xs
xsm
sm
md
lg

ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับ ‘เลดี้ กาก้า’ ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหตุการณ์รัฐประหาร ปี พ.ศ. 2549 ที่ทหารยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ประชาชนขานรับอย่างคับคั่ง มาวันนี้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารคราวนั้น กำลังยึดอำนาจผ่านการเสนอร่างพ.ร.บ.ปรองดอง อีกครั้งเพื่อคืนอำนาจและคืนทรัพย์สินให้อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
นักกฎหมายอิสระ
 
วันที่ศิลปิน “เลดี้ กาก้า” มาเปิดการแสดงดนตรีที่เมืองไทยนั้น เป็นวันเดียวกันกับที่ “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ...” (เสนอโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และคณะ) ถูกบรรจุเป็นวาระการประชุม “เรื่องด่วน” ของสภาผู้แทนราษฎรช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้

“เลดี้ กาก้า” เองได้ใช้ผลงานเพลงยอดนิยม “Bad Romance” ถ่ายทอดภาพผลกรรมของการใช้อำนาจแย่งชิงสิ่งที่สวยในรูป แต่จูบไม่หอม จนสุดท้ายผู้มีอำนาจที่คิดว่าแน่ก็ได้แต่ไหม้แช่คาเตียง

คำถามคือ ร่าง พ.ร.บ. “จูบปาก” ที่ว่า จะพบจุดจบรักขมแบบเดียวกันหรือไม่?

ร่าง พ.ร.บ.ฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ 3 ประการ คือ

(1) มาตรา 3 และมาตรา 4 เป็นการ “นิรโทษกรรม” ให้แก่ผู้ที่กระทำผิดใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2548 จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้อง กล่าวคือ สิ่งที่ทำไปนั้นให้ถือว่าไม่ผิด

(2) มาตรา 5 ประกอบมาตรา 4 เป็นการ “ล้างผลทางกฎหมาย” ของการใช้อำนาจโดยผู้ที่ถูกแต่งตั้งโดยผู้กระทำรัฐประหาร 19 กันยาฯ (คปค.) กล่าวคือ การลบล้างผลการใช้อำนาจ เช่น ล้างผลการดำเนินคดีของ คตส. ตลอดจนคำพิพากษาที่ตามมา แต่ไม่ได้นิรโทษกรรมว่าการกระทำใดเป็นให้ถือว่าไม่ผิดหรือไม่

(3) มาตรา 6 เป็นการ “คืนสิทธิการเลือกตั้ง” ให้แก่ผู้ที่เคยเป็นกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบ เช่น พรรคพลังประชาชน

ผู้เขียนมีข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังนี้

1. ร่าง พ.ร.บ.ฯ มีข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่?

หากมีการเดินหน้าพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังที่ปรากฏ ก็อาจมีผู้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ฯ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในประเด็นต่อไปนี้

1.1 ร่าง พ.ร.บ.ฯ มาตรา 5 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 309 หรือไม่?

ผู้ที่เห็นว่าขัดอาจมองว่า ร่าง พ.ร.บ.ฯ มาตรา 5 เป็นการล้มล้างผลทางกฎหมายที่สืบทอดมาจากการรัฐประหารโดยตรง เช่น การใช้อำนาจโดย คตส. จึงถือว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ซึ่งรับรองสิ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว (2549) ได้รับรองไว้ ซึ่งมาตรา 36 หรือ มาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็ได้รับรองผลทางกฎหมายของการใช้อำนาจโดย คตส.เช่นกัน หากจะล้างผลดังกล่าวได้ก็ต้องกระทำโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ส่วนผู้ที่เห็นว่าไม่ขัด ก็อาจมองว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 309 เพียงแต่รับรองความชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญของการดังกล่าว เช่น การใช้อำนาจโดย คตส. แต่ไม่ได้บัญญัติให้การดังกล่าวมีลำดับศักดิ์เท่ากับรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การกระทำ เช่น การใช้อำนาจโดย คตส.ก็เป็นเพียงการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และย่อมสามารถถูกล้มล้างโดยกฎหมายที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เช่น พ.ร.บ.เช่นกัน ทั้งนี้เพราะมาตรา 5 เองมิได้เป็นการล้มล้างอำนาจของผู้กระทำรัฐประหารโดยตรง เพียงแต่ล้างผลทางกฎหมายจากการใช้อำนาจโดย “องค์กรหรือคณะบุคคล” ที่เป็นผลจากผู้กระทำรัฐประหารเท่านั้น

1.2 ร่าง พ.ร.บ.ฯ มาตรา 6 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 216 และ 237 หรือไม่?

