กลุ่มเสรีราษฎร์ บุกกรรมการสิทธิ์ เชิญร่วมงานศพ “อากง” ซัดทำเฉย ถามตรวจสอบมาตรฐานการรักษาพยาบาลหรือไม่ ด้านประธาน ยันพร้อมสอบ รับการเมืองเอี่ยว ม.112 ทำงานล่าช้า ด้าน “หมอนิรันดร์” ยันไม่รู้ “อำพล” ป่วยในคุก ชี้ประกันตัวอยู่ที่ดุลพินิจศาล เผยรวมคดีที่เกี่ยวข้องหาข้อเท็จจริงก่อนตั้งวงเสวนาต่อ
วันนี้ (14 พ.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เมื่อเวลา 13.00 น. นายนิธิวัต วรรณศิริ สมาชิกกลุ่มเสรีราษฎร์ พร้อมคณะเดินทางมายื่นบัตรเชิญไปร่วมงานศพนายอำพล ตั้งนพกุล หรืออากง นักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กับทางกรรมการสิทธิมนุษยชน พร้อมกล่าวว่า ตนเองขอตั้งข้อสังเกตว่าคดีของอากงเป็นคดีที่เงียบเกินไป เนื่องจากกว่า 481 วัน ที่อากงไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ทั้งที่เรื่องเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลา 1 ปีกว่า ทั้งที่เป็นเพียงแค่ผู้ถูกกล่าวหา จึงถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ รวมทั้งขณะนี้อากงเสียชีวิตมา 7 วันแล้ว แต่ทาง กสม.ก็ยังเงียบอยู่ จึงอยากถามทาง กสม.ว่าได้รับรู้กรณีนี้หรือไม่ รวมถึงต้องการความชัดเจนกรณีผู้เสียชีวิตภายในเรือนจำโดยที่ไม่ได้รับการประกันตัวจากคดีมาตรา 112 ตลอดจนได้ให้ กสม.ตรวจสอบมาตรฐานการรักษาพยาบาลในเรือนจำว่าได้รับสิทธิเท่ากับประชาชนที่อยู่ภายนอก
หรือไม่
ด้าน นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ในส่วนของการรักษาพยาบาลของผู้ต้องหาในเรือนจำ ทาง กสม.จะติดตามและตรวจสอบอย่างแน่นอน ซึ่งก่อนหน้านี้มีแผนงานที่จะดำเนินการอยู่แล้ว แต่ไม่มีเหตุการณ์ที่จะไปตรวจสอบได้จึงไม่ได้ดำเนินการ ส่วนมาตรา 112 ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ถูกโยงไปเกี่ยวกับการเมือง ทำให้ กสม.ทำงานลำบาก เพราะเมื่อถูกโยงไปกับการเมืองแล้ว การจะก้าวแต่ละก้าวจึงทำได้ช้า ดังนั้นต้องยอมรับสภาพในเรื่องนี้ว่าสาเหตุหลักที่ทำงานช้าเพราะมีการโยงการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่ง
ถ้าไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเราจะเดินหน้าได้เร็วกว่านี้
ขณะที่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตนได้ติดตามผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นนายสุรชัย แซ่ด่าน นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำคนเสื้อแดง รวมถึงคดีของอากงด้วย ซึ่งที่ผ่านมาตนได้เข้าไปพบอากงในเรือนจำมาแล้ว 1 ครั้ง แต่ไม่มีใครย้ำถึงเรื่องที่อากงป่วยจึงไม่ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ยืนยันว่าต้องดูสิทธิการประกันตัว การรักษา การตีตรวน ในเรือนจำ อย่างไรก็ตาม สำหรับสิทธิการประกันตัวต้องยึดหลักตามรัฐธรรมนูญ และขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล โดยพื้นฐานการทำงานของ กสม.ต้องอยู่บนพื้นฐานการถูกละเมิดสิทธิ หลังจากนี้เราต้องนำข้อเท็จจริงมาสรุปและเชิญฝ่ายต่างๆ มารับทราบและแสดงความคิดเห็นก่อนจะเสนอรัฐบาลต่อไป
อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตภายในเรือนจำของอากง เราใช้อำนาจในการตรวจสอบ นอกจากนี้ ทาง กสม.กำลังรวบรวมคดีที่เกี่ยวกับ ม.112 ซึ่งมีจำนวนกว่า 10 คดี ที่จะมีโอกาสหาข้อเท็จจริงมาสรุป และจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมกัน