xs
xsm
sm
md
lg

แกะรอยโมเดลปฏิรูป “เพื่อไทย” ใครจะกล้าทลายอำนาจ“ชินวัตร”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

ทักษิณ ชินวัตร
ความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักโทษการเมือง111 ซึ่งจะพ้นโทษห้ามยุ่งการเมืองเป็นเวลา5ปี ในวันที่30 พ.ค.นี้ นอกจากจะมีข่าวกลับเข้ามาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์แล้ว ยังมีแนวคิดที่พวก 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยอย่าง จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และวิชิต ปลั่งศรีสกุล อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทยสองสมัย ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิบ้านเลขที่ 111 ประสานเสียงออกมาระบุถึงการเข้าไปช่วยงานพรรคเพื่อไทยในด้านต่างๆ

งานที่น่าสนใจก็คือ ทีมยุทธศาสตร์การเมือง หรือฝ่ายกฎหมายของพรรค เสนอว่าถึงเวลาที่เพื่อไทย จะต้องริเริ่มขับเคลื่อนเรื่องการปรับโครงสร้างและปฏิรูปพรรค เพื่อให้พรรคเพื่อไทยที่มีส.ส.มากที่สุดในสภาผู้แทนราษฏร มีระบบการบริหารจัดการและการทำงานที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคมการเมืองที่เปลี่ยนไปเร็วมาก

แนวคิดนี้มีเสียงตอบรับจากหลายฝ่ายในเพื่อไทย ที่ทั้งเปิดเผยตัวและไม่ขอแสดงตน ไม่ว่าจะเป็นจากกลุ่ม 109 พลังประชาชน อย่าง นพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมถึงส.ส.เพื่อไทย สายก้าวหน้าหลายคน แม้แต่กับพวกแกนนำนปช.ที่เป็นส.ส.เพื่อไทยในเวลานี้

เพราะด้วยระบบโครงสร้างการบริหารจัดการของเพื่อไทย ที่ก็คือเบ้าหลอมของพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน แม้ภาพภายนอก จะมีความพยายามออกแบบโครงสร้างพรรคให้มีระบบบริหารจัดการพรรคเช่นการให้คณะผู้บริหารพรรครวมถึงกรรมการบริหารพรรค เป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องสำคัญต่างๆ อาทิ การตั้งคณะรัฐมนตรี การส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง การหารือเรื่องการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจสมัยเพื่อไทยเป็นฝายค้าน ขณะเดียวกัน ก็มีระบบภาคคอยดูแลพื้นที่และส.ส.แบ่งเป็นภาคเหนือ-กลาง-ใต้-อีสาน-กรุงเทพมหานคร

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เพื่อไทย คนที่ตัดสินใจเรื่องสำคัญต่างๆ เกือบทุกเรื่องในเพื่อไทยและในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เวลานี้ ก็มีไม่กี่คน และส่วนใหญ่ก็ล้วนอยู่ในกลุ่ม

เครือข่ายตระกูลชินวัตร

ในฐานะเจ้าของพรรคและเจ้าของเงินที่ใช้ในการทำการเมืองของเพื่อไทย ภายใต้การตัดสินเด็ดขาดของ “หญิงอ้อ”คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชรและทักษิณ ชินวัตร โดยมีเครือข่ายในครอบครัวคนอื่นเป็นผู้กลั่นกรองรอบสุดท้ายทั้งเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ -พายัพ ชินวัตร-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร-บรรณพจน์ ดามาพงศ์

