายต่อว่า หากมีการประชุมว่าเป็นกฎหมายการเงิน ก็ส่งให้นายกฯ รับรอง ถ้าไม่เป็นก็มาพิจารณาว่าจะเลื่อนหรือไม่ ทั้งนี้ หากประธานบอกว่า ร่างนี้ไม่เป็นกฎหมายการเงิน แม้จะลบล้างความผิดก็จะต้องไม่มีการคืนเงินให้ ประธานก็ต้องยืนยันว่าจะไม่มีการคืนเงิน และรัฐบาลชุดต่อๆ ไป ก็ต้องไม่มีการคืนเงิน แต่หากร่างกฎหมายนี้เป็นกฎหมายการเงินก็ต้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เซ็นรับรองก่อน จะเอาอย่างไร เพราะหากเห็นว่าลบล้างคำพิพากษาโดยไม่ต้องคืนเงินก็มาพิจารณากัน
นพ.ชลน่าน ประท้วงว่า สิทธิของผู้สงสัยเวลาใดถึงจะเป็นเวลาสงสัย และประเด็นที่ต้องแยกระหว่างอำนาจของประธาน และการพิจารณาของสภา ซึ่งอำนาจประธานมีอำนาจบรรจุเรื่องต่างๆ เข้าสู่ระเบียบวาระ ส่วนสิทธิของผู้สงสัย กรณีเจ้าของญัตติไม่สงสัยติดใจ ถือเป็นสิทธิของเขา ข้อบังคับ 111 เป็นการสงวนสิทธิ์ของผู้เสนอร่าง ซึ่งข้อนี้สมาชิกในสภาสงสัยได้ เมื่อนำร่าง กม.นี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณา ถึงจะมีสิทธิสงสัยได้ หากยังไม่นำเข้าสู่การพิจารณา ท่านจะถามข้อสงสัยได้อย่างไร หากท่านเสนอญัตติสู้เวลานั้นสามารถสงสัยได้ทันที ไม่ใช่แค่เห็นอยู่ในระเบียบก็สงสัยว่าเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ กระบวนการพิจารณาเริ่มเมื่อมีผู้เสนอญัตติ ประเด็นนี้จึงยังพูดไม่ได้ เมื่อมีผู้เสนอญัตติเป็นอื่นก็แสดงว่าสภารับญัตตินั้น จะอภิปรายกันอย่างไรก็ขอให้เข้าสู่ญัตติก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการประชุมยังคงวุ่นวายสับสน มีการถกเถียงกันในประเด็นร่างพ.ร.บ.ปรองดอง เป็นกฎหมายเกี่ยวข้องกับการเงิน ที่ นายสมศักดิ์ ไม่มีอำนาจบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุม เพราะต้องให้ ครม.หรือนายกฯ เซ็นรับรองก่อน โดยช่วงหนึ่งนายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นแสดงความไม่พอใจที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ส่งเสียงโห่ในสภาเป็นระยะ ระหว่างที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย พยายามอภิปรายสนับสนุนการวินิจฉัยของนายสมศักดิ์ โดยกล่าวว่าอย่างมีอารมณ์ว่า “โห่ ทำเหี้ยอะไร” แต่สุดท้ายก็ยอมถอนคำพูด
นายสมศักดิ์ พยายามที่จะลากให้การประชุมเดินไปข้างหน้า โดยขอร้องให้สมาชิกมีมารยาท และให้เกียรติประธาน เพราะมีบางคนบอกว่าใช้เวลาถกเถียงเรื่องนี้มา 2 ชั่วโมงแล้ว ควรจะได้ข้อยุติได้แล้ว ทำให้ นายธนา ชีรวนิช ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ย้อนถามทันทีว่า ทำไมถึงรีบร้อนไปไหน ใครที่บอกว่าประชุมกันมานานเกินไปแล้ว เพราะสมาชิกพึ่งประชุมมาได้แค่ 2ชั่วโมง ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ ประธานใช้ไม่ได้ นี่ไม่ใช่บริษัท
