xs
xsm
sm
md
lg

จี้รื้อ กม.กว่า 90 ฉบับให้สอดคล้องคำวินิจฉัย พ.ร.บ.ขายตรง ของศาล รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 จรัญ ภักดีธนากุล (แฟ้มภาพ)
เสวนาวิชาการศาล รธน. เหตุวินิจฉัย พ.ร.บ.ขายตรงขัด รธน.หวั่นหน่วยงานที่ปฏิบัติ และประชาชนไม่เข้าใจ ส่งผลกลายเป็นช่องว่างให้อาชญากรใช้ความไม่รู้เอาเปรียบประชาชน พร้อมจี้รื้อกฎหมายกว่า 90 ฉบับให้สอดคล้องคำวินิจฉัย

วันนี้ (8 พ.ค.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้จัดเสวนาทางวิชาการเรื่อง “หลักนิติธรรม : กรณีกฎหมายสันนิษฐานความผิดทางอาญา” โดยมีนายจรัญ ภักดีธนากุล นายเฉลิมพล เอกอุรุ และนายอุดมศักดิ์นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนายกำชัย จงจักรพันธ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ร่วมบรรยาย ซึ่งภายในงานมีตัวแทนจากหน่วยงาน เช่น ศาลฎีกา ศาลปกครอง สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม เข้าร่วมงาน

นายจรัญกล่าวว่า การจัดเสวนาครั้งนี้เกิดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญล่าสุดที่ว่า พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดขายตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 54 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรคสอง เฉพาะส่วนสันนิษฐานให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องได้รับโทษทางอาญาร่วมกับการกระทำผิดของนิติบุคคล โดยไม่ปรากฏว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใดอย่างหนึ่งกับการกระทำความผิดของนิติบุคคล เป็นอันบังคับใช้ไม่ได้ คือเป็นการรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการทำงานทั้งฝ่ายวิชาการและฝ่ายปฏิบัติที่ต้องเป็นไปตามวิถีทางเดียวกันเพื่อประโยชน์ของประเทศ

โดยปัญหาเดิมของกระบวนการยุติธรรม คือ การรับผิดทางอาญาของนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน และกฎหมายนิติบุคคลที่เข้ามาบทบาทมากขึ้นในอดีต และอาจมีผลกระทบต่อการใช้กฎหมายอาญาหลายประเทศ คือเมื่อเป็นนิติบุคคล ไม่ต้องรับผิดอะไร เพราะมีคำถามว่า เมื่อนิติบุคคลไม่ใช่คนจะมีเจตนาอย่างไร มีแนวทางความผิดอย่างไร เพราะเกิดมาจากทางแพ่ง ไม่ใช่ทางอาญา แต่ต่อมาก็มีวิธีการดำเนินการทางอาญาได้ แต่อยู่ในข้อจำกัด คือได้เพียงปรับ ริบทรัพย์ หรือให้ยกเลิกการเป็นนิติบุคคลนั้น ศาลฎีกาก็ได้วางแนวทางไว้ว่าให้นิติบุคคลรับผิดทางอาญาได้ และให้ผู้แทนนิติบุคคลรับผิดนั้นแทน

นายจรัญบรรยายต่อว่า ความรับผิดของนิติบุคคลตามที่ศาลฎีกาวางบรรทัดฐานไว้ก็ตรงกับหลักสากล ที่ผู้แทนนิติบุคคลก็ต้องรับผิดไปตามอาญา แต่ก็มีปัญหาว่าถ้าผู้แทนนิติบุคคลไม่ได้มีส่วนในการทำผิดจะทำอย่างไร ในยุคแรกๆ ของกฎหมายกำหนดว่าหากนิติบุคคลมีความผิด ก็ต้องให้ผู้แทนนิติบุคคลรับผิดด้วย นอกจากมีหลักฐานว่าไม่เกี่ยวข้องจึงจะพ้นผิด และกฎหมายลักษณะนี้ก็ออกตามมาหลายสิบฉบับ แต่ช่วงนั้นไม่มีใครที่คัดค้าน เพียงแต่ออกมาทางงานวิชาการที่ออกมาสนับสนุนว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ โดยยกประเด็นว่าเป็นเพียงการสันนิษฐานเบื้องต้น ไม่ใช่การสันนิษฐานเด็ดขาด จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ ก็อยากอธิบายว่าข้อนี้ไม่ใช่ประเด็น เพราะการต่อสู้คดีการหาหลักฐานอยู่ที่โจทก์ การเขียนกฎหมายว่ามีความผิดไว้ก่อนแล้วให้จำเลยหาหลักฐานมาพิสูจน์ว่าไม่มีความผิดไม่ได้ การสันนิษฐานไว้ก่อนผู้แทนนิติบุคคลต้องร่วมรับผิดจนกว่าจะหาหลักฐานมาพิสูจน์ว่าไม่เกี่ยวข้องตามมาตรา 54 ตาม พ.ร.บ.ขายตรงฯ จึงขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้แทนนิติบุคคลมีความผิด

