xs
xsm
sm
md
lg

“สุนัย” ได้ที! โหน “ศพอากง” ชง กมธ.ตปท.16 พ.ค. - ฝรั่งอ้างชาวโลกมองไทยเสื่อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุนัย จุลพงศธร ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร (แฟ้มภาพ)
ปธ.องค์การสิทธิมนุษยชนภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก โผล่พบ ปธ.กมธ.ต่างประเทศ สภา ถาม “อากง” ตาย “สุนัย” ซัดส่อละเมิดสิทธิ์ หวั่นกลัว “สมยศ-สุรชัย” ตายคาคุก ชูปลุกกระแสต้านไม่ยอมรับคำพิพากษาเหมือนแผ่นดินไหวการเมือง ดันเข้าที่ประชุม 16 พ.ค. ด้านฝรั่ง จวกไทยไม่ปรับปรุงคดีหมิ่น สับนายกฯ ไม่ทำคืบให้ประกันตัว ยัน ม.112 ให้คนทั่วไปฟ้องไม่สมควร จี้รัฐสั่ง อสส.ยกคดีไม่มีมูล อ้างนานาชาติมองสยามเสื่อมถอย ฉะลงโทษแรงกว่าคดียาบ้า แนะปฏิรูป, ลดอัตราโทษ อย่าตัดสินดึงการเมืองเอี่ยว

วันนี้ (11 พ.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 16.00 น. นายแบรด อดัม ประธานองค์การสิทธิมนุษยชนภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เข้าพบนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อสอบถามถึงการเสียชีวิตของนายอำพล ตั้งนพกุล หรืออากง นักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ โดยนายสุนัยกล่าวว่า การเสียชีวิตของนายอำพล เป็นปรากฏการณ์ที่หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยธรรมในประเทศไทย ซึ่งกรรมาธิการต่างประเทศเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ และกังวลว่าจะเกิดการเสียชีวิตของนักโทษทางการเมืองและความคิดในคุกอีก เป็นที่ทราบดีว่า 4-5 ปี ไทยมีนักโทษทางการเมืองและทางความคิดเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้รับการประกันตัว อาทิ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนาย
สุรชัย แซ่ด่าน รวมทั้งคนเสื้อแดง โดยเฉพาะนายสุรชัยที่มีอายุมากแล้ว เกรงว่าจะเสียชีวิตในคุก ทั้งนี้จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของกรรมาธิการฯ ในวันที่ 16 พ.ค.นี้

“เห็นได้ชัดว่าคดีอากงเป็นคดีแรกที่ทำให้เกิดกระแสต่อต้านในหมู่ประชาชน โดยไม่ยอมรับคำพิพากษา ตนเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เหมือนแผ่นดินไหวทางการเมือง แต่ทุกคนกลับนิ่งเฉย” นายสุนัยกล่าว

ด้าน นายแบรดกล่าวว่า ตนรู้สึกไม่ดีเลย ที่กลับมาพูดเรื่องเดิม แต่ไม่ได้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยเฉพาะคดีหมิ่นสถาบัน ตนก็เคยพบนายกฯ คนปัจจุบัน และนายกฯ คนก่อนหน้านี้ ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าในเรื่องการให้การประกันตัว เราเห็นว่าการที่ให้บุคคลทั่วไปดำเนินการฟ้องร้องได้นั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมควรเกิดขึ้น เพราะจะนำไปสู่การกลั่นแกล้งกันได้ ซึ่งการฟ้องร้องควรเป็นการดำเนินการของหน่วยงานรัฐและมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่กลั่นกรอง ว่าเรื่องดังกล่าวสมเหตุสมผลหรือไม่ รัฐบาลควรมีคำสั่งไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดสั่งให้มีการจัดการคำร้องที่ไม่มีมูลออกไปจากสารบบ

“สถานะของไทยขณะนี้เสื่อมถอยไปมาก ในสายตานานาชาติ ซึ่งปัจจัยหนึ่งมาจากอัตราโทษที่รุนแรง และจำคุกเป็นเวลานาน ซึ่งส่วนมากมาจากคดีหมิ่นสถาบัน เป็นเรื่องที่ชาวโลกไม่สามารถเข้าใจได้ อาทิ กรณีคดีอากง บทลงโทษรุนแรงกว่า เมื่อเทียบกับคดีอาชญากรรม คดียาเสพติด เมื่อเทียบกันแล้วไม่สมเหตุสมผล” นาย
แบรด อดัมกล่าว

นายแบรดกล่าวอีกว่า รัฐบาลและศาลยุติธรรมควรปฏิรูปกฎหมาย เพื่อลดอัตราการลงโทษในคดีหมิ่นสถาบัน เพราะที่ผ่านมาการตัดสินในคดีหมิ่นสถาบันมีการดึงเอาเหตุทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น การตัดสินของศาลต้องมีเหตุผลที่อธิบายได้ อดีตไทยเคยมีเสรีภาพทางสื่อออนไลน์มากที่สุด แต่ระยะหลังมีการปิดกั้น ซึ่งกติการะหว่างประเทศกำหนดให้สังคมประชาธิปไตย ควรมีการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นให้น้อยที่สุด แต่ไทยกลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม
กำลังโหลดความคิดเห็น