“พาณิชย์” เผยยอดจดทะเบียนเดือนเมษายน 55 ธุรกิจตั้งกิจการใหม่ลดลงแต่ยอดเลิกกิจการเพิ่มขึ้น เร่งหาแนวทางลดต้นทุน 4 ธุรกิจ “เอสเอ็มอี” โดนผลกระทบขึ้นค่าแรง 300 บาท
นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการจดทะเบียนธุรกิจเดือนเมษายน 2555 โดยพบว่ามีผู้ประกอบธุรกิจขอจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เป็นนิติบุคคล ประเภทห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน และบริษัทจำกัด ทั่วประเทศ 4,041 ราย แบ่งเป็นจัดตั้งในกรุงเทพฯ จำนวน 1,540 ราย ส่วนภูมิภาค 2,501 ราย มีเงินทุนจดทะเบียนจำนวน 14,105 ล้านบาท
ทั้งนี้ นิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก คิดเป็นร้อยละ 19 ของการจดทะเบียนจัดตั้งทั้งหมด คือ ก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 397 ราย อสังหาริมทรัพย์ จำนวน 218 ราย บริการนันทนาการ จำนวน 155 ราย เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2554 ซึ่งมีจำนวน 5,098 ราย ยอดจดทะเบียนตั้งธุรกิจใหม่ลดลง 1,057 ราย คิดเป็นร้อยละ 20
เมื่อเปรียบเทียบการจดทะเบียนจัดตั้งเดือนมีนาคม 2555 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจจำนวน 5,431 ราย ลดลง 1,390 ราย คิดเป็นร้อยละ 25 และเมื่อเปรียบเทียบ 4 เดือนปี 2555 (มกราคม-เมษายน) ซึ่งมีจำนวน 20,306 ราย กับเมื่อ 4 เดือนปี 2554 (มกราคม-เมษายน) มีจำนวน 21,238 ราย ลดลง 932 ราย คิดเป็นร้อยละ 4
สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกทั่วประเทศในเดือนเมษายน 2555 มีจำนวน 797 ราย แบ่งเป็นกรุงเทพฯ จำนวน 202 ราย ภูมิภาค 595 ราย มีเงินทุนจดทะเบียน 2,793 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจที่มีจำนวนนิติบุคคลจดทะเบียนเลิกสูงสุด 3 อันดับแรกคิดเป็นร้อยละ 28 ของการจดทะเบียนเลิกทั้งหมด คือ ก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 120 ราย บริการนันทนาการ จำนวน 68 ราย อสังหาริมทรัพย์ จำนวน 36 ราย เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2554 มีจำนวน 562 ราย เพิ่มขึ้น 235 ราย คิดเป็นร้อยละ 41
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบการจดทะเบียนเลิกเดือนมีนาคม 2555 มีการจดทะเบียนเลิกจำนวน 923 ราย ลดลง 126 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 เมื่อเปรียบเทียบ 4 เดือนแรกปีนี้ (มกราคม-เมษายน) ซึ่งมีจำนวน 3,584 ราย กับเมื่อ 4 เดือนแรกปีที่แล้ว (มกราคม-เมษายน) ที่มีจำนวน 3,116 ราย ยอดจดทะเบียนเลิกกิจการเพิ่มขึ้น 468 ราย คิดเป็นร้อยละ 15
ขณะที่จำนวนห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัดคงอยู่ทั่วประเทศ มีจำนวน 505,922 ราย และบริษัทมหาชนคงอยู่ 925 ราย รวมนิติบุคคลคงอยู่ทั่วประเทศทั้งสิ้น 506,847 ราย
สำหรับแนวทางการดูแลต้นทุนของผู้ประกอบการ รมว.พาณิชย์ยอมรับว่าตนเองได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปหามาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ 4 กลุ่มสินค้าหลัก ได้แก่ สปา แฟรนไชส์ ร้านค้า และลอจิสติกส์ ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเมื่อเดือนเมษายน 2555 ที่ผ่านมา และราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น
โดยพบว่าช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีผู้ประกอบการทั้ง 4 กลุ่มที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มาขอความช่วยเหลือและขอคำปรึกษาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอย่างต่อเนื่อง
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ความช่วยเหลือและเชื่อมโยงภาคธุรกิจ รวมถึงจัดสัมมนาเพื่อให้มีการปรับตัว และเท่าที่มีการสอบถามใน 4 กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมีการปรับตัวดี ขณะเดียวกัน กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะเร่งหาแนวทางอื่นช่วยเหลือโดยเฉพาะการลดต้นทุนบริหารงาน การหาตลาดในประเทศและต่างประเทศ การซื้อขายสินค้าผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และอีกหลายแนวทาง
ขณะนี้ 4 ธุรกิจรับการช่วยเหลือแล้วหลายราย และเพื่อต้องการให้แนวทางช่วยเหลือต่อเนื่อง จึงมอบหมายให้ส่วนกลางและภูมิภาคระดมความคิดเห็น เพื่อจะได้นำมาปรับช่วยเหลือผู้ประกอบการต่อไป