xs
xsm
sm
md
lg

ผี 111 ฉลองพ้นแบน! “อ๋อย” ลอยแพ “ธรรมรักษ์” - “แม้ว” ปัดลืมคุณแดง อ้างพูดไม่ชัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อดีต กก.บห.ไทยรักไทย ฉลองพ้นโทษแบนคึก “จาตุรนต์” ลอยแพ “ธรรมรักษ์” อ้างผิดเฉพาะตัว จวกคดียุบพรรคใช้อำนาจตุลาการทำลายนิติธรรมร้ายแรง “โภคิน” หนุน พ.ร.บ.ปรองดอง ยัน ม.309 ขวางไม่ได้ “ทักษิณ” โฟนอิน ขอบคุณลูกน้องเสียสละ เย้ยรัฐประหารขวางชนะเลือกตั้งไม่ได้ วอนช่วยทำพรรคแข็งแกร่ง ลืมความเจ็บปวด แนะดูเป็นบทเรียน ขอแดงช่วยหนุน ลั่นเป็นคนกตัญญู ไม่เคยลืมบุญคุณ อ้างเฉยพูดไม่ชัดได้ยินไม่ชัดทำสื่อสารผิด โบ้ยมีคนเสี้ยม

วันนี้ (30 พ.ค.) อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ได้จัดกิจกรรมงาน 5 ปี เป็นแรงใจสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง หลังจากพ้นโทษการถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 5 ปี โดยมีพิธีทำบุญเลี้ยงพระเพลจำนวน 9 รูป จาก 9 วัด ในเวลา 11.00 น. และปล่อยนกพิราบขาวจำนวน 111 ตัว ออกจากกรง พร้อมทั้งปล่อยลูกโป่งสีขาว 111 ลูกด้วย โดยช่วงบ่ายได้มีการเสวนาเรื่อง 111 ไทยรักไทย เกี่ยวกับผลกระทบจากการยุบพรรคไทยรักไทยและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งกระบวนการและความเสียหายที่ต่อเนื่องมา โดยมีนายโภคิน พลกุล นายเสนาะ เทียนทอง นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา และนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ เข้าร่วมเสวนาที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์ ขณะที่ไฮไลต์ของการเสวนาจะอยู่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่จะสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตเข้ามาร่วมพูดคุยด้วยในเวลาประมาณ 16.00 น.และจะมีการอ่านแถลงการณ์ร่วมของสมาชิก 111 ไทยรักไทย ส่วนในช่วงค่ำสมาชิกบ้านเลขที่ 111 จะร่วมกันจัดงานเลี้ยงเปิดใจหลังพ้นโทษที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์

นายจาตุรนต์เปิดเผยถึงกรณีที่ศาลสั่งจำคุก พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยว่า ถือเป็นความบังเอิญที่ศาลตัดสินในช่วงเวลาเดียวกันกับที่อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยพ้นโทษ แต่มองว่าจะไม่ส่งผลต่อการปลดล็อกสมาชิกบ้านเลขที่ 111 เพราะเป็นคดีตัดสินเฉพาะตัวบุคคล

“การที่ศาลสั่งจำคุก พล.อ.ธรรมรักษ์ ไม่ส่งผลกระทบต่อสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ที่กำลังจะพ้นโทษ เเละไม่ทำให้การวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยในอดีตมีความชอบธรรมขึ้นมา เพราะคดียุบพรรคไทยรักไทยเป็นการใช้อำนาจตุลาการโดยคณะรัฐประหาร ถึงรัฐธรรมนูญปี 50 จะกำหนดให้ความผิดของกรรมการบริหารพรรคคนเดียวส่งผลให้ยุบพรรคได้ แต่กฎหมายก่อนการรัฐประหารไม่ได้กำหนดไว้ ดังนั้นการใช้อำนาจย้อนหลังและการตัดสินให้ความผิดเฉพาะตัวบุคคลเป็นความผิดของคนทั้งพรรค ถือว่าทำลายหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง” นายจาตุรนต์กล่าว

