xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” เมินถกไฟใต้ร่วม “เฉลิม” จ่อชงนายกฯ ชู 9 ปัญหา 15 ทางแก้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
“ถาวร” เผย “มาร์ค-ส.ส.ใต้” เมินร่วมถก “เฉลิม” อ้างกลัวผิดรัฐธรรมนูญ แถมนายกฯ ก็ไม่มา ประชุมร่วมรัฐสภาก็ไม่เปิด จ่อยื่นข้อเสนอ “ยิ่งลักษณ์” แทน สับรัฐขาดนโยบายที่ชัด ไม่ยอมรับความจริงเหตุคาร์บอมบ์โยง “นช.แม้ว” จุ้น ชู 9 ปัญหาใหญ่ ชง 15 ข้อแก้ เตือนระวังแจงโอไอซีนำปัญหาสู่โลก หวั่นเยียวยาไม่เท่าแดง ทำประชาชนคิด 2 มาตรฐาน

วันนี้ (26 เม.ย.) นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวปฏิเสธที่จะร่วมประชุมกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ตามที่มีหนังสือเชิญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส.พรรคอีก 10 คน โดยระบุว่า เนื่องจากเกรงว่าจะมีปัญหาข้อกฎหมายตามมาเกี่ยวกับบทบัญญัติ
รัฐธรรมนูญมาตรา 265 และ 266 อีกทั้งในการประชุมดังกล่าวก็ไม่มีนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมตามที่นายอภิสิทธิ์ ได้เคยเสนอแนะไว้ รวมทั้งที่ผ่านมาทางพรรคได้ยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลเปิดกระชุมร่วมรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 179 แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล แต่จะใช้วิธีการยื่นข้อเสนอในการแก้ปัญหาให้กับนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้าแทน

นายถาวรกล่าวว่า สำหรับหนังสือเสนอแนวทางแก้ปัญหาของ ส.ส. 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาธิปัตย์ จะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีนั้น ยังได้วิเคราะห์ถึงปัญหาจากการบริหารงานของรัฐบาลว่า การบริหารงานเกือบ 1 ปี ยังขาดความชัดเจนในนโยบายด้านความมั่นคง เพราะมองปัญหาความมั่นคงในมิติทางการเมืองมากกว่าการมุ่งแก้ปัญหาให้แก่ประชาชน ไม่ยอมรับความจริงที่เป็นต้นตอของปัญหาที่ทำให้เกิดเหตุรุนแรงคาร์บอมบ์วันที่ 31 มีนาคม ที่ยะลาและหาดใหญ่ ว่าเกิดจากกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งไม่มีตำแหน่งในรัฐบาลเข้าไปยุ่งเกี่ยวในการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ จนทำให้เกิดปัญหาทั้งในเชิงนโยบายภาพรวมและความสับสนในระดับปฏิบัติด้วย

นายถาวรกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในหนังสือดังกล่าว ยังได้ลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนเมษายน ที่แสดงให้เห็นถึงนโยบายเกี่ยวกับแนวคิดในการก่อตั้งนครรัฐปัตตานี การเจรจากับผู้ก่อความไม่สงบ โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าไปเกี่ยวข้องและชี้นำการดำเนินนโยบายของรัฐบาล พร้อมกับชี้ให้รัฐบาลเห็นถึงปัญหา 9 ประการ คือ 1. มีความสับสนในระดับนโยบายตั้งแต่การจัดตั้งนครรัฐปัตตานี มาจนถึงการเจรจากับผู้ก่อความไม่สงบโดยขาดการตัดสินใจร่วมอย่างบูรณาการและไม่มีความเป็นเอกภาพ 2. ปล่อยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ นักโทษหนีคดีเข้ามาก้าวก่ายงานด้านความมั่นคง ซึ่งเคยสร้างความเจ็บปวดให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมจนส่งผลมาถึงปัจจุบัน 3. ไม่ใช้กลไกที่มีให้เกิดประโยชน์ในการคลี่คลายสถานการณ์ กลับเลือกใช้ตัวบุคคลเป็นหลักจนเกิดการก้าวข้ามสายงาน ขาดการประสานงาน ทำให้เกิดความไม่เป็นเอกภาพ ขาดการบูรณาการ

นายถาวรกล่าวต่อว่า 4. ใช้งานศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีบทบาทภารกิจด้านการบริหารและพัฒนา 5. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ปฏิบัติหน้าที่เกินเลยบทบาทหน้าที่ความเป็นเลขาธิการ ศอ.บต. ก้าวก่ายการทำงานของ สมช.และ กอ.รมน. ทำให้เกิดความสับสนต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ 6. นายกรัฐมนตรีไม่เข้าใจปัญหา ไม่ระมัดระวังคำพูด ให้สัมภาษณ์เสมือนดูถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบว่าเป็นกลุ่มไม่ใหญ่ ซ้ำรอย พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เคยระบุว่าผู้ก่อความไม่สงบคือ โจรกระจอก ทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย มีผู้เสียชีวิตกว่า 5 พันคนจากนโยบายที่ผิดพลาดของ พ.ต.ท.ทักษิณ 7. นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไม่มีความจริงใจ ขาดความเอาใจใส่ต่อการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง 8. นายกรัฐมนตรีเป็น ผอ. ศอ.บต. เป็น ผอ. กอ.รมน. และเป็นประธานกรรมการ สมช. แทนที่จะบริหารงานให้เกิดเอกภาพ แต่บริหารงานไม่เป็นจนเกิดปัญหา และ 9. ความสับสนด้านนโยบายทำให้เกิดความชะงักงันในการปฏิบัติหน้าที่ ขาดเอกภาพในการประสานงาน