ผู้ที่เห็นว่าขัดอาจมองว่า ร่าง พ.ร.บ.ฯ มาตรา 6 เป็นการแก้ไขคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยยุบพรรคและตัดสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค จึงขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 ซึ่งบัญญัติว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา...” อีกทั้งมาตรา 237 ซึ่งบัญญัติถึงการตัดสิทธิเป็นเวลา 5 ปีที่ชัดเจน ดังนั้น รัฐสภาย่อมไม่อาจตรากฎหมายแก้ไขผลคำวินิจฉัย หากจะกระทำก็ต้องกระทำโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ส่วนผู้ที่เห็นว่าไม่ขัดก็อาจมอง (อย่างลำบาก) ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฯ มาตรา 6 มิได้เป็นการแก้ไขคำวินิจฉัย เพราะพรรคก็ย่อมถูกยุบไปแล้ว และสิทธิก็ถูกตัดไปแล้ว เพียงแต่รัฐสภาจะตรากฎหมายที่ให้สิทธิแก่บุคคลซึ่งเป็นอำนาจที่รัฐสภาจะตรากฎหมายได้

1.3 ร่าง พ.ร.บ.ฯ มาตรา 4 หรือมาตรา 5 หรือมาตรา 6 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง หรือไม่?

หากผู้ใดศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เช่น คดีที่ศาลวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกำหนดจะพบว่า นอกจากศาลรัฐธรรมนูญจะใช้อำนาจพิจารณาความชอบของพระราชกำหนดตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์เฉพาะกรณีที่ฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่แล้ว ศาลยังได้วางหลักทั่วไปว่า ห้ามใช้อำนาจ “โดยไม่สุจริตเพื่อบิดเบือนรัฐธรรมนูญ” อีกด้วย
 
ซึ่งอาจมีผู้มองว่า ศาลกำลังนำหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง มาประกอบการตีความการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ตรากฎหมายนั่นเอง ซึ่งก็มิอาจทราบได้แน่ว่า ศาลจะนำหลักการดังกล่าวมาพิจารณาการตรากฎหมายโดยรัฐสภา ที่เป็นการนิรโทษกรรม หรือเป็นการล้างผลทางกฎหมาย หรือเป็นอาจกระทบต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยรวมทั้งหมดว่า ขัดต่อหลักนิติธรรมหรือไม่

แม้กรณีที่กล่าวมาอาจทำให้บางฝ่ายกังวลว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะตีความให้ร่าง พ.ร.บ.ฯ ตกไปทั้งหมดหรือบางส่วนหรือไม่ แต่สิ่งที่น่าคิดยิ่งกว่านั้นก็คือ หากรัฐสภาปล่อยให้เกิดประเด็นปัญหาที่นำไปสู่การตีความโดยศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จะคุ้มค่าหรือไม่ หากสุดท้ายศาลได้ตีความรัฐธรรมนูญไปในทางที่เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ของลัทธิรัฐประหาร หรือแม้แต่เพิ่มความไม่สมดุลระหว่างอำนาจตุลาการกับอำนาจอื่นให้น่าหนักใจยิ่งไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้?

2. ร่าง พ.ร.บ.ฯ ขัดแย้งกับจังหวะการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่?

