xs
xsm
sm
md
lg

“ฐิติมา” เผยนายกฯ เรียก รมต.พท.เร่งงาน - โบ้ย กทม.อืดทำชาวบ้านได้ 5 พันช้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางฐิติมา ฉายแสง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (แฟ้มภาพ)
รองเลขาฯ นายกฯ ยัน ครม.อนุมัติเงิน 5 พันช่วย 6.2 แสนครัวเรือนแล้ว ซัด กทม.รวมชื่อได้แค่ 2 แสน โบ้ยเมืองหลวงไม่ประสานท้องถิ่น แนะชาวบ้านตามเรื่องเขตเอง ย้ำค่าเสียหายซ่อมบ้านคนละส่วนกัน เผยนายกฯ เรียก รมต.เพื่อไทยเร่งรัดงาน

วันนี้ (3 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางฐิติมา ฉายแสง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวถึงปัญหาการจ่ายเงินชดเชยเยียวยา 5,000 บาท ที่มีความล่าช้า โดยทาง กทม.ได้ระบุว่าเกิดจากรัฐบาลอนุมัติเงินช้า และรัฐบาลเองก็ออกมาระบุเกิดจาก กทม.ที่รวบรวมรายชื่อล่าช้าเองว่า หลักการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเรื่องที่ต้องมีการนำเข้า ครม. ไม่เหมือนค่าชดเชยการซ่อมแซมบ้าน 10,000 ถึง 30,000 บาท ซึ่งเงินชดเชยการซ่อมแซมบ้านผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจทำได้เลย และเมื่อวันที่ 15 พ.ย.54 ทาง กทม.ได้มีการเสนอ ครม.มาแล้ว 621,355 ครัวเรือน ในวงเงิน 3,106.775 ล้านบาท เมื่อผ่านการอนุมัติของ ครม.แล้ว กทม.ก็จะไปตรวจสอบรายละเอียดของประชาชนที่มายื่นเรื่อง แต่ปรากฏว่าสามารถรวบรวมได้เพียง 2 แสนกว่าครัวเรือน จาก 621,355 ครัวเรือน

นางฐิติมากล่าวต่อว่า ขั้นตอนต่อไปก็ส่งไปให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ตรวจสอบชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน โดยใช้เวลาในการตรวจสอบไม่นาน และส่งเรื่องต่อไปยังธนาคารออมสิน โดยธนาคารออมสินนั้นไม่ได้มีการตรวจสอบอะไรมาก เพราะทาง ปภ.ตรวจสอบให้เรียบร้อยแล้ว จากนั้นธนาคารออมสินก็ส่งเรื่องไปยังสำนักงบประมาณเพื่อให้โอนเงินเข้ามา และธนาคารออมสินก็จ่ายเงิน ซึ่งเวลาทั้งหมดไม่ได้ใช้เวลานานเลย เพราะฉะนั้น ความสับสนเกิดจากครัวเรือนที่ได้เพียง 2 แสนกว่าครัวเรือน และยังขาดอีก 3 แสนกว่าครัวเรือน โดยอาจจะเกิดจากประชาชนยังไม่ได้มาติดต่อกับ กทม. หรือ กทม.ไม่มีเจ้าหน้าที่เชื่อมโยงกับทางผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต.ที่เป็นต้นทางของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะเป็นตัวเร่งการทำงานให้เร็วและดีพอก็เป็นไปได้