ขณะที่นายโภคินกล่าวถึงการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสู่การพิจารณาของสภาว่า เห็นด้วยเพราะมีการนิรโทษกรรมและล้างคำพิพากษาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึง คตส. ที่ล้วนมีที่มาจากการรัฐประหาร และมองว่าไม่ขัดต่อมาตรา 309 เพราะมาตรานี้คณะรัฐประหารใช้นิรโทษกรรมตัวเองถือว่าไม่ชอบธรรม จะนำมาขวางการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองไม่ได้

“รัฐประหารล้มกฎหมายชั่วข้ามคืน แต่ฝ่ายประชาธิปไตยต้องใช้เวลานานกว่าจะแก้กฎหมายสักฉบับ สงสัยหรือไม่ว่าเหตุใด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถึงสามารถเดินทางเข้าได้ทุกประเทศ ยกเว้นประเทศไทย แสดงว่ากระบวนการยุติธรรมไทยอยู่สูงกว่าทั้งโลกใช่หรือไม่” นายโภคินกล่าว

ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ โฟนอินเข้ามาในระหว่างการจัดกิจกรรมโดยระบุว่า ขอขอบคุณทุกคนที่เสียสละมาร่วมทำงานการเมือง เพราะ 5 ปีที่ผ่านมาทุกคนต้องทิ้งอาชีพมาทำงานไม่มีตำแหน่งและค่าตอบแทน สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการรัฐประหารที่เกิดกับรัฐบาลที่ได้รับความนิยมสูงมาก ซึ่งการรัฐประหารที่เกิดขึ้นไม่ใช่ใช้กำลังทหารอย่างเดียว แต่มีกระบวนยุติธรรมด้วย แต่ก็พิสูจน์แล้วว่า ไม่ว่าการเลือกตั้งกี่ครั้ง ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน มาเป็นพรรคเพื่อไทย เราก็ชนะการเลือกตั้งมาตลอด

พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า หลังจากวันนี้เราคงจะกลับมาช่วยกันทำให้พรรคเพื่อไทยแข็งแกร่ง ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อประเทศ ขอให้ลืมความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขอให้เราเป็นเหยื่อการเมืองเพียงพอแล้ว เพราะรู้สึกห่วงสถานะประเทศ เพราะเงินคงคลังในประเทศเหลืออยู่น้อย ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผันผวน การเก็งกำไร

“หากประเทศยังขาดความร่วมมือกัน มุ่งเอาชนะคะคานกันจะทำให้ประเทศเสียโอกาส หลายคนมองเรื่องของตัวเองมากกว่าบ้านเมือง อยากให้หันไปดูพม่าหลังเปิดประเทศแล้วเป็นที่จับตามองของหลายประเทศ เพระโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปเยอะ ขอให้ทุกคนเคารพกติกา คนรักษากติกาก็ต้องเป็นธรรม สิ่งที่เกิดขึ้น 5 ปีที่ผ่านมา ควรเป็นบทเรียนที่ต้องศึกษาไว้ไม่ให้เกิดขึ้นอีก” พ.ต.ท.ทักษิณกล่าว

นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ขอให้คนเสื้อแดงสนับสนุนบุคลากรทางการเมืองที่มีอยู่เพื่อมาพัฒนาประเทศ ถ้าไม่รักษาไว้จะไม่มีคนเข้ามาช่วยงาน เราต้องส่งเสริมประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยให้มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และยึดโยงอำนาจทั้ง 3 มาที่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนมีความสุข ประเทศก้าวหน้า มีการถ่วงดุลที่เหมาะสม ทั้งนี้ การพูดของคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา วันนั้น พูดไม่ชัด เสียงได้ยินไม่ชัด ทำให้ไม่มีสมาธิ พูดไม่ครบประเด็น ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ต้องขออภัยคนเสื้อแดง

