ผ่านพ้นไปแล้วกับการประชุมสภาผู้แทนราษฏรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ในวาระแรกเมื่อ 23 พฤษภาคม 2555
อันเป็นงบประมาณที่มีเม็ดเงินทั้งสิ้น 2,400,000 ล้านบาท หรือ 2.4 ล้านล้านบาท
แยกเป็นรายจ่ายประจำ 1,901,911.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2555 61,239.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 79.2 ,รายจ่ายลงทุน 448,938.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2555 10,383.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.7 และรายจ่ายชำระคืนเงินกู้ 49,149.5 ล้านบาท
สำหรับการจัดสรรงบรายจ่ายปี 56 ครั้งนี้ หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณสูงสุด 5 ลำดับแรกประกอบด้วย
1.กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 460,075,180,900 บาท คิดเป็นร้อยละ 19.2 ของวงเงินงบประมาณ
2. งบกลาง จำนวน 319,207,000,000 บาท
3.กระทรวงมหาดไทย จำนวน 309,205,167,300 ล้านบาท
3.กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 214,845,460,700 บาท
4.กระทรวงกลาโหม จำนวน 180,,811,381,800 บาท
5. กระทรวงการคลัง จำนวน 179,249,013,800 บาท
ซึ่งหลังที่ประชุมสภาฯมีการอภิปรายทั้งสนับสนุน-คัดค้านการจัดทำกรอบงบประมาณดังกล่าวจากส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้านเป็นเวลา 3 วันคือ 21-23 พ.ค.ที่ผ่านมา
สุดท้ายที่ประชุมสภาฯ ก็เห็นชอบหลักการในวาระแรกไปด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น คือ เห็นชอบ 274 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง งดออกเสียง 177 และไม่ลงคะแนนเสียง 4 เสียง
ทั้งนี้ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ในปีนี้จะมีด้วยกัน 63 คน
แบ่งเป็นสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี 15 คน พรรคเพื่อไทย 25 คน ประชาธิปัตย์ 16 คน พรรคภูมิใจไทย 3 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 2 คน พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 1 คน และพรรคพลังชล 1 คน
สาเหตุที่คะแนนเสียงเห็นชอบน้อยไปกว่าจำนวนเสียงส.ส.รัฐบาลที่มีอยู่จริง ก็เพราะว่ารัฐมนตรีที่เป็นส.ส.ทั้งหมดงดออกเสียง เนื่องจากเกรงจะเกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน จะมีคนไปร้องว่าออกเสียงขัดรัฐธรรมนูญได้ เพราะรัฐมนตรีแต่ละคนจะต้องเป็นผู้บริหารงบประมาณต่างๆ แล้วมาโหวตเห็นชอบเอง เพื่อตัดปัญหารมต.ทุกคนเลยงดออกเสียง
โดยภาพรวมการอภิปรายงบ 3 วันที่ผ่านพ้นไป พบว่าการอภิปรายของฝ่ายค้านไม่มีอะไรหวือหวาร้อนแรงมากนัก ส่วนใหญ่แค่แตะในภาพรวมของงบตามแผนยุทธศาสตร์ต่างๆที่รัฐบาลจัดทำขึ้น แล้วก็มีการนำประเด็นการเมืองเข้ามาอภิปรายโยงไปถึงกรอบงบประมาณของกระทรวงต่างๆ
อาทิการท้วงติงเรื่องงบประมาณที่จัดทำเพื่อตอบสนองนโยบายประชานิยมต่างๆที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้ง รวมถึงอภิปรายเรื่องความผิดพลาดในเรื่องการบริหารงานของรัฐบาลอาทิ เรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-เรื่องนโยบายพลังงาน -การไม่สนใจต่อปัญหาต่างๆอาทิการทุจริตคอรัปชั่น-ปัญหาสินค้าราคาแพง-อภิปรายท้วงติงนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผิดพลาด -การจัดสรรงบของรัฐบาลในเรื่องแผนงานสร้างความปรองดองที่ไม่สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงเช่นการจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงทั่วประเทศ เป็นต้น แต่ภาพรวมก็ไม่ได้มีอะไรหวือหวาน่าตื่นเต้นหรือเป็นประเด็นขยายผลทางการเมืองแต่อย่างใด
