xs
xsm
sm
md
lg

“จรัญ” ท้ายุบรวมศาล รธน.แต่อย่าทำเพราะเหลิงอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จรัญ ภักดีธนากุล
“ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” เปรียบการเมืองเป็นเหมืองทองของอำนาจ ที่นักการเมืองจ้องเข้ากอบโกย ชี้ต้องช่วยกีดกันเพื่อสร้างศรัทธา ระบุ ส.ส.ต้องมีอุดมการณ์มั่นคง พร้อมจี้ช่วยกันขับไล่ 5 อัปมงคลออกจากการเมือง ย้ำหากศึกษาพบศาลรธน.ไม่มีประโยชน์ยุบรวมได้เลย แต่อย่าทำด้วยอารมณ์ หรือการเหลิงอำนาจ

วันนี้ (20 เม.ย.) นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “มาตรฐานจริยธรรมทางการเมืองกับการสร้างจิตสำนึกสาธารณะ : หลักการกับข้อเท็จจริง” ให้แก่นักศึกษาหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 3 (พตส.3) ของสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง สำนักงาน กกต. โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ตนมองว่าคนบางคนเข้ามาในแวดวงการเมือง เพื่อต้องการแสวงหาและกอบโกยผลประโยชน์ เพราะเห็นว่าการเมืองเป็นเหมืองทองของอำนาจ ซึ่งเห็นว่าต้องช่วยกันกีดกันคนที่คิดอย่างนี้ เพื่อให้การเมืองมีความน่าคารพเชื่อถือ และเป็นหลักให้แก่ประเทศชาติได้อย่างแท้จริง

การที่พวกนักการเมืองมุ่งแสวงหาผลประโยชน์นั้นทำให้ประชาชนเห็นแล้วเกิดความรู้สึกทุเรศและดูหมิ่นการเมืองไปทั้งหมด ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อการเมืองและการปกครองของประเทศ คิดว่า กกต.และผู้ใหญ่ในแวดวงการเมืองต้องช่วยดูแล อย่าให้นักตื่นทองมาวิ่งแย่งชิงพื้นที่ที่สำคัญจนเป็นที่เอือมระอาสำหรับประชาชน ส่วนคนอีกพวกคือต้องการเข้ามาเล่นการเมือง ซึ่งเรื่องการเมืองเป็นเรื่องของประเทศชาติและประชาชน ไม่ใช่ให้พวกคนเหล่านั้นเข้ามาเล่น ส่วนที่ผู้ใหญ่ในการเมืองบางคนระบุอาชีพของตนเองว่ามีอาชีพเป็นนักการเมืองนั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เพราะการเมืองไม่ใช่การประกอบอาชีพและไม่ใช่ที่ที่ให้คนมาทำงาน ไม่เหมือนพ่อค้าหรือช่างซ่อมรถ แต่การเมืองเป็นพื้นที่ที่ต้องการคนดี มีความรู้ความสามารถ มีจิตคิดช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้แก่ประเทศชาติและประชาชน เข้ามาแบกรับภาระ โดยเสียสละประโยชนส่วนตน อุทิศแรงกายแรงใจร่วมกัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีต่อประเทศชาติและประชาชนด้วยความรู้ความสามารถความกล้าหาญและความเสียสละ เพิ่มมิติส่วนร่วมมากกว่าจังหวัดของตัวเองที่เลือกตัวเองมาซึ่งนั้นเป็นมิติของนักเลือกตั้งไม่ใช่นักการเมือง จึงขอให้ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชนมีอุดมการณ์แนวแน่ มั่งมั่นเพื่อความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ ไม่ใช่มาทำงานเพื่อตนเอง เพื่อพรรค เพื่อญาติพี่น้อง หรือเพื่อลัทธิการปกครองลัทธิใดลัทธิหนึ่ง แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่ปรากฏในนักการเมืองและข้าราชการไทย อาจเป็นเพราะว่าเราละเลยการปลูกฝังอุดมการณ์ชาติร่วมกันมาตั้งแต่ในระดับครอบครัว การศึกษาและศาสนาต่างๆ ทั้งนี้ ตนพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ถูกปลูกฝังให้จงรักภักดีเสียสละให้แก่องค์กร แต่ยังน้อยไปเมื่อเทียบกับงานในระดับการเมืองที่ต้องมีอุดมการณ์ร่วมกัน ซึ่งก็อยากขอให้เราช่วยกันไล่ 5 อัปมงคลในการเมืองออกไป ทั้ง 1. การฉ้อฉลทุจริต 2. การเอาเปรียบมิตรไร้สัจจะ 3. การกักขฬะหยาบช้า 4. ความโง่เขลาเบาปัญญา และ 5. กิเลสหนา ตัณหาหนัก เพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางการเมืองต่อไป

