xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” แนะ “รบ.ปู” ปรับวิธีบริหารประเทศ ยึด ศก.พอเพียง-หนุนจีดีพีโตยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สมคิด” แนะ “รบ.ปู” ปรับแนวบริหารประเทศ ยึดหลัก “ศก.พอเพียง” ผลักดัน “จีดีพี” โตยั่งยืน ชี้บทเรียนที่ผ่านมา ศก.กลวง เพราะบริหารงานหลงทาง มุ่งหาประโยชน์ทั้งจากตลาดหุ้น-ตราสารหนี้ มองข้ามภาค ศก.แท้จริง เร่งเพิ่มความแข็งแกร่งให้รากหญ้า

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษหัวข้อ “ชี้นำเศรษฐกิจ : ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ในงานสัมมนา 80 ปี หอการค้าไทย โดยมองถึงปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา ทั้งนักวิชาการ ประชาชน หลายประเทศทั่วโลกเรียกร้องให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา การบริหารเศรษฐกิจยุคใหม่มุ่งผลประโยชน์โดยเฉพาะการหาผลตอบแทนจากตลาดรอง การนำสินเชื่อดี ลูกหนี้เอ็นพีแอลไปขายต่อในตลาดรอง การซื้อขายสิทธิ์ในการซื้อหุ้น หรือการนำสิทธิ์ประกันไปขายต่อเมื่อเศรษฐกิจแท้จริงภาคการผลิตมีปัญหา ทำให้ตลาดรอง ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ มีปัญหาทั่วโลก

ดังนั้น ตนเองจึงเห็นว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับ ควรนำมาใช้ในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ เพราะนโยบายดังกล่าวไม่ปิดกั้นการเติบโต แต่ต้องการให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน

โดยในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 2.6 แต่ยังไม่เห็นอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นพื้นฐานเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน การกู้เงิน 400,000 ล้านบาท ต้องเป็นภาระหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หวั่นเกรงว่าหนี้สาธารณะอาจสูงถึงร้อยละ 47 หากบริหารจัดการไม่ดี เพราะขณะนี้เป็นการขาดดุลเชิงโครงสร้างอาจทำให้หนี้สาธารณะสูงถึงร้อยละ 50-60 ได้

นายสมคิด กล่าวว่า เพื่อให้โครงสร้างเศรษฐกิจแข็งแกร่งต้องสร้างความแข็งแกร่งให้รากหญ้า เพราะค่าจ้างแงงานขั้นต่ำในประเทศจะไม่ต่ำเหมือนเดิม สอดคล้องกับการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท แต่ต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพสินค้า แต่การยกเลิกเป็นผู้รับจ้างผลิตควรปรับมาเป็นการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ การค้นคว้าวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การปรับตัวรองรับเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มองว่าบริษัทขนาดใหญ่จะสามารถแข่งขันได้

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าห่วง คือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ควรยึดหลักเหมือนประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา ต้องการให้เอสเอ็มอีเข้ามาลงทุนในอาเซียน เพราะเงินเยนแข็งค่า โดยญี่ปุ่นให้การส่งเสริมทั้งการพัฒนาและวิจัย เงินทุนดอกเบี้ยต่ำ โดยหน่วยงาน องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันจนเอสเอ็มอีญี่ปุ่นสามารถลงทุนในแถบอาเซียนจนเติบโตได้

ดังนั้น ขณะนี้มองว่า เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงทั้งจากสหรัฐฯ และยุโรป จึงเรียกร้องให้รัฐบาล และเอกชนช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจอยู่บนพื้นฐานความยั่งยืน ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
กำลังโหลดความคิดเห็น