“ขุนค้อน” มอบ “เลขาฯสภา”สรรหาองค์กรมีสิทธิ์เสนอชื่อ ส.ส.ร. ตาม ม.291/6 "พิทูร" รับลูกมุ่งเน้นความหลากหลาย รอปธ.สภาฯเคาะ 15 คก.ตรวจคุณสมบัติ ด้านเด็กปชป. ซัดขุนค้อนเผด็จการรัฐสภา ชี้นำล่วงหน้าทั้งที่ร่างแก้รธน.ยังไม่ผ่านวาระ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 4 พ.ค. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรใน ฐานะประธานรัฐสภา กล่าวว่า ได้มอบหมายให้นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดองค์กรที่มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งส.ส.ร. จากการสรรหา จำนวน 22 คน ตามมาตรา 291/6 เนื่องจากไม่อยากให้เกิดข้อครหา ตามที่ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่า นายสมศักดิ์จะเลือกบุคคลของตนเอง และคนของพรรคเพื่อไทยมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งการให้นายพิทูร เป็นผู้ดำเนินการแทนเชื่อว่า จะลบคำตำหนิของพรรคฝ่ายค้านได้ อีกทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการฟ้องร้องในอนาคตจากองค์กรที่เสนอชื่อบุคคลให้เข้ามารับการคัดเลือกเป็นส.ส.ร. เหมือนเช่นกับที่เคยเกิดขึ้นอย่างการคัดเลือกกรรมการกสทช.
ด้าน นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า หลังจากประธานรัฐสภามอบหมายให้ดูแลเรื่องหลักเกณฑ์องค์กรที่มีสิทธิเสนอชื่อส.ส.ร.สรรหา 22 คน ได้มอบหมายให้นายจเร พันธุ์เปรื่อง รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายวิชาการ เป็นประธานกรรมการในการดูแลกฎระเบียบและข้อกฎหมายที่ประธานรัฐสภาต้องออก ภายหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว โดยคณะกรรมการดังกล่าวอยู่ระหว่างการกำหนดแผนงานว่า จะต้องทำสิ่งใดก่อน หรือหลังเพื่อดำเนินการจัดทำระเบียบ เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการเลือกส.ส.ร.ที่เป็นตัวแทนภาควิชาการ องค์กรธุรกิจ
นายพิทูร กล่าวด้วยว่า ส่วนการดำเนินการตามมาตรา 291/6 วรรค 4 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการ 15 คนเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นส.ส.ร.เป็นการดำเนินการอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งประธานรัฐสภาจะเป็นผู้พิจารณาในส่วนนี้ในภายหลัง ทั้งนี้คณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติน่าจะได้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของส.ส.ร.ตามที่กำหนดไว้ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291/6 โดยจะเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ซึ่งขณะนี้ประธานรัฐสภายังไม่ได้สรุปว่า คณะกรรมการทั้ง 15 ประกอบด้วยใครบ้าง
นายพิทูร กล่าวต่อว่า สำหรับการเตรียมการเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการสรรหาส.ส.ร. จะมุ่งเน้นให้เกิดความหลากหลายและยึดตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข โดยจะนำหลักเกณฑ์ขององค์กรอิสระที่มีลักษณะคล้ายๆกันเช่น สภาพัฒนาการเมืองมาพิจารณาประกอบกับการเสนอแนะจากสมาชิกรัฐสภาที่ได้อภิปรายระหว่างการพิจารณาในวาระ 2 มาประกอบกัน ส่วนกรอบเวลาที่จะดำเนินการนั้น ประธานรัฐสภาไม่ได้กำหนดว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด แต่หลักเกณฑ์และขั้นตอนทั้งหมดต้องเสร็จสิ้นและพร้อมใช้งานได้ทันที เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้
ขณะที่ นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาส.ส.ร. 22 คนตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291/6 ถือว่าไม่มีความเหมาะสมเนื่องจากรัฐธรรมนูญยังไม่ผ่านรัฐธรรมนูญทั้งสามวาระ อยากถามว่า นายสมศักดิ์จะทราบได้อย่างไร ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น การทำเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า นายสมศักดิ์ต้องการชี้นำรัฐสภา ไม่ต่างอะไรกับการทำให้เป็นเผด็จการรัฐสภา จึงอยากให้มีการทบทวนการดำเนินการดังกล่าว “นายสมศักดิ์ใช้อำนาจอะไรในการดำเนินการครั้งนี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญยังไม่ผ่านสภา ถ้าจะทำกันจริงๆต้องรอให้รัฐธรรมนูญผ่านทั้งสามวาระก่อน ถึงจะอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญเพื่อมอบหมายให้บุคคลใดมาดำเนินการเรื่องนี้”นายธนากล่าว