เห็นได้จากหลังเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้ง มติที่ประชุมส.ส.และกรรมการบริหารพรรค ก็ให้มีคณะกรรมการพิจารณาการตั้งคนเป็นรัฐมนตรี โดยมีพล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ เป็นประธานเพื่อพยายามทำให้สังคมเห็นว่าเพื่อไทย มีระบบบริหารในรูปคณะกรรมการบริหารพรรคหรือบอร์ดพรรค คอยพิจารณาสรรหาตัวคนที่เหมาะสมเป็นรัฐมนตรี เพื่อให้ดูว่าพรรคมีระบบบริหารจัดการที่ดี แต่ตัวพล.ต.ท.วิโรจน์ ก็ไม่เคยทราบเรื่องหรือรู้เรื่องการตั้งรัฐมนตรีแม้แต่ตำแหน่งเดียว จนกระทั่งมีการโปรดเกล้าฯตั้งครม.ยิ่งลักษณ์ 1 ไปแล้วโดยรู้ตามที่สื่อมวลชนนำเสนอ

แม้แต่ตัวยิ่งลักษณ์เอง ถึงทุกวันนี้ ก็ไม่เคยมีใครไปวิ่งล็อบบี้ขอตำแหน่งกับยิ่งลักษณ์ ทุกคนวิ่งเข้าหาทักษิณหมด

ความเป็นจริงดังกล่าว แม้หลายพรรคก็เป็นเช่นนี้ เช่นประชาธิปัตย์ สมัยเป็นรัฐบาลคนที่ตัดสินใจหลักว่าจะตั้งใครเป็นรัฐมนตรีก็คือ สุเทพ เทือกสุบรรณ หาใช่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือชาติไทยพัฒนา อำนาจบริหารจัดการทุกเรื่อง ก็อยู่ที่ บรรหาร ศิลปอาชา คนเดียว ในลักษณะพรรคหลงจู้

แต่กรณีของเพื่อไทย หนักหนากว่ามาก เพราะเป็น “ระบบครอบครัว”ทั้งหมด ที่สำคัญ เพื่อไทยเป็นพรรคใหญ่ที่สุด ชนะเลือกตั้งมาแล้ว 4 สมัยติดต่อกัน หากพรรคเพื่อไทยยังบริหารจัดการแบบนี้ต่อไป ระบบบริหารจัดการทุกอย่าง “รวมศูนย์”อยู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า-ตึกชินวัตร 3 -ตระกูลชินวัตร และนายใหญ่ทักษิณ ระยะยาวย่อมไม่เป็นผลดีแน่นอน

การเสนอให้มีการปรับโครงสร้าง-ปฏิรูปพรรค จึงสะท้อนความรู้สึกบางอย่างของคนในเพื่อไทยหลายกลุ่มได้เป็นอย่างดี ว่าแต่ละคนมองอนาคตของเพื่อไทยว่าจะเป็นอย่างไร บางคนอาจอึดอัดกับระบบบริหารจัดการแบบนี้ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ปี 2544 ตอนตั้งพรรคไทยรักไทย จนเคยมีคนในไทยรักไทยบางคนบอกว่า ทักษิณ บริหารไทยรักไทยและรัฐบาลแบบ “บริษัทชินวัตรจำกัด”ไม่ใช่บริหารแบบพรรคการเมืองของมหาชน

ขณะที่บางกลุ่มในเพื่อไทยก็มองเห็นโอกาสว่า ตัวเองจะได้ประโยชน์หากมีการปรับโครงสร้างพรรค จึงย่อมสนับสนุนการปรับโครงสร้างและปฏิรูปพรรค

แต่หากวิเคราะห์ความคิดของทักษิณและพี่น้องตระกูล ชินวัตร ต่อเรื่องการปฏิรูปพรรค เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ที่ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์และคนในตระกูลชินวัตร จะออกมาขวางหรือแสดงความไม่เห็นด้วย เพราะจะถูกมองว่า ต้องการรวบอำนาจไว้เหมือนเดิม ไม่คิดกระจายอำนาจและปฏิรูปพรรคเพื่อวางฐานพรรคให้เติบโตแบบยั่งยืน ทักษิณก็ต้องสงวนท่าทีไว้ก่อน

