xs
xsm
sm
md
lg

โชคดีของคนกรุง พรรคเพื่อไทยหมดสิทธิฮุบรถไฟฟ้าบีทีเอส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พรรคเพื่อไทย ทั้งโกรธและแค้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เซ็นสัญญาจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชน กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เป็นผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นเวลานานถึง 30 ปี

เพราะทำให้แผนการชุบมือเปิบฮุบรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งเป็นของ กทม. พังไปโดยปริยาย อย่างน้อยที่สุดก็ต้องรอไปจนกว่าสัญญาจะหมดอายุในปี 2585

สมมติว่าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งหน้า หรือครั้งต่อๆ ไปในอนาคต แล้วต้องการเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกสัญญา ก็ใช่ว่าจะทำได้โดยพลการ เพราะ กทม. โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม ได้สัญญาว่าจ้างบีทีเอสให้เป็นผู้เดินรถแล้ว

จะใช้เสียงข้างมากลากไป แก้กฎหมายเพื่อโอนรถไฟฟ้าไปเป็นของรัฐบาลก็คงไม่ง่ายเหมือนแก้รัฐธรรมนูญ หรือเขียนกฎหมายใหม่เพื่อล้างความผิดของ นช.ทักษิณ ชินวัตร

สัญญาระหว่างกรุงเทพธนาคม และบีทีเอสซี ซึ่งมีการลงนามไปเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ต้องถือว่ เป็นแผนเหนือเมฆ ที่พรรคเพื่อไทยคาดไม่ถึงว่า กทม.จะใช้วิธีนี้รักษารถไฟฟ้าให้พ้นจากเงื้อมมือของรัฐบาลไปได้ มารู้ตัวเอาก็ต่อเมื่อการเซ็นสัญญาปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว

พรรคเพื่อไทยทำได้มากที่สุดแค่ตีปี๊บ คือให้ทีมโฆษกพรรคออกมาให้ข่าวสร้างกระแสว่าสัญญาว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส ระหว่างกรุงเทพธนาคม กับบีทีเอส ผิด พ.ร.บ.ร่วมทุน และใช้ให้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับลูกไปตั้งทีมสอบสวน ข่มขู่ รังควาน สร้างความรำคาญให้แก่บริษัท กรุงเทพธนาคม และบีทีเอสซี ต่อไป

รถไฟฟ้ากรุงเทพมหานคร หรือรถไฟฟ้าบีทีเอสนั้น เป็นเป้าหมายที่พรคเพื่อไทยไทยต้องการยึดมาเป็นของรัฐบาล ตั้งแต่ครั้งยังเป็นพรรคไทยรักไทย สมัยรัฐบาลทักษิณ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหารบีทีเอสซี ยืนยันเองว่าเคยถูกนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตอนนั้น เรียกเข้าไปคุยเรื่องนี้ โดยมี นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ รฟม.ในขณะนั้นอยู่ด้วย นายประภัสร์ถามนายคีรีว่าจะขายไหม นายคีรีตอบว่าไม่ขาย

รัฐบาลทักษิณยังจับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า ช่วงสะพานตากสินถึงวงเวียนใหญ่ เป็นตัวประกัน ไม่ยอมอนุมัติงบประมาณให้ กทม. เพื่อลงทุนวางราง และก่อสร้างสถานี ทั้งๆ ที่ตัวโครงสร้างก่อสร้างเสร็จนานแล้ว เพราะต้องการเจรจาซื้อหุ้นบีทีเอสให้เสร็จก่อน จน กทม.ในยุคที่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าราชการฯ ตัดสินใจลงทุนเองจนสามารถเปิดให้บริการได้ และกำลังจะให้บริการในเส้นทางที่ต่อไปจนถึงบางหว้า เพชรเกษม ในขณะที่ส่วนต่อขยายจากอ่อนนุชไปถึงแบริ่ง ก็ให้บริการมาหลายเดือนแล้ว ทำให้คนกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยมีการเดินทางที่สะดวกสบายขึ้นกว่าเดิมมาก

เมื่อรัฐบาลนายกฯ นกแก้ว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นมาบริหารประเทศ นโยบายลำดับต้นๆ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรงคมนาคมทั้งคนก่อน คือ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณฑัต และคนปัจจุบันคือ จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ประกาศอย่างเปิดเผยคือ จะต้องโอนรถไฟฟ้าของ กทม.มาให้กระทรวงคมนาคม หรือ รฟม.ดูแล เพื่อให้นโยบาย ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสายที่พรรคหาเสียงไว้เป็นจริง

พรรคเพื่อไทยหวังจะใช้โครงข่ายรถไฟฟ้าบีทีเอสมาปิดบังความล้มเหลว และความหลอกลวง ของนโยบายรถไฟฟ้า 10 สาย ค่าโดยสาร 20 บาท ตลอดสายที่หาเสียงไว้ เพราะเวลาผ่านไป 8-9 เดือนแล้วนับตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาล ความคืบหน้าของนโยบายนี้มีแต่เรื่องการล้มประมูลรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต การเปลี่ยนแบบ แก้แบบ ขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งเป็นช่วงต่อจากรถไฟบีทีเอส จากหมอชิตถึงสะพานใหม่ ที่พรรคภูมิใจไทยไปขโมยจาก กทม.มาให้ รฟม.ทำในสมัยรัฐบาลที่แล้ว สายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ และบางซื่อ-ท่าพระ ที่มีการก่อสร้างโครงสร้างแล้ว แต่การวางระบบราง การหาผู้มาเดินรถยังไม่มีความคืบหน้าเลย

โครงการเดียวที่เริ่มลงมือสร้างได้ในรัฐบาลนี้ คือ ช่วงต่อจากแบริ่ง ไปสมุทรปราการ ก็เป็นเพราะว่ามีการเปิดประมูลและเซ็นสัญญาก่อสร้างงานโยธา ในช่วงรอยต่อระหว่างรัฐบาลอภิสิทธิ์กับรัฐบาลนี้

อีก 9 สายที่เหลือที่หาเสียงไว้คงไม่แคล้วเป็นเรื่อง “แหกตา” เหมือนนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาลนี้

รถไฟฟ้าของ กทม. ซึ่งประกอบด้วยส่วนที่บีทีเอส เป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง และรับสัมปทานจาก กทม. คือ สายหมอชิต-อ่อนนุช และสายสนามกีฬา-สะพานตากสิน กับส่วนต่อขยาย คือ ช่วงสะพานตากสิน วงเวียนใหญ่ และช่วงอ่อนนุช แบริ่ง ที่ กทม.เป็นผู้ลงลงทุนก่อสร้าง และจ้างบีทีเอสบริหาร จึงเป็นเป้าหมายที่พรรคเพื่อไทยต้องการฮุบมาเป็นของรัฐบาล เพื่อปกปิดความล้มเหลวในนโยบายรถไฟฟ้า 10 สายของพรรคที่หาเสียงไว้

จะว่าเป็นโชคดีของคน กทม.ก็ได้ ที่ กทม.เซ็นสัญญาว่าจ้างบีทีเอสให้บริหารรถไฟฟ้าทุกเส้นทางไปเลย จนถึง ปี 2585 ปิดทางไม่ให้พรรคเพื่อไทยมาฮุบไป เหมือนตลาดนัดจตุจักร
กำลังโหลดความคิดเห็น