“ทีมข่าวการเมืองASTVผู้จัดการ”ติดตามการอภิปรายร่างพรบ.งบรายจ่ายปี 2556 โดยโฟกัสไปที่การทำงานของส.ส.ฝ่ายค้านแล้ว เห็นว่ารอบนี้ส.ส.ประชาธิปัตย์ทำคะแนนออกมาได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ จะบอกว่ามีเวลาเตรียมตัวมาน้อยหรือเป็นแค่การอภิปรายวาระแรก ยังลงรายละเอียดอะไรไม่ได้ ก็อาจอ้างได้ แต่ก็น่าจะอภิปรายได้ดีกว่าที่ผ่านพ้นไป
เพราะงบบางกระทรวงแม้จะเป็นแค่กรอบเบื้องต้นแต่หากโยงถึงสถานการณ์ต่างๆ โดยยกสภาพความเป็นจริง และเหตุผลต่างๆ มาเสริมให้การอภิปรายมีน้ำหนักก็น่าจะเป็นการเล่นบทบาทตรวจสอบรัฐบาลของปชป.ได้อีกเวทีหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ “ทีมข่าวการเมือง”ต้องการให้สังคมจับตามองต่อไปหลังจากนี้ก็คือ
กระบวนการเล่นแร่แปรธาตุ หาประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดิน
อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย ที่จะมีพวก “เหลือบ”ทั้งหลายจ้องหาประโยชน์จากงบประมาณซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ
“เหลือบงบประมาณ”
ไม่ได้มีแต่นักการเมืองพวกส.ส.-รัฐมนตรีหรือกมธ.งบประมาณรายจ่ายเท่านั้น แต่ยังมีเครือข่ายที่จ้องจะรอรับส่วนแบ่งดังกล่าวจากพวกนักการเมืองด้วย
ทั้งข้าราชการระดับสูงในกระทรวง-กรมต่างๆ รวมถึงพวกนักธุรกิจ ผู้รับเหมา บริษัทเอกชนต่างๆ ที่จ้องจะสมรู้ร่วมคิดหาประโยชน์จากงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี ซึ่งขบวนการของพวกเหลือบหาประโยชน์เหล่านี้ทำกันแบบแนบเนียน มีการตกลงแบ่งผลประโยชน์กันลงตัว ยากที่จะจับได้คาหนังคาเขาคาห้องประชุมกมธ.งบประมาณ
ไม่อย่างงั้นพวกส.ส.-นักการเมืองทั้งหลายจะแย่งกันเป็นกมธ.งบประมาณกันทำไม ถ้าไม่มีผลประโยชน์อะไรอยู่เบื้องหลัง
จนบางพรรคเช่น เพื่อไทย ต้องมีการจับสลากแย่งกันเป็นกมธ.งบประมาณกันเกือบทุกปี ทั้งที่งานกมธ.งบประมาณถือว่าหนักมาก หากคิดจะทำงานอย่างจริงจัง ไม่ได้มาขอเป็นเพื่อเรียนรู้งานจะได้เตรียมรอเป็นรมต.ในอนาคต
อย่างวันพุธ-พฤหัสบดี ก็ประชุมกันตั้งแต่เช้าจนถึงเกือบห้าทุ่มเที่ยงคืน บางวันช่วงไหนงานติดพัน งบสำคัญหลายกระทรวงถกไม่ลงตัว ก็ประชุมกันยืดเยื้อกว่าจะเลิกก็เที่ยงคืน- ตีหนึ่ง
แล้วเชื่อหรือว่าพวกส.ส.จะขยันประชุมกันขนาดนั้นถ้าไม่มีผลประโยชน์อะไรล่อใจ ผ่านรูปแบบการจัดสรรประโยชน์ที่มีให้เห็นหลายรูปแบบ
บางรูปแบบก็ยังทำเหมือนเดิมๆ ทุกปี ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อย่างเช่น พอถึงการพิจารณางบประมาณที่เป็นงบของกรมซึ่งจะนำเงินไปลงพื้นที่เพื่อพัฒนาด้านต่างๆ เช่นการสร้างถนน -สร้างสถานที่ราชการอย่าง สร้างโรงพยาบาล ถนนปลอดฝุ่น ทำถนนใหม่
อย่างงบกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น-กรมโยธาธิการและผังเมือง ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย หรือกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม
พวกกมธ.งบประมาณก็จะมีการต่อรองเจรจากันเองในกลุ่มกมธ.งบประมาณในพรรคเดียวกันและต่างพรรค เพื่อดำเนินการให้มีการจัดสรรงบไปลงพื้นที่ตัวเอง
เริ่มจากเช่น การตัดงบที่ตั้งมาในร่างพรบ.งบประมาณ อย่างเช่น บางกรมขอไป 2 พันล้าน พวกกมธ.งบ ฯ ก็จะอ้างว่าขอมามากเกินควรตัดให้เหลือ 1700 ล้าน แล้วส่วนที่ตัด 300 ล้าน ก็จะนำไปแขวนไว้ก่อน
จากนั้นก็มีการเปิดเจรจากันเองในกลุ่มกมธ.งบประมาณหรือไปบอกพวกส.ส.ในพรรคที่ไม่ได้เป็นกมธ.งบประมาณ ว่าจะเอางบไปลงพื้นที่ให้ เพื่อจะได้คะแนนเสียง ไปบอกประชาชนในพื้นที่ได้ว่าโครงการต่างๆ ได้รับการผลักดันจากส.ส. จากนั้นพวกกมธ.งบประมาณ ก็จะเรียกข้าราชการของกรมนั้นๆ ไปร่วมหารือเพื่อขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงโครงการเข้ามาใหม่ โดยให้มีการตั้งงบไปลงในพื้นที่ของกมธ.งบประมาณหรือเพื่อนส.ส.ในพรรค
ส่วนเบื้องหลังจะมีการต่อรองอะไรมากกว่านั้นระหว่างกมธ.งบประมาณด้วยกันเองหรือระหว่างกมธ.งบประมาณกับพวกหน่วยงานราชการต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ไม่ยาก
โดยเฉพาะยิ่งหากมีการจัดสรรงบประมาณที่เป็นงบประเภท งบก่อสร้าง ทั้งสร้างถนน สร้างอาคารราชการทั้งขนาดใหญ่ สร้างโรงพยาบาล ซ่อมแซมถนนหนทาง วงเงินหลายสิบหลายร้อยล้านบาท รวมถึงงบจัดซื้อจัดจ้างล็อตใหญ่ๆ ก็ยิ่งเปิดช่องให้มีการหาประโยชน์ตามมากันทุกปี
ก็ดูอย่างกรณี การย้ายนางพนิตา กำภู ณ อยุธยาจากเก้าอี้ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็มีข่าวว่าปมหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการย้ายก็คือความขัดแย้งกับฝ่ายการเมืองในเรื่องโครงการก่อสร้างตึกกระทรวงพัฒนาสังคมฯมูลค่า1,289,954,000 บาท
ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรต้องรอพิสูจน์ต่อไป ทว่าเรื่องนี้ก็เป็นแค่หนึ่งตัวอย่างเล็กๆ ที่แสดงให้เห็นว่าเรื่องของงบประมาณและโครงการต่างๆ ของทุกกระทรวง จะเกิดการรั่วไหลหรือมีการแสวงหาผลประโยชน์อะไรกันหรือไม่
ต้นทางของงบประมาณทุกวงเงินต้องเริ่มจับตามอง กันตั้งแต่เริ่มทำคลอดคือในชั้นกมธ.งบประมาณรายจ่ายของสภาผู้แทนราษฏรกันเลย ว่าฝ่ายกมธ.งบ มีการตรวจสอบการตั้งงบทุกรายการอย่างละเอียดรอบคอบหรือไม่ มีการกลั่นกรองป้องกันไม่ให้มีการรั่วไหลหรือตั้งงบเกินความจำเป็นจนสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินหรือไม่อย่างไร รวมถึงกมธ.งบประมาณได้มีการป้องกันไม่ให้มีการแสวงหาผลประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดินกันตั้งแต่ต้นทางดีพอหรือยัง
เพราะหากกมธ.งบประมาณรายจ่าย 2556 ทำหน้าที่ส่วนนี้อย่างเข้มข้น ไม่ปล่อยให้มีการรั่วไหล ตั้งงบเกินความจำเป็นและ คิดถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ก็จะช่วยป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากงบรายจ่ายปี 2556 ได้เป็นอย่างดี
ทว่า ถ้ากมธ.งบ 56 ทำตัวเป็นเหลือบจ้องหาประโยชน์ทุกรูปแบบจากงบฯ 56 เสียเอง
กมธ.งบฯ 56 ก็คงไม่ต่างอะไรกับ พ.ต.อ.พิจิตร กรมประสิทธิ์ ผกก.สภ.ไทรงาม จ.กำแพงเพชร ที่เป็นตำรวจต้องคอยจับโจร แต่กลับนำทีมปล้นรถขนเงินธนาคารกสิกรไทย ที่จ.สิงห์บุรีเสียเอง