แนวคิดเบื้องต้นที่พวก 111 ไทยรักไทยบางส่วนรวมถึงส.ส.เพื่อไทยหลายคนเสนอให้มีการปรับโครงสร้างและปฏิรูปพรรค ที่ “ทีมข่าวการเมืองASTVผู้จัดการ”ได้ยินมา พบว่ายังไม่ลงรายละเอียดอะไรมากนัก เพราะเป็นแค่คุยกันในโมเดลกว้างๆ แต่หลายเรื่องก็ไม่ได้มีอะไรตื่นเต้น เพียงแต่เพราะแนวคิดนี้มาพูดในช่วงที่ปรับกำลังมีปัญหาการเมืองหลายอย่างในเพื่อไทยและมาในจังหวะที่ 111 ไทยรักไทยกำลังจะกลับมาเล่นการเมืองพอดี

อย่างตอนนี้ในพรรคเพื่อไทยก็เกิดความขัดแย้งของส.ส.บางกลุ่มเช่นกลุ่มภาคกลางที่ไม่พอใจบทบาทของคนเสื้อแดงในเพื่อไทย จนออกมาตั้งป้อมค้าน ไม่ให้ จตุพร พรหมพันธ์ แกนนำนปช.มาเป็นรมช.มหาดไทย และบานปลายกลายเป็นการลากไส้ทะเลาะกันเองของส.ส.เพื่อไทยกับพวกกลุ่มนปช.ในเพื่อไทย

ผนวกกับมาจุดประเด็นเรื่องปฏิรูปพรรค พอดีในช่วงที่พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงในพื้นที่ต่างๆ กำลังมีปัญหาไม่ลงตัวกันเองเพราะขัดแย้งกันอย่างหนักในเรื่องการแย่งกันส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) หลายแห่งเช่นที่ อุดรธานี เชียงราย เป็นต้น

โมเดลอย่างไม่เป็นทางการที่คุยกันไว้ก็เช่น การที่พรรคต้องมีท่าทีอันชัดเจนในการแยกบทบาทและรักษาระยะห่างของการเมืองระดับชาติกับการเมืองท้องถิ่น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในเรื่องการส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งที่จะแย่งกันส่งคนลงของพวกส.ส.ในพื้นที่รวมถึงกับกลุ่มเสื้อแดงในจังหวัดที่ก็อยากส่งคนลงภายใต้การสนับสนุนของเพื่อไทยในการขึ้นป้ายหาเสียง ทางฝ่ายที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปพรรคจึงต้องการให้พรรคมีแนวทางเรื่องการเมืองท้องถิ่นให้ชัด อย่าให้สับสนเหมือนที่ผ่านมา จนกระทบกับฐานเสียงของเพื่อไทยและคนเสื้อแดง

นอกจากนี้ก็ยังเคาะแนวคิดเรื่องการให้เพื่อไทยต้องเปิดพื้นที่การเมืองการมีส่วนร่วมของผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยให้มากขึ้น อาทิ การนำระบบไพรมารี่โหวตที่ให้ประชาชนหรือผู้สนับสนุนพรรคในแต่ละพื้นที่โหวตว่าต้องการให้พรรคส่งใครลงเลือกตั้งส.ส.ในแต่ละพื้นที่ ไม่ใช่เอาคนที่ประชาชนไม่ต้องการมาลง อันจะทำให้การเมืองในพื้นที่ประชาชนมีส่วนร่วมและมีความยึดโยงกับพรรคเพื่อไทยมากขึ้น

รวมถึงแนวคิดต่างๆ เช่น การให้ผู้บริหารพรรคต้องลงมาพบกับประชาชนมากขึ้น หรือเปิดพื้นที่ทำกิจกรรมกับประชาชนมากขึ้น

ส่วนเรื่องจะถึงขั้นเสนอให้ปรับโครงสร้างปฏิรูปพรรคจนไปทลายฐานอำนาจที่ทักษิณและคนในตระกูล ชินวัตร สร้างไว้ในเพื่อไทย ฟันธงได้ว่า ไม่มีใครในพรรคกล้าแม้แต่จะคิดหรือเสนอความเห็นออกมาแน่นอน คืออาจคิดได้แต่ไม่กล้านำเสนอ ไม่เช่นนั้น โดนทักษิณขึ้นแบล็กลิสต์ หมดอนาคตการเมืองในเพื่อไทยแน่นอน