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลา 18.00 น.นายสมศักดิ์ ได้ตัดบทให้มีการลงมติในญัตติ โดยไม่ฟังเสียงคำคัดค้านของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่กำลังอภิปรายประท้วง ทำให้บรรยากาศการประชุมระอุขึ้นมาทันที โดยฝ่ายค้านได้ลุกฮือจากที่นั่ง บางส่วนได้ลุกขึ้นไปล้อมตัว นายสมศักดิ์ บนบัลลังก์ อาทิ นายอภิชาติ สุภาแพ่ง ส.ส.เพชรบุรี นายกุลเดช พัวพัฒนกุล ส.ส.อุทัยธานี พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีการยื้อยุดให้ นายสมศักดิ์ ลงจากบัลลังก์ แต่ นายสมศักดิ์ยังคงนั่งต่อไปด้วนสีหน้าเคร่งเครียด ขณะที่ ส.ส.ทั้งหมดต่างลุกฮือกันชุลมุน มีการเผชิญหน้ากันระหว่าง ส.ส.พรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ ท่ามกลางเสียงตะโกนด่า ของนายธนาว่า “เผด็จการรัฐสภาหรือ จะทำอย่างนี้หรือ ไอ้ค้อนปลอมตราดูไบ เป็นลูกจ้างของใครหรือเปล่า จะรีบไปไหน พวกผมเป็น ส.ส.ไม่ได้เป็นขี้ข้าของใคร ผมเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย ผมมีสิทธิ์ทำหน้าที่ในรัฐสภา ท่านมีสิทธิ์อะไรมาทำแบบนี้”
ขณะที่ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรัฐสภา จำนวน 30 คน ได้มาล้อมตัว นายสมศักดิ์ ที่มีสีหน้าซีดเซียวอย่างเห็นได้ชัด หลังจากความวุ่นวายเกิดขึ้นประมาณ 10 นาที นายสมศักดิ์ ได้สั่งพักการประชุม 15 นาที
จากนั้นเมื่อเวลา 18.15 น.นางสาวรังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความไม่พอใจ นายสมศักดิ์ ประธานในที่ประชุม หลังสั่งพักการประชุม และลุกออกจากเก้าอี้ ได้เดินขึ้นไปบนบัลลังก์ที่ประชุมแล้วยกเก้าอี้จำนวน 3 ตัวออกไป ระหว่างนั้น น.ส.เปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย ได้ปีนข้ามเก้าอี้ยกเท้าหวังจะถีบมาที่ตัว น.ส.รังสิมา โดยมี น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ปรี่เข้าไปร่วมด้วย ทำให้ ส.ส.ชายของพรรคประชาธิปัตย์ รีบเข้าไปกันและดึงตัว น.ส.รังสิมา ออกมา
ภายหลังที่ประชุมสภาได้ดำเนินการประชุมอีกครั้งเวลา 18.30 น.โดยมี นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาคนที่ 2 เป็นประธานในที่ประชุม ซึ่ง ส.ส.ฝ่ายค้าน พากันตะโกนเรียกร้องให้ปิดการประชุม
ขณะที่ นางสาวรังสิมา ได้โทรศัพท์เข้ามาในรายการร้อยข่าวยามเย็น ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมบลูสกาย แชนแนล กล่าวว่า นางสาวขัตติยา พยายามมาแย่งเก้าอี้กลับคืนไปที่เดิม มีการยื้อแย่งกัน โดยยืนยันว่า ไม่ได้ตบ นางสาวขัตติยา แต่เป็นจังหวะที่ฝ่ามือไปโดนที่ใบหน้า แต่ถึงกระนั้น นางสาวรังสิมา ได้กล่าวเรียกร้องให้ประชาชนที่อยู่ภายนอกเข้าไปด้านในรัฐสภา ขณะที่ นางสาวขัตติยา ได้เขียนข้อความผ่านทางเว็บไซต์ทวิตเตอร์ส่วนตัว ยืนยันว่าไม่ได้โดนตบ และกล่าวอีกว่า ยังแรงดีอยู่