สพฐ.แจง กมธ.ศึกษา โครงการครูคืนถิ่น-ครูพันธุ์ใหม่ เผย รอสรุปผลรอบ 3 คาด มีครูคืนถิ่นได้ถึง 1 หมื่นคน จากที่ผ่านคัดเลือกกว่า 2 หมื่นคน ซึ่งเป็นอัตราย้ายสูงมาก พร้อมเผยปี 55 สพฐ.มีอัตรารองรับครูพันธุ์ใหม่เพียง 1,500 อัตรา จากนักศึกษาที่จบจากโครงการ 2,300 คน เล็งหารือร่วมกับ สกอ.หาทางออก
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เรื่องการดำเนินโครงการครูคืนถิ่น และโครงการครูพันธุ์ใหม่ ว่า ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า ในส่วนของครูคืนถิ่นนั้น ได้มีข้าราชการครูแสดงความประสงค์ขอย้ายประมาณ 20,900 คน แต่เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติ พบว่า มีผู้ผ่านหลักเกณฑ์ 20,200 คน และจากการดำเนินการกลั่นกรองจาก 7 คณะ ซึ่งแบ่งตามภูมิภาคในรอบที่ 1 และ 2 นั้น พบว่า สามารถที่จะย้ายครูได้ประมาณ 5,000 คน คิดเป็นร้อยละ 25 โดยในช่วงวันหยุดสงกรานต์ 13-16 เม.ย.นี้ จะมีการพิจารณาระหว่างภาค และหมุนข้ามเขตจังหวัดอีกครั้งในรอบที่ 3 ซึ่งคาดว่าน่าจะได้จำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 คน ทั้งนี้ สาเหตุที่ไม่สามารถย้ายครูได้ทั้งหมดนั้น เพราะติดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่เราต้องพิจารณาด้วย อาทิ เรื่องครูขาด ครูเกิน หรือครูมีวุฒิไม่ตรงกับที่ต้องการ
“ในปีนี้ถือว่าจำนวนครูที่จะสามารถย้ายได้มีอัตราที่สูงมาก ซึ่งคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของคำร้องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะที่ผ่านมา การขอย้ายในช่วงปกติจะทำได้เพียงร้อยละ 19 เท่านั้น แต่ครั้งนี้สามารถย้ายได้มากขึ้น เนื่องจากมีการเกลี่ยและหมุนข้ามเขตจังหวัด ตลอดจนข้ามภาค แต่หากต้องการให้จำนวนครูที่จะสามารถย้ายได้มีอัตรามากขึ้นกว่านี้ ก็คงต้องมีตัวช่วยเข้ามาเพิ่ม เช่น ถ้ามีครูอัตราจ้างเพิ่มก็จะทำให้โรงเรียนที่มีครูขาดได้มีโอกาสย้ายด้วย” นายชินภัทร กล่าว
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม กมธ.การศึกษา บางท่านคนได้ทักท้วงว่า หาก ศธ.จะพัฒนาคุณภาพการศึกษา แต่ไปมุ่งให้มีครูอัตราจ้างจำนวนมาก จะทำให้ไม่ได้คุณภาพหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ก็คงต้องรอฟังนโยบายจาก รมว.ศึกษาธิการ ต่อไป ว่า เห็นด้วยกับจำนวนครูที่สามารถย้ายได้ในปีนี้หรือไม่ ส่วนจะมีโครงการนี้ต่อไปหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายแต่ตั้งแต่ประกาศก็ได้แจ้งแต่แรกแล้วว่าจะมีครั้งเดียว สำหรับโครงการครูพันธุ์ใหม่นั้น จะยังคงเดินหน้าต่อไป ซึ่งขณะนี้ได้รับการตอบรับจากนักศึกษาที่มาสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก แต่โครงการนี้ติดปัญหาอยู่ที่ว่าการผลิตกับการรับเข้าทำงานยังไม่สอดรับกัน เพราะไม่มีแผนแม่บทในการผลิตครู ซึ่งในการผลิตครูนั้น ควรจะมีแผนว่าความต้องการในแต่ละปีควรจะผลิตครูเป็นเท่าใด และมีวิชาเอกใดที่ขาดแคลน จากนั้นก็นำแผนนี้มาประสานกับหน่วยปฏิบัติที่จะรับบรรจุครู เพราะในช่วงแรกที่มีการเกิดโครงการนี้ขึ้นมายังไม่ได้มีการพูดคุยในเรื่องนี้ จึงทำให้การผลิตกับการสำรองอัตรายังไม่สอดคล้องกัน
อย่างไรก็ตาม ในปี 2555 ยังมีปัญหาอยู่ว่าปริมาณการรับครูที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้สำรองอัตราไว้มีประมาณ 1,500 อัตรา แต่กลับมีคนที่จบจากโครงการครูพันธุ์ใหม่ประมาณ 2,300 คน จึงเป็นเรื่องที่ สพฐ.ต้องมาหารือกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพราะ สพฐ.ไม่สามารถที่จะกันอัตราทั้งหมดมาไว้สำหรับผู้ที่จบจากโครงการครูพันธุ์ใหม่ได้ทั้งหมด
“สพฐ.มีอัตราที่ได้รับจากการเกษียณอายุราชการประมาณ 4,000 คน ซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องกันอัตราไว้สำหรับครูที่จบจากโครงการอื่นๆ ด้วย เช่น โครงการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (สควค.) และการกันอัตราไว้เพื่อการสอบบรรจุแต่งตั้งทั่วไปด้วย แต่ทั้งนี้ ในปี 2558 จะมีครูเกษียณอายุราชการประมาณ 18,000 คน ดังนั้น เมื่อนำจำนวนนี้รวมกับมติคณะรัฐมนตรีที่จะคืนอัตราครูเกษียณ ร้อยละ 100 ก็จะทำให้การบริหารจัดการในการที่จะกันอัตราไว้เท่ากับจำนวนการผลิตครูพันธุ์ใหม่ได้” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว