ข่าวปนคน คนปนข่าว
ในภาวะ “แพงทั้งแผ่นดิน” จากฝีมือ “ผีอีแพง” ที่ตามหลอกหลอนคนไทยอยู่ในขณะนี้ จน ครม.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หัวปั่นเดินสายหา “ของถูก” มาบลั๊ฟข้อูลของฝ่ายตรงข้ามกันจ้าละหวั่น แต่กลับไม่กระตือรือร้นที่จะพิเคราะห์ถึงภาพรวมของปัญหาว่ามีสาเหตุจากอะไร
ผลของการแก้ปัญหาของแพงด้วยการกระชากค่าครองชีพตามแบบ “ปูเอาอยู่” ก็เลยทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขมีแต่พ่นน้ำลายแก้ตัว
คนซวยคือประชาชนที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง จนยอดหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น จำนำกระทั่งครกพร้อมสาก
แต่ผลประกอบการของบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์กลับพุ่งกระฉูด เพราะได้อานิสงส์จากนโยบายลดภาษีนิติบุคคลธรรมดาจาก 30%เป็น 23 % ในยุค “รัฐบาลไพร่” เป็นสัญญาณเตือนภัยว่า
“ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนจะถ่างกว้างขึ้น ความเหลื่อมล้ำในสังคมจะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว”
ในขณะที่ประชาชนทนทุกข์ภาคเอกชนก็ทุกข์ทนไม่ต่างกัน จากนโยบายค่าแรง 300 บาท ที่หวังผลเพียงแค่หาเสียงโดยไม่เตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่จะตามมา ล่าสุดตัวเลขการเลิกจ้างในไตรมาสแรกพุ่งสูงจนปรอทแทบแตก
จากข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเดือนกุมภาพันธ์มีจำนวน 7,903 คนเพิ่มขึ้น 19,600 % (หนึ่งหมื่นเก้าพันหกร้อยเปอร์เซ็นต์)เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 ที่เลิกจ้างเพียง 40 คนเท่านั้น
ที่น่าตกใจไปกว่่านั้นคือ ยอดการจดทะเบียนตั้งโรงงานในเดือนเมษายนต่ำสุดในรอบเกือบ 19 ปี 4 เดือน โดยในปี 2555 มีผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตเพียง 60 ราย วงเงินลงทุนเพียง 1,305 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2554 ที่มีมูลค่า 17,805 ล้านบาท ถึง 16,500 ล้านบาท
ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่า นักลงทุนถูกพิษนโยบายค่าแรง 300 บาท เล่นงานเข้าเต็มรัก เนื่องจากนโยบายดังกล่าวมีผล 7 จังหวัดในเดือนเมษายนและเพิ่ม 40 % ในจังหวัดอื่นทั่วประเทศ เมื่อต้นทุนสุงขึ้นทั้งค่าแรงและนโยบายพลังงาน รวมถึงทิศทางการบริหารเศรษฐกิจที่ขาดความชัดเจน ทำให้นักธุรกิจตัดสินใจชะลอการก่อสร้างโรงงานออกไป
ยิ่งเมื่อเจาะเวลาหาอดีต จะพบว่ามูลค่าเงินลงทุน 1,305 ล้านบาทในเดือนเมษายน 2555 เป็นการลงทุนที่ต่ำกว่าช่วงที่ประเทศไทยประสบกับปัญหาวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 และ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 52 เสียอีก
เรียกว่า “รัฐบาลปูเอาอยู่” สร้างสถิติใหม่กันเลยทีเดียว แต่ไม่เห็นมีใครหยิบยกมาเป็นผลงานบอกกับประชาชน เหมือนที่พยายามเฟ้นหาของถูกทั่วราชอาณาจักรอยู่ในตอนนี้
ไม่เพียงแค่การลงทุนหดตัวอย่างมีนัยยะสำคัญเท่านั้น ยอดการจดทะเบียนธุรกิจในเดือนเมษายน 2555 ยังลดฮวบต่ำสุดในรอบสี่เดือน โดยมีการจดทะเบียนแค่ 257 รายต่อวัน และยังมีการแจ้งยกเลิกกิจการเพิ่มจากเดือนเมษายนปี 2554 ถึง 41 %อีกด้วย
ทั้งหมด ทั้งปวง มาจากฝีมือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ล้วน ๆ จะโทษดิน ฟ้า อากาศ น้ำท่วม หรือรัฐบาลก่อน ไม่ได้โดยสิ้นเชิง เพราะเป็นผลพวงจากนโยบายค่าแรง 300 บาท หวังคะแนนแต่ไร้ความรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมือง
อีกนโยบายที่กำลังทำให้ชาติหายนะได้ไม่แพ้กัน คือ จำนำข้าว ที่ทุบการส่งออกจนอยู่ในอาการพังพาบ ไตรมาสแรกลดลงถึง 40 %
