ซีอีโอ “บีทีเอส” โต้ข่าว “กทม.” ต่อสัมปทาน 30 ปี ส้มหล่นทับ 2 แสนล้าน ไม่หวั่นอำนาจ “พท.” ยื่น “ดีเอสไอ” สอบฮั้วผิด พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ย้ำชัด สัญญาเดิม ก็ยังมีอายุ 17 ปี แม้จะมีการว่าจ้างให้บริหาร ส่วนต่อขยาย “อ่อนนุช-แบริ่ง” สายสีเขียว ลั่นหากมีการตรวจสอบและชี้มูลความผิด พร้อมจะต่อสู้ทาง กม. และไม่อยากถูกมองเป็นปัญหาการเมือง ยอมรับ หลายประเทศก็มีปัญหานี้ แนะให้ภาครัฐกลับไปคุยกันให้ลงตัวก่อน
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS กล่าวในการแถลงข่าวผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจ ภายหลังจากที่ บริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน) ได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และเปลี่ยนแปลงจากสถานะบริษัทในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เป็นขนส่ง พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) อีกทั้งจะครบรอบ 2 ปี ในเดือนพฤษภาคม 2555 นี้
นายคีรี ได้กล่าวชี้แจงประเด็นสัญญาสัมปทาน กรณีพรรคเพื่อไทย (พท.) ยื่นฟ้องต่อกรมสืบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต่อสัญญาจ้างในรถไฟฟ้าบีทีเอส ระยะเวลา 30 ปี เมื่อช่วงเช้าวันนี้ ชอบด้วยกฎหมาย หรือเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ร่วมทุน, พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐหรือไม่ โดยยืนยันว่า สัญญาสัมปทานเดิมก็ยังมีอายุ 17 ปี แม้จะมีการว่าจ้างให้บริษัทบริหารเส้นทาง อ่อนนุช-แบริ่ง ในส่วนต่อขยาย สายสีเขียว
“ยืนยันว่า สัญญาที่ทำมีความรอบคอบ และมีการศึกษาเป็นเวลาร่วมกว่า 2 ปี แต่หากมีการตรวจสอบและชี้มูลความผิด บริษัทก็พร้อมจะต่อสู้ทางกฎหมาย ซึ่งไม่อยากมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาการเมือง”
สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น นายคีรีเข้าใจว่า หลายประเทศก็ประสบปัญหาในรูปแบบนี้ กลุ่มบีทีเอสในฐานะเอกชน ก็รอให้ภาครัฐตกลงกันให้ได้ แต่สัญญาที่เกิดขึ้น ยืนยันว่าไม่ใช่การขยายเวลาสัญญาสัมปทาน
ทั้งนี้ ผลดำเนินงานในงวดปี 2555/2556 บริษัทคาดว่าจะมีรายได้เติบโต 20% จากปีก่อน โดยรายได้หลักยังคงมาจากธุรกิจรถไฟฟ้า ซึ่งคาดว่างวดปีนี้ยอดผู้โดยสารจะเติบโต 12-15% จากปีก่อนที่มียอดผู้โดยสาร 176 ล้านเที่ยวคน
นอกจากนี้ บริษัทยังคงมีแผนการลงทุนต่อเนื่องในการซื้อตู้รถไฟฟ้าเพิ่มเติม 35 ตู้เพื่อรองรับการขยายบริการ ซึ่งจ่ายเงินไปแล้ว 50% และปีนี้จะมีการจ่ายเงินเพิ่มในส่วนที่เหลือ นอกจากนั้น บริษัทจะลงทุนติดตั้งรั้ว และประตูอัตโนมัติเพื่อเพิ่มมาตรการป้องกันอุบัติเหตุให้แก่ผู้โดยสารรถไฟฟ้า บริเวณสถานีสยาม ฝั่งพารากอน คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปีนี้
นายคีรี กล่าวเสริมว่า ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้รับการติดต่อเข้าไปบริหารรถไฟฟ้าในต่างประเทศ 5 ราย แต่ต้องยอมรับว่าคงดำเนินเรื่องล่าช้า เพราะสภาพการเมืองในแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกัน
ขณะที่ ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ยังเติบโตต่อเนื่อง ภายใต้แบรนด์ Abstract และยังมีโรงแรมบนนถนนสาทร ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555
นายคีรี ยังกล่าวถึงธุรกิจสื่อโฆษณา ภายใต้ บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (VGI) ซึ่งเป็นบริษัทที่กลุ่มบีทีเอสถือหุ้น 100% โดยเป็นผู้พัฒนาสื่อโฆษณาภายในอาคารและระบบขนส่งมวลชน บริษัทคาดว่าจะนำ VGI เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ภายในปี 2555 ขณะนี้ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินแล้ว
สำหรับในงวดปี 2555/2556 คาดว่า VGI จะมีรายได้ 2.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ 2 พันล้านบาท ซึ่งการเติบโตของรายได้กว่า 40% จะมาจากกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ได้ลงนามสัญญาซื้อขายพื้นที่โฆษณากับห้างบิ๊กซี และเทสโก้ โลตัส