“ผมเป็นคนกตัญญู คนให้น้ำแก้วเดียวผมก็ต้องทดแทนคุณ ผมไม่ลืมบุญคุณใคร ผมไม่เอาตัวรอด แต่มีคนเอาไปเสี้ยม” พ.ต.ท.ทักษิณกล่าว

นอกจากนี้ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ยังออกแถลงการณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปีแห่งการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองโดยไม่ชอบธรรม โดยระบุว่า พรรคไทยรักไทยได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2541 เพื่อดำเนินงานทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่ยกร่างโดยภาคประชาชนตามแนวทางการปฏิรูปการเมืองที่เสนอโดยภาคประชาชนเช่นกัน ด้วยการนำเสนอนโยบายทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่จับต้องได้ ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 พรรคไทยรักไทยโดยการนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 248 คนจากทั้งหมด 500 คน อีกสี่ปีต่อมา ภายหลังการนำนโยบายต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง ในเดือนมกราคม 2548 พรรคไทยรักไทยโดยการนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เช่นเดิม ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 377 คน จากทั้งหมด 500 คน นับได้ว่าเป็นครั้งแรกแห่งประวัติศาสตร์การเมืองและการเลือกตั้งของไทย ที่พรรคการเมืองพรรคเดียวได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนอย่างท่วมท้นและไม่เคยปรากฏมาก่อนตลอดช่วงเวลา 80 ปี ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475

แต่แล้วก็เกิดการรัฐประหารขึ้น เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 27 ในวันที่ 30 กันยายน 2549 เพื่อให้มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองทุกคนในกรณีที่มีคำสั่งยุบพรรคการเมือง และในวันรุ่งขึ้นคือ 1 ตุลาคม 2549 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 โดยให้มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นแทนศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อดำเนินคดีและสั่งยุบพรรคการเมือง ตลอดจนการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดใหม่แทนชุดเดิม การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นใหม่ ทำหน้าที่เช่นเดียวกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งการกระทำที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมอีกมากมาย

ในที่สุด เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ได้มีคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทย และเสียงข้างมากของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญนั้นได้ลงมติให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้งหมด ด้วยการบังคับใช้กฎหมายย้อนหลัง โดยผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิดังกล่าว ไม่ได้รับการแจ้งข้อหา ไม่มีการเปิดโอกาสให้ชี้แจง หรือต่อสู้คดีแต่อย่างใด อันถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างชัดแจ้ง และเป็นการดำเนินการที่มีการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อลบพรรคไทยรักไทยซึ่งมีสมาชิกกว่า 14 ล้านคน ออกจากสารบบพรรคการเมือง ตลอดจนเพื่อสกัดกั้นกรรมการบริหารพรรคทั้ง 111 คน มิให้เป็นกำลังในพรรคการเมืองที่ต่อต้านการรัฐประหาร