นางฐิติมากล่าวต่อว่า เมื่อวันอังคารที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ทาง กทม.มีการขอเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง จำนวน 12 เขต จากเดิมที่ กทม.ไปแล้วขอ 3 เขต รวมแล้วกรอบครัวเรือนทั้งหมด 467,000 ครัวเรือน โดยกรอบวงเงินที่ กทม.ขอมารวมทั้งหมด 3,106 ล้านบาท ขณะนี้ 3,031.505 ล้านบาท อยู่ที่ธนาคารออมสินพร้อมจ่ายหมดแล้ว โดยประชาชนสามารถไปติดต่อที่ธนาคารออมสินสาขาต่างๆ ได้ ส่วนในต่างจังหวัดธนาคารออมสินแต่ละสาขาจะติดต่อไปทางจังหวัด ทางจังหวัดจะติดต่อไปทางอำเภอ ทางอำเภอจะติดต่อ อบต. และบอกในท้องถิ่นอีกทีจนถึงประชาชน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่รัฐบาลมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่าทาง กทม.ไม่มีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นลงไปตรวจสอบเหมือนต่างจังหวัด ประชาชนที่ยังไม่ได้รับเงินจะต้องทำอย่างไร นางฐิติมากล่าวว่า ประชาชนควรจะไปติดต่อที่ กทม. หรือที่เขต เพราะ กทม.ก็เคยระบุแล้วว่าไม่จำเป็นต้องมีรูปภาพและไม่จำเป็นต้องไปแจ้งความ แต่การสื่อสารอาจยังไม่ดีพอ เพราะประชาชนบางคนยังสับสนอยู่ รวมถึงความเข้าใจของข้าราชการเองและความเข้าใจของทาง กทม.ด้วยหรือไม่ เนื่องจากตอนแรกมีการกำหนดภายใน 45 วัน ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเลย 45 วัน ประชาชนจะไม่ได้เงินเลย ครม.ไม่ได้มีนโยบายที่จะไม่จ่ายเงิน แต่ 45 วันนั้น ครม.กำหนดว่าเป็นเวลาการทำงานของราชการ แต่เมื่อเลยกำหนด 45 แล้วต้องมีการนำเข้าครม.เพื่อขอขยายเวลา ดังนั้น กทม.จึงต้องมาขอขยายเวลาเมื่อทำงานไม่ทันเช่นกัน

“ขอฝากกับประชาชนว่าท่านต้องได้รับเงิน และขอฝากข้าราชการด้วยว่าท่านต้องรีบทำงาน เพื่อเร่งรัดให้กระบวนการนั้นรวดเร็ว จากการสำรวจดูแล้ว ปภ.ใช้เวลาทำงานไม่เกิน 2 วัน และใช้ระบบไอที ทางธนาคารออมสินก็ใช้เวลาไม่นาน 2-3 วันก็เสร็จ เพราะทาง ปภ.ตรวจสอบแล้ว ทั้งหมดไม่ได้ใช้เวลานาน แต่ความเข้าใจเบื้องต้นอาจเกิดจากความสับสน คิดว่าเลยเวลาแล้วไม่มาติดต่อ และอาจจะมีกรณีตกสำรวจ เช่น จ.ฉะเชิงเทรา บางพื้นที่อาจตกสำรวจไปร้อยกว่าหลังคาเรือน และประชาชนไปพูดกับอบต.และอบต.อาจจะบอกว่าไม่มีสิทธิ์ได้รับเพราะเกินเวลาไปแล้ว แท้จริงยังไม่หมดเวลาขอขยายเวลาได้ รัฐบาลยืนยันว่าจะต้องดูแลประชาชนให้รับในสิ่งที่ไม่ได้รับ” นางฐิติมากล่าว

นางฐิติมากล่าวต่อว่า ขอย้ำว่าเรื่องค่าเสียหายในการซ่อมแซมบ้านเรือนเป็นคนละส่วนกันกับ 5,000 บาท เพราะกรณีเงินชดเชยค่าซ่อมแซมนั้นต้องเป็นบ้านที่อยู่ประจำ และเป็นเจ้าของบ้านที่มีการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว

เมื่อถามถึง กรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยหารือที่บ้านพิษณุโลก เป็นการพูดคุยเรื่องงบประมาณด้วยหรือไม่ นางฐิติมากล่าวว่า เท่าที่สอบถาม นายกฯมีการติดตามงานเร่งรัดการทำงานให้มีประสิทธิภาพ และชี้แจงแนวทางการทำงานให้รัฐมนตรีทราบ
กำลังโหลดความคิดเห็น