นายจรัญบรรยายด้วยว่า เรื่องนี้มีการทำวิจัยหลายรอบว่าจะหาจุดดุลยภาพเรื่องนี้ไปทางใด งานวิจัยเรื่องแรก หลงทางไปเอาการเอาผิดทางอาญาของนิติบุคคลมาเสนอ ตนก็บอกไปว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็น เพราะผู้แทนนิติบุคลต้องรับผิดอยู่แล้ว เช่นเดียวกับครั้งที่สองก็มีการหลงประเด็นที่ใช้การสันนิษฐานมาเป็นประเด็นหลัก จนมาถึงการวิจัยหลังๆ ก็มีความรอบครอบของข้อมูลมากขึ้น ปัญหาเรื่องนี้อาจมีลักษณะเหมือนไก่หรือไข่เกิดก่อนกัน ที่ขยับหลักนิติธรรมขึ้นไปเพื่อเป็นเงื่อนไขให้เจ้าหน้าที่ทำงานยากขึ้น คือ จะทำขัดต่อกฎหมายไม่ได้ อำนาจรัฐที่ออกกฎหมายจะทำขัดต่อสิทธิมนุษยชนไม่ได้ อย่างในประเทศออสเตรเลียที่มีการเขียนในรัฐธรรมนูญว่าการออกกฎหมายต้องเคารพ กฎหมายพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเข้าร่วมเป็นภาคี

นายจรัญให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า การเอาผิดต่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจลักษณะนี้ทำได้ยาก เพราะกฎหมายยังไม่สามารถเอาผิดหรือสาวไปถึงตัวการที่อยู่เบื้องหลังได้ เนื่องจากมีการตั้งตัวแทนหรือนอมินีเข้าไปเป็นกรรมการบริษัทแชร์ลูกโซ่ บริษัทปล่อยเงินกู้ แต่เชื่อว่าหน่วยงานต่างๆ จะได้นำประเด็นความเห็นจากเวทีวิชาการนี้ ไปปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันความผิดลักษณะนี้ไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต

ด้าน นายอุดมศักดิ์บรรยายว่า ตนเป็นเสียงข้างน้อย เพื่อให้ที่ประชุมได้ไปวิเคราะห์และพิจารณาถึงหลัก พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 หากจะมีการบัญญัติว่ากฎหมายว่าร้อยฉบับจะต้องบัญญัติว่าหากนิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดให้สันนิษฐานได้ว่าผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องของนิติบุคคล นั้นรู้เห็นเป็นใจของนิติบุคคลด้วย ซึ่งตนเห็นด้วยในหลักการที่กฎหมายนั้นมีการสันนิษฐานความผิดนั้นไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ตนเห็นต่างว่า การนำข้อวินิจฉัยมาบัญญัติไว้ในกฎหมายกว่าร้อยฉบับ เราจะเขียนคำวินิจฉัยดังกล่าวไว้ เพื่อให้เป็นข้อผูกพันกับทุกกฎหมายด้วยหรือไม่ ตนเห็นว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ควรผูกพันทุกกฎหมาย แต่ต้องวินิจฉัยเป็นรายฉบับไป ซึ่งเห็นการสันนิษฐานตามข้อวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริง ไม่ใช่สันนิษฐานความผิด เพราะกฎหมายได้บัญญัติไว้แล้วว่า หากผู้กระทำผิดนั้นพิสูจน์ได้ว่าไม่มีความผิด คือการพิสูจน์เจตนา การกระทำ หรือข้อเท็จจริง ซึ่งกฎหมายได้ให้โอกาสให้พิสูจน์ความผิดได้