สำหรับข้อเสนอในการแก้ปัญหานั้น นายถาวรกล่าวว่า ส.ส. 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ ขอให้รัฐบาลดำเนินนโยบาย 15 ข้อ เพื่อคลี่คลายปัญหาลดความรุนแรง คือ 1. ไม่ให้ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา 2. ยุติบทบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เข้ามาก้าวก่ายงานด้านความมั่นคง เพราะถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อจริยธรรมอย่างร้ายแรงที่ปล่อยให้นักโทษหนีคดีมามีอิทธิพลเหนือรัฐไทย 3. ใช้กลไกที่มีอยู่ทั้ง ศอ.บต.
สมช. และ กอ.รมน.ให้ถูกต้องตามบทบาทหน้าที่ 4. ต้องระมัดระวังในการให้ข่าวต่อสาธารณชนในเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่อาจกระทบต่อสถานการณ์ให้เลวร้ายลง 5. ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงมาตรา 21 เปิดโอกาสให้ผู้หลงผิดก่อความไม่สงบกลับตัว 6. หยุดการใช้วิธีคิดแบบนักธุรกิจโดยใช้เงินเป็นตัวตั้งมาแก้ปัญหาความมั่นคง และเลิกใช้ปัญหาด้านความมั่นคงมาแสวงผลประโยชน์ทางการเมือง 7. เคารพต่อแนวทางการแก้ปัญหาที่มีการระดมสมองจากทุกภาคส่วนจนตกผลึกและใช้เวลากว่า 30 ปี จนกระทั่งมีการออกกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. ศอ.บต. 2553 และ พ.ร.บ. กอ.รมน. 2551 มาใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาแทนที่จะใช้วิธีลัดหรือวิธีพิเศษเพราะยิ่งซ้ำเติมปัญหา 8. การเมืองต้องไม่แทรกแซงฝ่ายความมั่นคง 9. นายกรัฐมนตรีต้องศึกษางานด้านความมั่นคงอย่างจริงจังและทำหน้าที่ในฐานะ ผอ. ศอ.บต. ผอ. กอ.รมน. และประธาน สมช. 10. แต่งตั้งรัฐมนตรีส่วนหน้ารับผิดชอบปัญหานี้ 11. เร่งรัดการชดเชยเยียวยาอย่างเป็นธรรม เสมอภาค เท่าเทียม ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำจนเป็นเงื่อนไขใหม่ของความรุนแรงในพื้นที่ 12. ผดุงความยุติธรรมให้กับประชาชนในพื้นที่ 13. ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง เป็นรูปธรรม 14. เร่งเสริมพัฒนาอาชีพ
รายได้ และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และ 15. คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ประเพณี ศาสนา และวัฒนธรรมของประชาชนในพื้นที่

นอกจากนี้ นายถาวรยังแสดงความเป็นห่วงกรณีที่ องค์การการประชุมอิสลาม (โอไอซี) จะเดินทางลงพื้นที่หลังจากสถิติความรุนแรงในรอบ 7 เดือนเพิ่มขึ้นถึง 35% ว่า ขอให้รัฐบาลระมัดระวังในการชี้แจงไม่ให้มีการนำปัญหาภายในประเทศไปสู่เวทีโลก แต่ไม่คาดหวังการทำหน้าที่ของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล
รมว.การต่างประเทศ เนื่องจากไม่มีความรู้ความเข้าใจในปัญหาและงานด้านการต่างประเทศ นอกจากการจะนำ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศเท่านั้น ทั้งนี้ยังกังวลว่ามติ ครม.เกี่ยวกับการเยียวยาเหยื่อความไม่สงบในภาคใต้วงเงิน 2,080 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหลักเกณฑ์ในการชดเชยแตกต่างไปจากการเยียวยาผู้ชุมนุมทางการเมืองที่ได้ศพละ 7.75 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดความรู้สึกว่ารัฐบาลสองมาตรฐานในการเยียวยาประชาชน ซึ่งจะทำให้เกิดเงื่อนไขใหม่ตามมา อีกทั้งความไม่ใส่ใจต่อการแก้ปัญหาของนายกรัฐมนตรีทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าตัวเองเป็นเหมือนพลเมืองชั้น 4 ในสายตาของรัฐบาล โดยเห็นได้จากการตัดงบประมาณถึง 4 พันล้านบาทและขาดความจริงใจในการแก้ปัญหา
กำลังโหลดความคิดเห็น