ข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฯ ก็คือ รายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ร่วมเข้าเสนอนั้นมีสมาชิกพรรคเพื่อไทยเพียงคนเดียว อีกทั้งหากมองว่าประเด็นของร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่อาจมีผู้มองว่าจำเป็นต้องรอการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ทำให้อดนึกไม่ได้ว่า สุดท้ายร่าง พ.ร.บ.ฯ จะเป็นเพียงเครื่องมือวัดกระแสสังคม ก่อนที่จะมีการดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่ออ้างความชอบธรรมจากการอาศัยกลไกการลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีการสอดแทรกข้อความเรื่องนิรโทษกรรม-ล้างผลคดีจากรัฐประหาร-คืนสิทธิเลือกตั้ง หรือไม่?

ข้อน่าคิดก็คือ แทนที่จะมาถกเถียงถึงร่าง พ.ร.บ.ฯ ประหนึ่งเป็นคำตอบสุดท้ายในตอนนี้ จะดีกว่าหรือไม่หากรัฐสภาจะอาศัยโอกาสในช่วงการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยตรากฎหมายเพื่อส่งเสริมให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้เสียในการปรองดองที่มีข้อจำกัดทางกฎหมาย (เช่น ถูกคุมขัง หรือการถูกห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง) สามารถใช้โอกาสช่วงที่จะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “เป็นการชั่วคราว” เพื่อดำเนินกิจกรรมได้อย่างเสรีในการร่วมแสวงหาวิธีการในการปรองดองในชาติ จนเกิดเป็นข้อเสนอ “ทางเลือก” ซึ่งประชาชนสามารถตัดสินใจลงประชามติเลือก “แนวทางใดแนวทางหนึ่ง” ได้ในวันเดียวกันกับวันลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญต่อไป (แทนที่จะสอดแทรกแนวทางเดียวมาพร้อมกับรัฐธรรมนูญในแบบมัดมือชก) จะกระทำได้หรือไม่?
วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ
3. ใครเป็นผู้ตีความขอบเขตการนิรโทษกรรม และรวมถึงกรณีมาตรา 112 ด้วยหรือไม่?

แม้หากร่าง พ.ร.บ.ฯ ไม่มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็ยังมีปัญหาตามมาว่า ใครคือ “ผู้มีอำนาจตีความ” ว่าการกระทำที่นิรโทษกรรมได้ตามร่าง พ.ร.บ.ฯ มาตรา 4 ที่รวมถึง “การกระทำใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง” มีขอบเขตเพียงใด เพราะแม้ร่าง พ.ร.บ.ฯ จะมีบทขยายความ แต่ก็ไม่ได้กำหนดนิยามที่สิ้นสุดไว้ เช่น อาจมีผู้ถามต่อว่า ความผิดกรณีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะสามารถตีความว่าเป็นเรื่อง “การแสดงออกทางการเมือง” ได้หรือไม่?

ข้อที่น่าคิดก็คือ หากปล่อยให้ตำรวจ DSI อัยการ ศาล ต่างมีอำนาจตีความกันเองในส่วนที่เกี่ยวกับตน ก็อาจมีแนวการตีความที่ไม่ตรงกัน และสุดท้ายหากตีความไปแล้วมีปัญหา ก็จะต้องอาศัยอำนาจตุลาการชี้ขาดหรือไม่? หรือจะมีการเสนอให้มีคณะกรรมการมารับผิดชอบ “การตีความ” หรือ “ขจัดความขัดแย้ง” โดยเฉพาะ?

4. ร่าง พ.ร.บ.ฯ บังคับให้คุณทักษิณต้องกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจริงหรือ?

คำอธิบายที่ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฯ จะลบล้างผลจากการรัฐประหาร แต่ทำให้ “คุณทักษิณ” ต้องกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์อีกครั้งนั้น ก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นดังที่ว่าหรือไม่ เพราะร่าง พ.ร.บ.ฯ มาตรา 5 บัญญัติเพียงว่า เมื่อล้างผลของคดีเดิมแล้ว “ให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อบุคคลที่ได้รับผลกระทบนั้นให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมต่อไป” อีกทั้งให้นำมาตรา 4 มาอนุโลม ซึ่งความหมายโดยรวมแล้ว แปลว่าอะไรก็ยังไม่แน่ชัด และสุดท้ายหากอัยการ หรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีคุณทักษิณวินิจฉัยเองว่า หลักนิติธรรม หมายถึงการไม่ต้องเริ่มต้นคดีใหม่นั้น จะนำไปสู่ปัญหาให้ศาลหรือผู้ใดต้องตีความคำว่า “นิติธรรม” ต่อไปหรือไม่?

5. ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อการปล้นประชาธิปไตย หรือปล้นชีวิต หรือปล้นชาติ ไปจากประชาชน?

ร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้มีปัญหาในเชิงหลักการว่า ขอให้สังคมไทยลืมอดีต แต่ไม่ตอบว่าสังคมไทยจะเดินต่อไปสู่อนาคตอย่างไร ซึ่งอาจเป็นการถอยกลับเข้าสู่วังวนปัญหาเดิม เช่น

- การมุ่งล้างผลการใช้อำนาจโดย “องค์กร” หรือ “คณะบุคคล” ที่เป็นผลพวง “ลำดับรอง” จากการทำรัฐประหาร แต่กลับไม่แตะต้อง “ผู้ทำรัฐประหารลำดับต้น” เช่น คปค. หรือ คมช. ที่กระทำการล้มล้างการปกครองเสียเอง หมายความว่าผู้แทนในสภาฯ กำลังจะยอมรับความมีอยู่ต่อไปของวงจรแห่งลัทธิรัฐประหาร แถมเปิดแนวปฏิบัติให้มีการรอมชอมกันเองภายหลัง ใช่หรือไม่?

- การล้มเลิกการสอบสวนหรือดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งใช้อำนาจต่อประชาชนหรือในทางกลับกัน โดยไม่มีการกำหนดเรื่องการค้นหาความจริงหรือแสดงความรับผิดชอบ ก็คือการกลับไปสู่วังวนของปัญหาการใช้อำนาจรัฐหรือกฎหมู่มาห้ำหั่นกันเองใช่หรือไม่?

- การล้มล้างคดี คตส. โดยไม่มีขั้นตอนที่รัดกุมว่าจะดำเนินคดีใหม่หรือไม่อย่างไร แต่กลับอ้างหลักนิติธรรมอย่างเลื่อนลอย ก็คือการก้าวกลับไปสู่วิกฤตที่ผู้ใช้อำนาจสามารถทุจริตลอยนวลได้ ใช่หรือไม่?

สุดท้ายแล้วเราจะได้ “เรียนรู้อะไร” จากการปรองดองจูบปากที่ว่านี้? อย่างน้อยที่สุด การปรองดองควรต้องประกอบไปด้วยการค้นหาความจริง หรือการยอมรับผิดขอโทษ และหากจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุดก็ยังให้อภัยได้ เช่น ใช้วิธี “รอลงอาญา” (ไม่ว่าจะใช้กับ คมช. นักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ หรือประชาชน) ย่อมจะเหมาะสมกว่าการผูกมัดรัดมือประชาชนให้ทำลืมว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย มิใช่หรือ?

6. ร่าง พ.ร.บ.ฯ จะเป็นโอกาสให้เสื้อเหลือง เสื้อแดง และเสื้อหลากสี หันมาแสวงหาจุดร่วมกันได้หรือไม่?

หากประชาชนในสังคมไทยเริ่มเห็นว่าการปรองดองของผู้มีอำนาจคือพัฒนาการล่าสุดของ “ระบอบอำมาตย์ร่วมสมัย” และสุดท้าย ผู้ที่ประชาชนแต่ละฝ่ายมองว่าเป็นผู้ปล้นประชาธิปไตยก็ดี เป็นผู้ฆ่าประชาชนก็ดี หรือเป็นผู้โกงกินบ้านเมืองก็ดี ต่างก็ไม่ต้องรับผิดถ้วนหน้า แล้วจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ประชาชนทั้งหลายจะหันมาแสวงหาจุดร่วมเพื่อต่อต้าน “ระบอบอำมาตย์ร่วมสมัย” และทำให้เห็นว่า การ “ตีหน้านิ่ง” เล่นไพ่ปรองดองนั้น สุดท้ายก็คือการจูบปากที่จบลงแบบ “Bad Romance” นั่นเอง!
กำลังโหลดความคิดเห็น