“ผมเห็นว่าเมื่อพิสูจน์ความผิดได้ก็จะไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเห็นว่าไม่ได้เป็นการผลักภาระการพิสูจน์ แต่กฎหมายได้บัญญัติการพิสูจน์ไว้แล้ว จึงเป็นการสันนิษฐานข้อเท็จจริง ไม่ได้สันนิษฐานความเห็น กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นกฎหมายของผู้ที่มีความรู้และอาศัยความไม่รู้เอาเปรียบประชาชน ซึ่งประชาชนคนไทยรู้ไม่เท่าทันอาชญากรรมประเภทนี้ รัฐบาลต้องปกป้องประชาชนและเอาผิดผู้กระทำความผิด แต่ถ้าหากรัฐปกป้องเอาผิดกับผู้กระทำผิดโดยไม่คำนึงถึงประชาชนส่วนใหญ่จะ เป็นกฎหมายไม่ถูกต้องต่อหลักนิติธรรม”

ขณะที่ นายเฉลิมพลกล่าวว่า หลักนิติธรรมของหลักกฎหมายเกี่ยวกับข้อสันนิษฐานความผิดทางอาญาของผู้บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นหลักกฎหมายวิธีการพิจารณาตามหลักสากลที่หลายประเทศล้วนยึดถือ โดยในประเทศไทยก็รับเอามาใช้เป็นระยะเวลาช้านาน ซึ่งมีปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญหลายฉบับ รวมทั้งรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 39 วรรค 2 ที่ระบุว่า ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรม

ทั้งนี้ สำหรับประเทศที่ยึดหลักนิติธรรมและนิติรัฐก็จะมีองค์ประกอบข้อนี้อยู่ด้วย เพื่อเป็นหลักว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาจะต้องมีการสันนิษฐานก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด เมื่อมีการนำมาพิจารณาใช้กับพระราชบัญญัติที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คือ พ.ร.บ.ขายตรง และตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าถ้อยคำที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ดังกล่าวนั้นเป็นการขัดกับหลักข้อสันนิษฐานความเป็นผู้บริสุทธิ์ของจำเลยหรือไม่

ซึ่งในมาตรา 54 บัญญัติว่า กรณีที่ผู้กระทำผิดที่เป็นนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการหรือบุคคลใดที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของบุคคลนั้นต้องรับโทษตามกฎหมายระบุไว้ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าไม่มีส่วนกระทำผิดของนิติบุคคลนั้น ตรงนี้ที่บอกว่าให้กรรมการผู้จัดการหรือบุคคลใด รับผิดตามที่กฎหมายระบุไว้ เสียงส่วนมากเห็นว่าเป็นการขัดกับหลักนิติธรรม หากถามว่ากฎหมายที่บัญญัติเช่นนี้ประเทศอื่นก็มีเช่นกัน ที่เห็นชัดเจนคือประเทศออสเตรเลีย ที่มีบทบัญญัติในลักษณะนี้ ฉะนั้น กรณีของไทย ถ้าเขียนแต่เพียงว่า “กรณีที่ผู้กระทำผิดต้องรับโทษเป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการหรือบุคคลใดที่รับผิดในการดำเนินงานของนิติบุคคลมีส่วนร่วมในการกระทำผิดต้องรับผิดด้วย” เหตุผลนี้คงจะพอไปได้ แต่การที่สันนิษฐานไปก่อนล่วงหน้านั้น เป็นการผลักภาระให้จำเลยหรือผู้บริสุทธิ์ จึงเห็นว่าขัดต่อหลักดังกล่าวแน่นอน

นายกำชัย จงจักรพันธ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า ในมาตรา 54 ของ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากในมาตราดังกล่าวมีข้อความที่บัญญัติว่า ให้สันนิษฐานตั้งแต่แรกว่าผู้แทนนิติบุคคลต้องรับโทษทางอาญา และมีหน้าที่พิสูจน์ความบริสุทธิของตัวอง เป็นการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยมีความผิดนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเห็นออกมาเช่นนี้ก็ควรนำมาเป็นบรรทัดฐาน และก่อนอื่นต้องมีการบอกกล่าวให้กับประชาชนรับทราบ แต่ในฐานะเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมายและเป็นนักกฎหมายก็ได้ศึกษา และเห็นว่ามีกฎหมายกว่า 90 ฉบับที่อาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ขายตรงฯ นี้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องไปแก้ไขให้สอดคล้องตามคำวินิจฉัย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา แต่หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สนใจดำเนินการแก้ไขก็ควรที่จะพิจารณาตัวเองว่าสมควรที่จะอยู่ต่อไปหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น