xs
xsm
sm
md
lg

อดีต ส.ว.อุบลฯ ขึ้นศาลเบิกความป้อง “สมยศ” หมิ่นเบื้องสูง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยคดีหมิ่นเบื้องสูง
อดีต ส.ว.อุบลราชธานี ขึ้นเบิกความต่อศาลป้องคดี “สมยศ” หมิ่นเบื้องสูง อ้างบทความที่นำเสนอเป็นการแสดงออกทางความคิดของสื่อ ขณะที่ศาลส่งเรื่อง ม.112 ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความตามที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอ พร้อมนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้ง

วันนี้ (3 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยานจำเลยเป็นเป็นวันสุดท้าย ในคดีที่พนักงานอัยการสำนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาเพื่อประชาธิปไตย และอดีตบรรณาธิการหนังสือวอยซ์ ออฟ ทักษิณ จำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีเมื่อวันที่ 1-15 มี.ค.53 นิตยสาร VOICE OF TUKSIN : เสียงทักษิณ ปีที่ 1 ฉบับที่ 15 ปักษ์หลัง กุมภาพันธ์ 2553 ได้ลงบทความ คมความคิดของผู้ใช้นามปากกาว่า “จิตร พลจันทร์” เรื่องแผนนองเลือด กับยิงข้ามรุ่น หน้าที่ 45-47 โดยบทความมีเนื้อหาแสดงความเกลียดชัง และมุ่งร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

โดยในวันนี้ พยานฝ่ายจำเลยขึ้นเบิกความต่อศาลเป็นปากสุดท้าย คือ นายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อดีต ส.ว.อุบลราชธานี ขึ้นเบิกความต่อศาล ว่าบทความเป็นสิทธิในการแสดงออกทางความคิดของสื่อมวลชน และในบทความเพียงบอกว่ากลุ่มที่ยึดอำนาจในปี 49 เป็นเผด็จการ แม้ในหนัง หรือบทความก็มีการกล่าวถึง และลงรูปภาพนักการเมือง อย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือนายเนวิน ชิดชอบ และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีจริง แต่ไม่มีส่วนไหนที่ระบุถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เลย กระทั่งคำบางคำในบทความที่ระบุว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนตัว ก็มองว่าไม่ได้หมายถึง และเกี่ยวข้องกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

“กฎหมายก็ระบุไว้ชัดเจน ว่า บก.ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในสิ่งที่พิมพ์ การที่จะไปกล่าวหาว่าอีกฝ่ายล้มเจ้า ก็เหมือนกับสมัยก่อนที่มีการกล่าวหาว่าคนอีกกลุ่มเป็นคอมมิวนิสต์” นายนิรันดร์กล่าว

นายนิรันดร์ กล่าวว่า ตนเห็นว่ากฎหมาย มาตรา 112 มีอัตราโทษสูงกว่ามาตราอื่นที่มีลักษณะความผิดเดียวกัน และใครก็สามารถเป็นผู้ฟ้องร้องได้ ซึ่งทำให้ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน แม้ความจริงแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักที่ควรดำรงซึ่งเกียรติยศและปกป้อง แต่ไม่ควรจัดอยู่ในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ เพราะในทางปฎิบัตินั้น กษัตริย์ทรงโดนดึงลงมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง โจมตีฝ่ายตรงข้าม โดยส่วนตัวตนเห็นว่า ไม่ควรดึงสถาบันกษัตริย์ และองคมนตรีมาเกี่ยวข้อง และตนก็ไม่ได้มอง พล.อ.เปรม เป็นหัวหน้าอำมาตย์ แต่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม ภายหลังสืบพยานจำเลยทั้ง 7 ปากแล้ว ศาลได้มีคำสั่งให้นัดพร้อมรอฟังคำพิพากษาในวันที่ 19 ก.ย. เวลา 09.00 น. เนื่องจากทางทนายจำเลยได้เคยยื่นคำร้องต่อศาลให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ควรให้ส่งคำร้องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามหลักกฏหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 211 จึงจะต้องส่งคำร้องนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนที่จะนัดอ่านคำพิพากษาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น