xs
xsm
sm
md
lg

แบ่งเขตอิทธิพลรมต.เพื่อไทย“วรวัจน์-เหลิม”เจอแรงต้าน!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

 วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล
ขยับเป็นจังหวะ เพื่อให้สังคมเห็นว่าพรรคเพื่อไทย พรรคที่ชนะการเลือกตั้งจนได้ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งและเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลในเวลานี้จะเดินหน้าปฏิรูปพรรคแน่นอน ไม่ได้แค่สร้างข่าวเพื่อสร้างภาพอย่างที่หลายคนวิพากษ์วิจารณ์

ล่าสุดแนวคิดการปฏิรูปปรับโครงสร้างพรรค ค่อยๆ คลอดออกมาทีละส่วนแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามที่ “ทีมข่าวการเมืองASTVผู้จัดการ”ได้เกาะติดมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า กลุ่ม111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ได้เตรียมผลักดันแนวคิดการปฏิรูปพรรคเสนอต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและแกนนำพรรคเพื่อไทยหลังพ้นโทษตัดสิทธิการเมืองห้าปีในคดียุบพรรคไทยรักไทยในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้

แต่ยังไม่ทันจะถึง 30 พ.ค. 2555 แกนนำเพื่อไทยหลายส่วนทั้งระดับรองหัวหน้าพรรค-ประธานภาคเพื่อไทยรวมถึงพวก 111 ไทยรักไทยบางส่วน ก็จัดทำแผนปรับโครงสร้างพรรคเพื่อไทยออกมาแล้วเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยโครงสร้างพรรคดังกล่าว พบว่า จะเสนอให้มีการรื้อโครงสร้างเดิมที่แบ่งการคุมพื้นที่ส.ส.และพื้นที่เลือกตั้งออกเป็น 5 ภาคหลัก คือ ภาคกรุงเทพมหานคร-ภาคเหนือ-ภาคกลาง-ภาคอีสาน-ภาคใต้

การปรับใหม่โดยยังคงไว้ซึ่ง 5 ภาคเช่นเดิม แต่ใน 5 ภาคดังกล่าวให้ซอยย่อยพื้นที่จังหวัดออกเป็น19 โซน

แผนหลักของโครงสร้างนี้ก็คือ การดึงรัฐมนตรีในส่วนของพรรคเพื่อไทยให้ลงมาคุมจังหวัดในแต่ละภาคที่ถูกซอยออกเป็นโซนย่อย

นัยว่าโครงสร้างใหม่นี้ มีผลดีหลายอย่างเช่น ทำให้รัฐมนตรีมีความใกล้ชิดกับส.ส.และพื้นที่เลือกตั้ง ขาจะได้ไม่ลอย เป็นรัฐมนตรีแล้วมองไม่เห็นหัวส.ส. ไม่ค่อยรับฟังความคิดเห็นหรือเสียงสะท้อนปัญหาต่างๆของประชาชนในพื้นที่ซึ่งส่งผ่านมายังส.ส.ของพรรค ถ้าใช้โครงสร้างนี้ ก็จะทำให้ส.ส.กับรัฐมนตรีใกล้ชิดกันมากขึ้น ตัวรัฐมนตรีนอกจากต้องบริหารงานในหน้าที่แล้ว งานการเมืองในพรรคก็ต้องทำควบคู่ไปกันด้วย

ผนวกกับหวังว่า โครงสร้างนี้จะเป็นการป้องกันไม่ให้หัวหน้ากลุ่มหรือหัวหน้ามุ้งต่างๆในเพื่อไทย มีอำนาจต่อรองในพรรคมากเกินไป โดยการรวบรวมส.ส.จากจังหวัดต่างๆ ชนิดข้ามภาคกันมาไว้ในกลุ่มแล้วไปต่อรองขอตำแหน่งการเมืองกัน

หากใช้โครงสร้างนี้ ตัวส.ส.ก็จะได้ไม่ต้องไปพึ่งหัวหน้ากลุ่มในเพื่อไทยมากเกินไป มีการรวมกลุ่มกันใหญ่โตจนคุมกันไม่ได้ จนเป็นที่มาของการปรับโครงสร้างพรรคเป็น 5 ภาค 19 โซน

รายละเอียดการแบ่งกลุ่มภาค ระบุว่า อีสาน โซน 1 จำนวน 5 จังหวัด คือ หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร มีศักดา คงเพชร รมช.ศึกษาธิการ เป็นผู้รับผิดชอบ