“สถานะนักการเมืองไม่ใช่คนเล็กๆธรรมดา แต่เปรียบเหมือนเป็นเทพที่คอยปกปักรักษาดินแดน ต้องเป็นผู้นำในทุกๆด้าน เป็นผู้ปกครองเป็นผู้บังคับบัญชา เป็นหัวหน้าดูแลรักษาประชาชน เป็นผู้สร้างผู้พัฒนาการแก้ปัญหาให้บ้านเมือง ไม่ใช่ทาสของมติให้มติหนึ่ง ผมไม่ได้จงเกลียดจงชังนักการเมือง ท่านเป็นผู้ที่ต้องทำภารกิจใหญ่ให้กับประเทศชาติ ในฐานะอันยิ่งใหญ่ ท่านต้องเป็นผู้ให้ ไม่ใช่ผู้รับ เป็นผู้เสียสละ ไม่ใช่ผู้ได้ ทำเพื่อส่วนร่วม ต้องเป็นผู้ตัดสินใจแทนองค์กร แทนสถาบัน ประเทศชาติและประชาชน เพราะข้าราชการประจำไม่กล้าตัดสินใจ เพราะต้องดูทิศทางของนักการเมือง เฉะนั้นยากมากในภารกิจและสถานะแบบนี้” นายจรัญ กล่าวและว่า แนวคิดและหลักการนี้เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนถ่ายอำนาจนั้นตนไม่เห็นด้วยกับการเล่นงานข้าราชการประจำที่เคยทำให้ท่านไม่พอใจ และเคยรับใช้นักการเมืองฝ่ายข้างมากในสมัยที่ท่านเป็นฝ่ายค้าน เพราะเขาไม่ได้เลวร้ายอะไร เขาเป็นเครื่องมือให้กับการเมืองได้ในด้านดี เพราะฉะนั้นอย่าทำลายข้าราชการเหล่านั้นยกเว้นพวกที่ทุจริตทำตัวเป็นสุนัขรับใช้ ควรให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการประจำที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา เพราะจะสร้างความเจ็บช้ำให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา และสร้างพฤติกรรมเบี่ยงเบนให้ข้าราชการกลายเป็นเกาะการเมืองไม่ถือประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก แต่บางตำแหน่งจำเป็นต้องเปลี่ยนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายตามสภาพภารกิจ ซึ่งต้องมีการตกลงกันก่อน อย่าลำเอียงโดยขาดข้อมูลความรู้ รวมทั้งอย่าหลงเชื่อว่าการเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่จำเป็นต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ไม่ควรนำใครก็ได้มาเป็นรัฐมนตรีโดยที่ไม่มีความเข้าใจความชำนาญกิจกรรมด้านนั้น เพราะข้าราชการเหมือนรถแข่งในสนาม แต่นักการเมืองเปรียบเสมือนเป็นผู้ขับที่จะต้องสามารถบริหารกลไกได้ อย่านำคนโง่เขลาเบาปัญญามาทำหน้าที่ เพราะอาจจะเกิดอันตรายได้

นายจรัญ ยังกล่าวถึงแนวคิดที่เสนอให้มีการยุบศาลรัฐธรรมนูญไปรวมอยู่ในศาลฎีกานั้นว่า สถาบันต่าง ๆ ในประเทศนี้เป็นของประชาชน ถ้าเสียงประชาชนเห็นว่าไม่มีประโยชน์เพียงพอก็ควรยุบ แต่ก่อนจะดำเนินการอะไรควรได้มีการตรวตสอบข้อมูลต่างๆ ให้ชัดเจนก่อน ศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าอยู่แล้วไม่มีประโยชน์ก็ต้องยุบ ตนไม่ได้รู้สึกตื่นเต้น แม้จะให้ไปเป็นแผนกหนึ่งในศาลยุติธรรม ก็ยังมั่นใจว่าศาลฎีกาเป็นของคู่บ้านคู่เมืองที่ดูแลหลักให้กับบ้านเมืองไม่แพ้ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นไม่เป็นปัญหา เพียงแต่ขอให้ใคร่ครวญให้ดี อย่าทำไปด้วยอารมณ์ หรือการเหลิงอำนาจ
กำลังโหลดความคิดเห็น