xs
xsm
sm
md
lg

มท.ยอมรับเงินซ่อมบ้านน้ำท่วม 2 หมื่นล่าช้าตามระบบราชการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มหาดไทยคุมเข้ม สวมรอยประกาศพื้นที่ภัยแล้ง สั่งห้ามประกาศเป็นเขตภัยพิบัติทั้งจังหวัด คาดโทษผู้ว่าฯ ผลาญงบประมาณโดยสิ้นเปลือง หวั่นเปิดช่องหาประโยชน์ ยอมรับเงินซ่อมบ้านน้ำท่วม 2 หมื่น ในจ.สมุทรสาคร ลพบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร รวม 8,787 ล้านบาทล่าช้าตามระบบราชการ

วันนี้ (10 พ.ค.) ที่กระทรวงมหาดไทย นายประชา เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีปัญหาภัยแล้งในขณะนี้หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงในการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติภัยแล้ง 51 จังหวัด ทั้งที่บางจังหวัดประสบปัญหาน้ำท่วมโคลนถล่มแล้ว ก็ยังไม่ยกเลิกประกาศภัยแล้งว่า ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีหลักเกณฑ์ชัดเจนอยู่แล้วว่าหากมีพื้นที่ประสบภัยจริง ก็ไม่ต้องประกาศทั้งหวัด ให้จังหวัดประกาศเฉพาะตำบล หรืออำเภอ เพื่อไม่ต้องให้ตัวเลขงบประมาณพุ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม หากแล้งเพียงตำบล หรืออำเภอเดียว แล้วประกาศทั้งจังหวัด เพื่อสนองอำนาจการใช้เงินของ
ตัวเอง ก็ถือว่าเป็นไปในลักษณะที่ไม่โปร่งใสซึ่งอย่างนี้ต้องรับผิดชอบ และกระทรวงมหาดไทยพร้อมจะลงโทษ โดยหากประชาชนพบความไม่ชอบมาพากล สามารถโทรศัพท์มาได้ที่สายด่วนกระทรวงมหาดไทย 1567

รองปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวต่อว่า ถ้าประสบภัยแล้งจริง อาทิ ชาวบ้านแล้งมากถ้าไม่ช่วยแล้วชาวบ้านจะเดือดร้อนอย่างยิ่งก็ต้องไปช่วยในการนำเอาน้ำดื่มไปแจก ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนเรื่องที่ประกาศไม่ตรงจุดนั้น ต้องมีเบาะแสมาก่อน จังหวัดไหน พื้นที่ไหน ถึงจะเข้าไปตรวจสอบได้ ตอนนี้อยู่ในระหว่างรอข้อมูลเพียงอย่างเดียว ซึ่งเรื่องนี้ตรวจสอบไม่ยาก ที่ผ่านมาได้ยินเรื่องนี้มาเยอะ พอประกาศเสร็จก็ซื้อของที่ไม่จำเป็นโดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

นายประชากล่าวถึงเงินซ่อมบ้านจำนวน 2 หมื่นบาท ตามระเบียบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้เร่งรัดไปยังจังหวัดแล้ว หากมีข้อมูลพร้อม สมควรที่จังหวัดต้องเร่งจ่ายเงินจำนวนนี้โดยด่วน

ที่ผ่านมาอาจล่าช้าไปบ้าง เนื่องจากต้องรวบรวมเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจความเสียหายจริง ตามระบบราชการ โดยยอดรวมที่จ่ายเงินช่วยเหลือไปแล้วใน จ.สมุทรสาคร ลพบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร รวม 8,787 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้ได้จ่ายเงินช่วยเหลือไปครบจำนวนแล้ว เหลือเพียงส่วนที่ช้า ซึ่งมาจากคนที่ประสบภัยจริง แล้วยื่นคำร้องไม่ทันในช่วงแรก จึงมีมติ ครม. วันที่ 1 มี.ค. ขยายเวลาให้มายื่นข้อมูลใหม่จนถึง 31 มี.ค. จึงทำให้กลุ่มหลังที่มายื่นจะได้เงินช้า

นายประชายังกล่าวถึงเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 5,000 บาทว่า กรมป้องกันฯ สรุปการช่วยเหลือตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 พ.ย. และวันที่ 31 ม.ค. ให้ขยายการช่วยเหลือจนถึงวันที่ 31 มี.ค. จำนวนครัวเรือนทั้ง 64 จังหวัด และ 11 จังหวัดภาคใต้ อนุมัติกรอบครัวเรือนทั้งสิ้น 2,289,562 ครัวเรือน เป็นเงิน 11,447,810,000 บาท อย่างไรก็ตาม มีครัวเรือนที่ตรงตามหลักเกณฑ์ เช่น น้ำท่วมขัง 7 วัน จำนวน 1,793,171 ครัวเรือน เป็นเงิน 8,965,855,000 บาท ทั้งนี้ ธนาคารออมสินจ่ายเงินแล้ว 1,456,221 ครัวเรือน เป็นเงิน 7,281,105,000 บาท คิดเป็น 97.99% ส่วนการช่วยเหลือในกรุงเทพมหานคร กรอบ 1,089,242 ครัวเรือน โดย กทม.รับรองข้อมูลและแจ้ง ปภ. ส่งธนาคารออมสิน 597,764 ครัวเรือน โดยจำนวนวงเงินใน กทม.ค่อนข้างน้อย อาจเป็นเพราะประชาชนต้องไปยื่นหลักฐานที่เขตหลายครั้ง อาจจะไม่อยากเสียเวลาเดินเรื่องอีกจึงไม่รับเงินก็เป็นได้ และในส่วนที่เหลือของต่างจังหวัดนั้น อาจมาจากครัวเรือนนั้นไปทำงานที่อื่น และติดตามตัวไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น