อีสานโซน 2 จำนวน 4 จังหวัด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ มี นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข เป็นผู้รับผิดชอบ, อีสานโซน 3 จำนวน 3 จังหวัด สุรินทร์ บุรีรัมย์ และนครราชสีมา มีสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ ผู้รับผิดชอบ

ส่วนภาคเหนือ แบ่งเป็น โซนที่ 1 นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ โซนที่ 2 นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง โซนที่ 3 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.การพัฒนาสังคมฯ

ขณะที่ ภาคใต้ โซนที่ 1 มี 4 จังหวัด ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ มีวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบ, โซน 2 จำนวน 4 จังหวัด คือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง มีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบ และโซน 3 จำนวน 6 จังหวัด คือ ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส มียงยุทธ วิชัยดิษฐ รมว.มหาดไทย ผู้รับผิดชอบ

ส่วนพื้นที่ภาคกลาง ก็เช่นโซนที่ 1 พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.คมนาคม โซนที่ 2 เผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน โซนที่ 3 นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข

ภาคกลาง ที่น่าจับตาคือโซน 4 ที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม สายชินวัตร เป็นผู้รับผิดชอบคุมพื้นที่รอบกรุงเทพมหานครทั้งหมดคือ นทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ขณะที่รัฐมนตรีสายชินวัตรหลายคน ไม่มีชื่อว่าพรรคดึงมาช่วยงานการเมือง ทั้ง นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.สำนักนายกรัฐมนตรีหรืออารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน

ที่น่าสนใจอีกหนึ่งภาคก็คือ ภาคกรุงเทพมหานคร พบว่าตามโครงสร้างใหม่ จะแบ่งเป็น 3 โซนตามสภาพพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร

คือ โซนที่ 1 กทม.ในส่วนกรุงเทพมหานครชั้นในเช่น แถบสีลม -ปทุมวัน-บางรัก-เขตพระนคร จะมีจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทยและรมว.คมนาคม เป็นผู้รับผิดชอบ,

โซน 2 กทม.ฝั่งตะวันออก เช่นแถบมีนบุรี-บางกะปิ-ดอนเมือง -หลักสี่ มี น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นผู้รับผิดชอบ

และโซนที่ 3 กทม.ฝั่งธนบุรี มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบ

“ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์”หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อธิบายข้อดีของการปรับโครงสร้างดังกล่าวที่จะให้รัฐมนตรีมาคุมโซนพื้นที่ต่างๆ ไว้ว่า

“การปรับโครงสร้างดังกล่าวเพื่อให้การดูแล ส.ส.เป็นไปอย่างใกล้ชิด รัฐมนตรีสามารถลงพื้นที่ดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึงที่ผ่านมากรอบการดูแลกว้างทำให้กระจายตัวเกินไป ทั้งนี้เชื่อว่าการแบ่งลักษณะนี้ ไม่เป็นการเปิดช่องให้มีการตั้งกลุ่มการเมืองในพรรคเพื่อต่อรองตำแหน่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้นอย่างที่มีข้อกังวล เพราะรัฐมนตรีจะลงมากำกับอย่างใกล้ชิด”

กระนั้นแผนปรับโครงสร้างดังกล่าวที่เคาะกันมาเบื้องต้น “ทีมข่าวการเมือง”สดับรับฟังเสียงสะท้อนมาจากคนในเพื่อไทยหลายคนถึงผลดีผลเสียของแนวคิดดังกล่าว

แน่นอนว่า ข้อดีก็อย่างที่ฝายเพื่อไทยพยายามบอกกันไว้คือ เป็นการทำให้ช่องว่างระหว่างส.ส.กับรัฐมนตรีมีน้อยลง ทำให้การทำงานของฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติเดินหน้าไปด้วยกันได้ ส.ส.หรือคนของพรรคในพื้นที่ สามารถสะท้อนความต้องการหรือปัญหาในพื้นที่ไปยังรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าโซนได้ แม้อาจไม่ใช่หน้าที่โดยตรง

เช่นส.ส.อีสาน ต้องการงบประมาณมาสร้างหรือพัฒนาโรงเรียน-สถานศึกษาหรือสร้างแหล่งน้ำ แต่หัวหน้าโซนเป็นรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข ทว่าส.ส.ก็สามารถส่งผ่านปัญหาและความต้องการดังกล่าวผ่านไปยังรมช.สาธารณสุขให้เอาไปประสานหรือแจ้งต่อรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเช่น รมช.ศึกษาธิการหรือรมช.มหาดไทยให้ช่วยดูแลหรือสั่งการอาทิการของบประมาณลงพื้นที่ได้ง่ายกว่าที่ส.ส.จะไปคุยเอง