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ หากมีการปฏิรูปพรรคเพื่อไทย จะเป็นผลดีหรือผลเสียกับ “แกนนำนปช.และกองกำลังเสื้อแดง”ทั้งที่อยู่ในเพื่อไทยและนอกพรรคหรือไม่อย่างไร

เรื่องนี้มีการวิเคราะห์กันอยู่ในพวก 111 ทรท.บางคน บางคนบอกว่าจะเป็นการทำให้ ส.ส.เสื้อแดงในพรรค รวมถึงพวกแกนนำนปช.จังหวัดต่างๆ ที่พยายามเกาะเกี่ยวหาประโยชน์กับเพื่อไทย มีอำนาจการต่อรองน้อยลง

เช่นจากเดิมหากอยากดันของเสื้อแดงคนไหนลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบเขต ก็จะอ้างว่าเป็นแกนนำเสื้อแดง เป็นคนที่ในพื้นที่ให้การสนับสนุน ส่งลงแล้วชนะแน่นอน เพราะประชาชนเรียกร้องมา เจอเหตุผลแบบนี้ ทักษิณก็อาจเกรงใจหรือประเมินพื้นที่ผิด ก็ส่งลงเลือกตั้ง ซึ่งก็พบว่าพวกสายเสื้อแดงที่ลงระบบเขต บางแห่งก็ชนะบางแห่งก็แพ้ แต่ถ้าใช้ระบบไพรมารี่โหวต ก็จะรู้ความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในเขตเลือกตั้ง ไม่เจอพวกแอบอ้าง ขอเกาะตราเพื่อไทยหากิน

ทว่าหากมองอีกด้าน ถ้าแกนนำแดงในแต่ละพื้นที่ใช้ระบบจัดตั้ง บล็อกเสียงกันไว้ตอนทำไพรมารี่โหวตว่าให้สนับสนุนใคร จนคนของตัวเองได้เสียงมาลำดับแรก จนพรรคต้องส่งลงเลือกตั้ง ถ้ามีการจัดตั้งเป็นระบบ ก็จะทำให้ฝ่ายเสื้อแดงที่เกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น มีสัดส่วนที่พรรคเพื่อไทยส่งลงเลือกตั้งจำนวนไม่น้อย ผลที่ตามมาก็คือ ส.ส.เพื่อไทยก็จะมีสายเสื้อแดงจำนวนมาก กลายเป็นว่า เสื้อแดงกลับยิ่งมีอำนาจต่อรองสูงขึ้นกว่าเดิม

แม้เรื่องปรับโครงสร้าง-ปฏิรูปพรรคเพื่อไทย จะอีกยาวไกล และไม่รู้จะทำได้จริงหรือไม่ หรือเป็นแค่การตีปี๊ปสร้างภาพนักปฏิรูปของพวก 111 ไทยรักไทยบางคน ถึงเวลาจริงๆ ก็พับแนวคิดไว้ในลิ้นชักเมื่อได้ตำแหน่งทางการเมืองจนไม่กล้าเดินหน้าทำอะไร เพราะเกรงจะทำให้ทักษิณไม่พอใจ

อย่างไรก็ตาม ความจริงที่หนีไม่พ้น ก็คือ ต่อให้ เพื่อไทย ปฏิรูปพรรคยกใหญ่ มีการกระจายอำนาจกันจริงในพรรคเพื่อไทย กระนั้น

เพื่อไทย ก็ยังเป็น เพื่อแม้ว-เพื่อทักษิณ วันยังค่ำ เพราะถ้าไม่มีทักษิณ ก็ไม่มีเพื่อไทย
คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร
เยาวภา วงศ์สวัสดิ์
พายัพ ชินวัตร
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์
กำลังโหลดความคิดเห็น