ยังไม่นับรวมนโยบายประชานิยมบ้าคลั่งอื่น ๆ ทั้ง บัตรเครดิตเกษตรกร รถยนต์คันแรก พักหนี้ลูกหนี้ชั้นดี ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่สร้างภาระจนหนี้ท่วมประเทศทั้งสิ้น
โดยหากคิดเงินนอกงบประมาณที่รัฐบาลนำมาใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็น พรก.เงินกู้ 3.5 แสนล้าน พรก.กองทุนประกันภัย และการใช้จ่ายผ่านธนาคารรัฐที่ซุกไว้อีกมหาศาลจากนโยบายประชานิยมต่าง ๆ
จะทำให้รัฐบาลก่อหนี้ไว้แล้ว ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท
การบริหารที่ขาดวินัยการเงินการคลัง ไร้ธรรมาภิบาลที่ดีของรัฐบาลชุดนี้เป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง และยิ่งน่ากลัวมากขึ้นเมื่อรัฐบาลส่งฝ่ายการเมืองไปล้วงลูกธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยการให้ วีรพงษ์ รามางกูร ไปเป็น ประธานแบงค์ชาติ ซึ่งถือเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับ ประสาน ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าแบงค์ชาติ ด้วยว่าจะมีความหนักแน่นไม่โอนอ่อนตามแรงกดดันทางการเมืองได้หรือไม่
เพราะประกาศิตจาก กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังที่แสดงอาการกระเหี้ยนกระหือรือชี้นำนโยบายค่าเงินบาท ดอกเบี้ย รวมไปถึงการจ้องไขเซฟจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาลงทุน แถมล่าสุดยังสำทับด้วยว่า “ไม่แทรกแซงแบงค์ชาติ แต่แบงค์ชาติต้องฟังฝ่ายการเมือง”
ความฉิบหายของบ้านเมืองในปี 2540 จากวิกฤติต้มยำกุ้ง ก็เกิดจากแบงค์ชาติถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง สถาบันการเงินอ่อนแอ มีการปล่อยสินเชื่อที่กลายเป็นหนี้เน่าเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายการเมืองกลุ่ม 16 จนแบงค์บีบีซีล่มสลาย
ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นในยุคที่ “วีรพงษ์” เป็นประธานที่ปรึกษาแบงค์บีบีซี มีวิจิตร สุพินิจ เป็นผู้ว่าแบงค์ชาติ และ วีรพงษ์คนเดียวกันนี้ก็เป็น รองนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรในยุคที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลอยตัวค่าเงินบาท มีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยให้กองทุนฟื้นฟูฯ ให้กู้ยืมแก่สถาบันการเงินโดยไม่มีประกันได้
มีการสั่งปิดบริษัทเงินทุน 56 แห่ง ทำให้กองทุนฟื้นฟูฯเป็นหนี้ 1.14 ล้านบาทยังใช้ไม่หมดมาจนถึงปัจจุบัน และเพิ่งโยนภาระทั้งหมดไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้แบกรับ ส่วนรัฐบาลสบายตัวเตรียมกู้เพิ่มอย่างเดียว
จากจิ๊กซอว์ทั้งหมดเมื่อนำมาต่อเป็นภาพจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่จุดเสี่ยงทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญ ขณะเดียวกันก็ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า แบงค์ชาติ จะเข้าสู่ยุคเสื่อมถอยเหมือนในปี 40 หรือไม่ เพราะเชื่อได้เลยว่าถูกการเมืองล้วงลูกแน่นอน ด้วยเหตุผลอมตะว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนโยบายให้ดอกเบี้ยถูกลง ทำค่าเงินบาทให้อ่อน เอาเงินสำรองระหว่างประเทศมาลงทุน
อาจทำให้ไทยต้องเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้ง
1 ปี 3 เดือนสำหรับ วีรพงษ์ ในตำแหน่งประธานแบงค์ชาติ ก่อนจะอายุ 70 ปี จะสร้างฝันร้ายซ้ำสองให้ประเทศไทยจาก “วิกฤติต้มยำกุ้ง” มาสู่ “วิกฤติต้มยำปู” หรือไม่
อีกไม่นานก็จะได้รู้กันว่า “เจ๊งทั้งแผ่นดิน ล่มสลายทั้งระบบ” มันเป็นยังไง !