ผลพวงของการรัฐประหาร มิได้จบสิ้นลงเพียงแค่การยุบพรรคและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยเท่านั้น การดำเนินคดีโดยคณะกรรมการ คตส.และ ป.ป.ช. ที่ได้เอกสิทธิ์ตามมาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 และมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 หรือฉบับปัจจุบัน ต่อบุคคลต่างๆ ล้วนขัดต่อหลักนิติธรรมและขาดความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ ให้ถือว่าการกระทำของคณะกรรมการดังกล่าว เป็นการชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แม้ว่าอันที่จริงแล้ว หลายกรณีอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเองก็ตาม ทั้ง 2 มาตราที่กล่าวมา บัญญัติขึ้นเพื่อเป็นการนิรโทษกรรมการกระทำของคณะรัฐประหาร และผู้ที่ปฏิบัติตามประกาศคำสั่งของคณะรัฐประหาร ที่ได้ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าเสียดายที่ศาลทั้งหลายต่างก็ยอมรับว่า ผู้ที่ทำรัฐประหารสำเร็จเป็น รัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจสูงสุดในประเทศ คำสั่งหรือประกาศของหัวหน้า หรือคณะรัฐประหารมีผลใช้บังคับทั้งในทางนิติบัญญัติ บริหารหรือตุลาการ นั่นคือใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยได้ทุกรูปแบบ แทนที่ได้ทุกสถาบัน แม้จะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือหลักนิติธรรมก็ตาม หรือแม้แต่การแต่งตั้งคณะกรรมการ คตส.และ ป.ป.ช. ซึ่งคณะรัฐประหารยอมรับในระบบกฎหมายที่ดำรงอยู่ว่าต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่ก็มิได้มีการดำเนินการให้มีการโปรดเกล้าฯ กลับถือว่าเป็นเรื่องของรัฏฐาธิปัตย์ หากศาลทั้งหลายจะไม่ยอมรับในอำนาจอันไม่ชอบธรรม ขัดต่อหลักนิติธรรมของคณะรัฐประหารแล้ว ก็จะไม่มีวงจรอุบาทว์เช่นนี้อีกต่อไป และประชาชนก็จะได้เรียนรู้ถึงประชาธิปไตย การเข้าถึงสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพต่างๆ ด้วยชีวิตจริง การสัมผัสจริง อันจะทำให้ระบบการเมืองและนักการเมืองต้องเคารพในสิทธิดังกล่าวของประชาชนยิ่งขึ้น ความขัดแย้งทั้งหลายจะดำรงอยู่ในกรอบของประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ที่ปกป้องดูแลอย่างปราศจากอคติโดยศาลทั้งหลาย สังคมก็จะไม่แตกแยกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เช่นทุกวันนี้

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งจัดให้มีขึ้นโดยคณะรัฐประหาร ยังได้นำบทบัญญัติเรื่องการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นจากประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ดังกล่าว ไปบัญญัติไว้ในมาตรา 237 จนเป็นเหตุให้มีการสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนและพรรคอื่นๆ ในเวลาต่อมา ทั้งๆ ที่มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญนั้นบัญญัติให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 2 มาตรฐานขนานแท้ นั่นคือด้านหนึ่งยืนยันว่า ทุกองค์กรต้องปฏิบัติตามหลักนิติธรรม แต่อีกด้านหนึ่ง กลับรับรองความอยุติธรรมและสิ่งที่ขัดต่อหลักนิติธรรมไว้อย่างชัดแจ้ง จึงไม่น่าแปลกใจที่พรรคการเมืองบางพรรคและบุคคลบางกลุ่ม จะปกป้องรัฐธรรมนูญที่เป็นเครื่องมือแห่งการข่มเหงของพวกตนไว้อย่างเหนียวแน่น ในขณะที่พรรคการเมืองและประชาชนที่รักประชาธิปไตยนั้น ก็ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมประชาธิปไตย หลักนิติรัฐและนิติธรรมอย่างแท้จริง

การรัฐประหารและผลพวงแห่งการรัฐประหาร ทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศไทยในทุกด้าน เราหวังว่าประชาชนชาวไทยจะตระหนักและจดจำผลแห่งความเสียหายดังกล่าว และแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน เป็นมติมหาชนว่า ประชาชนชาวไทยจะไม่ยอมรับและไม่อดทนต่อการรัฐประหารอีกต่อไป ทั้งจะต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบอย่างเด็ดเดี่ยว และที่สำคัญ ในช่วงนี้ที่กำลังจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้น พวกเราทุกคน พร้อมจะร่วมมือกับพี่น้องประชาชนและกลุ่มคนทุกฝ่าย ช่วยกันผลักดันให้ประชาธิปไตยที่แท้จริงได้เกิดขึ้นในสังคมไทยสืบไป





กำลังโหลดความคิดเห็น