ทว่าเสียงสะท้อนในมุมมองข้อเสียที่คนในเพื่อไทยไม่ค่อยเห็นด้วยในบางจุดก็มีอาทิ

การแบ่งหน้าที่ดังกล่าวอาจไม่มีความต่อเนื่อง เพราะรัฐมนตรีหลายคนก็สุ่มเสี่ยงจะถูกปรับออกจากตำแหน่งในการปรับครม.ที่จะมีขึ้น

อาทิ ศักดา คงเพชร รมช.ศึกษาธิการหรือแม้แต่กับ จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม ถ้ามีการปรับออก ก็ต้องให้รัฐมนตรีคนใหม่มาคุมพื้นที่แทนอีก ความต่อเนื่องก็จะหายไป งานสะดุดอีก หรือการแบ่งงานดังกล่าวจะเป็นการบอกอะไรบางอย่างว่ารัฐมนตรีที่มีชื่อจะไม่มีการถูกปรับออก ซึ่งดูแล้วก็ไม่น่าจะใช่ทั้งหมด อย่างน้อยต้องมีคนโดนปรับออกแน่นอน

หรือความเห็นที่ว่า การปรับโครงสร้างดังกล่าว มีคนคิดและตัดสินใจกันแค่ไม่กี่คนในพรรค โดยไม่มีการถามความเห็นส.ส.ในพื้นที่ก่อน แล้วจะปรับโครงสร้างพรรคไปทำไมกับการไม่ฟังความเห็นคนในพรรคก่อนเคาะแผนออกมา

แต่ที่มีเสียงไม่เห็นด้วยมากสุด ก็คือประเด็นที่ว่ารัฐมนตรีที่พรรคมอบหมายงานให้ เป็นคนนอกพื้นที่ ไม่เข้าใจการเมืองในพื้นที่แล้วจะมาดูแลส.ส.และพื้นที่ได้อย่างไร ทำนองผิดฝาผิดตัว

อาทิ การให้ วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ที่เป็นส.ส.แพร่มาดูแลพื้นที่ภาคใต้แถบอันดามันอย่าง ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ จนแม้แต่โฆษกพรรคอย่างพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ในฐานะคนในพื้นที่ยังแสดงความไม่เห็นด้วย โดยบอกว่าไม่เหมาะ ควรให้ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ หัวหน้าพรรคคุมพื้นที่ส่วนนี้เพิ่มไปด้วยในฐานะคนใต้ที่ต้องเข้าใจพื้นที่เลือกตั้งและวัฒนธรรม ความคิดต่างๆ ของคนภาคใต้ได้ดีกว่าวรวัจน์

จุดนี้หากแกนนำพรรคจะอ้างว่า เป็นเพราะรัฐมนตรีของเพื่อไทยที่เป็นคนใต้มีแค่สองคนคือ ยงยุทธกับณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ จึงดึงวรวัจน์มาขัดตาทัพไปก่อน ก็มีเสียงแย้งจากพวกสายใต้ในเพื่อไทยว่าก็ควรเอารัฐมนตรีที่สายงานจะช่วยพื้นที่ได้ดีกว่าจะเอาวรวัจน์เช่น เอาฐานิสร์ เทียนทอง รมช.มหาดไทยหรือพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม มาคุมพื้นที่แทนก็ยังดีกว่า

แต่ที่เงียบๆ ไม่เป็นข่าว แต่น่าจับตาดูก็คือการที่เฉลิม อยู่บำรุงได้คุมพื้นที่ฝั่งธนของเพื่อไทยสมใจอยากมานาน ทั้งที่คนของพรรคสอบตกหมดในการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่มีส.ส.กทม.ฝั่งธนบุรีแม้แต่คนเดียวรวมถึง วัน อยู่บำรุงลูกชายที่ร่วงไม่เป็นท่าด้วย

ที่บอกว่าในส่วนของเฉลิมเห็นเงียบๆ ไม่มีใครกล้าโวยวายเหมือนกรณีของวรวัจน์ ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา ไม่เห็นมีคนในกลุ่มกทม.ในสายคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ออกมาคัดค้าน แต่น่าจะเกิดจากยังไม่ถึงเวลามากกว่า

หากเป็นช่วงใกล้เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เมื่อไหร่ น่าจะมีอะไรสนุกๆให้เห็นตอนนั้น
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง
กำลังโหลดความคิดเห็น