xs
xsm
sm
md
lg

ระทึก! ศาลรัฐธรรมนูญลงมติ “คางคกตู่” อยู่ต่อ หรือหลุด ส.ส.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จตุพร พรหมพันธุ์
สะเก็ดไฟ

ช่วงสายวันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคมนี้ จะรู้ชะตากรรมทางการเมืองของนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.จะต้องหลุดจากเก้าอี้ ส.ส.ระบบบัญชีพรรคเพื่อไทยหรือไม่ กับการลงมติและอ่านคำวินิจฉัยในคดีนี้ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน

ในคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีมติ 4 ต่อ 1 ว่านายจตุพร พรหมพันธุ์ ขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 20(3) จะส่งผลให้สมาชิกภาพของความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลงตามมาตรา 106 (4) และ (5) หรือไม่ ซึ่งหลัง กกต.มีมติก็ได้ส่งคำร้องต่อไปให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ส่งต่อมายังศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้

และได้มีการนัดลงมติและอ่านคำวินิจฉัยในวันศุกร์นี้ เวลา 10 โมงเช้า

งานนี้ จตุพร ส.ส.เสื้อแดงบางส่วน และกองเชียร์คนเสื้อแดงคงยกขบวนไปรอลุ้นการอ่านคำวินิจฉัยที่ห้องพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญเต็มกำลังแน่นอน หลังฟังคำวินิจฉัยแล้วจะมีท่าทีอย่างไร รับได้หรือไม่หากผลของคำร้องไม่เป็นอย่างที่เสื้อแดงต้องการ อันนี้ต้องรอติดตาม

ผลแห่งการวินิจฉัยคดี ยากจะคาดเดาได้ว่าจะออกมาอย่างไร แม้ตัวจตุพรจะพยายามพูดมาตลอด ทั้งในรายการของตัวเองในสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เอเชีย อัพเดท และบนเวทีเสื้อแดงหลายครั้งว่า

“รู้ผลแห่งการตัดสินคดีตั้งแต่เรื่องยังไม่ส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ”

พยายามสื่อสารว่า “ไม่รอดแน่”

จตุพรพยายามบอกว่าทำใจไว้ล่วงหน้าแล้ว ตั้งแต่ตอนที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้พิจารณาคำร้องอะไรเลยด้วยซ้ำ ออกมาพูดบ่อยจนกลายเป็นการส่งสัญญาณกดดันศาลรัฐธรรมนูญกลายๆ ไป

ทั้งนี้ที่มาที่ไปของคำร้องคดีจตุพร ในแง่กฎหมายแล้วมีความสลับซับซ้อนอย่างมาก เพราะเกี่ยวโยงกับข้อกฎหมายหลายมาตราทั้งรัฐธรรมนูญ-พ.ร.บ.พรรคการเมือง-ระเบียบข้อบังคับพรรคเพื่อไทย

ประเด็นสำคัญก็คือ จตุพรได้เป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย หลังการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 แต่ในระหว่างมีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง จตุพรถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำหลังศาลอาญาเพิกถอนการประกันตัวในคดีก่อเหตุความไม่สงบเรียบร้อยในการชุมนุมใหญ่เสื้อแดง แล้วระหว่างนั้นคือ 10 เมษายน 2554 จตุพรไปขึ้นเวทีปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วพูดจาปราศรัยด้วยข้อความที่ไม่เหมาะสม

จนดีเอสไอและอัยการยื่นคำร้องขอให้ถอนประกันตัว แล้วดำเนินคดีผิดมาตรา 112 แต่ล่าสุดดีเอสไอเพิ่งสั่งไม่ฟ้องเมื่อเร็วๆ นี้

เมื่อศาลอาญาเพิกถอนประกันตัว จตุพรจึงต้องถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง คือ 12 พฤษภาคม 2554 ต่อมา กกต.กำหนดรับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ระหว่างวันที่ 19-23 พฤษภาคม ตรวจคุณสมบัติผู้สมัคร ก่อนประกาศครั้งสุดท้าย 2 มิถุนายน 2554 เมื่อ กกต.ประกาศรับรองคุณสมบัติของจตุพร ให้เป็นผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อไทย ลำดับที่ 7 ทั้งที่ระเบียบพรรคเพื่อไทยตอนนั้น เขียนไว้ว่าสมาชิกพรรคจะต้องไม่ถูกจับกุมคุมขังโดยหมายของศาล แม้ต่อมาเพื่อไทยจะมีการแก้ไขภายหลัง และรัฐธรรมนูญมาตรา 19 และ 20 ก็บัญญัติว่า บุคคลที่จะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่จตุพรไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

จตุพรและทีมทนายความรวมถึงฝ่ายกฎหมายเพื่อไทยจึงใช้ประเด็นนี้โต้แย้ง คือ กกต.เป็นคนรับรองสิทธิการลงสมัครตั้งแต่ต้นแล้วจะมาเพิกถอนสิทธิในภายหลังได้อย่างไร ทั้งที่ก็เห็นอยู่แล้วว่าตอนนั้นถูกคุมขังและยากที่จะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 100 (3) ก็ระบุไว้ว่า บุคคลผู้มีลักษณะดังนี้ ในวันเลือกตั้งเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง คือ ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นนักโทษในเรือนจำ ไม่ว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วหรือไม่ก็ตาม จึงไม่มีสิทธิไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอยู่แล้ว

นอกจากนี้ จตุพรก็พยายามโต้แย้งว่าระหว่างการถูกคุมขังก็พยายามยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตซึ่งมีภูมิลำเนาตั้งอยู่ก็รับรองว่าเขาไม่เสียสิทธิเพราะได้แสดงเจตนาแล้ว

ทว่าในข้อเท็จจริงแล้ว จตุพรไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 เมื่อไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แล้วจะเป็น ส.ส.ได้หรือไม่ อย่างไร ตรงนี้คือประเด็นสำคัญที่รอการชี้ขาดจากศาลรัฐธรรมนูญ อันจะเป็นบรรทัดฐานทางข้อกฎหมายที่สำคัญต่อไป

มาถึงวันนี้จตุพรได้เป็น ส.ส.มา 2 สมัยถือว่าคุ้มแล้ว การจะพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.หรือไม่ จตุพรคงไม่แคร์เนื่องจากกำลังรอจะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีใน ครม.ยิ่งลักษณ์ 3 เร็ววันนี้ค่อนข้างแน่
กำลังโหลดความคิดเห็น