“อ.คมสัน” เย้ยข้อเสนอ “นิติราษฎร์” แค่เกมเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งธงเล่นงาน คมช. ช่วยทักษิณ ยันไม่แปลกหมิ่นสถาบันเจอโทษหนัก สะกิดต่อมความจำ “วรเจตน์” ตั้งคก.ขจัดความขัดแย้งให้อำนาจเหนือศาลขัดหลักนิติรัฐ เชื่อข้อเสนอวิปริตแม้แต่การเมืองก็รับไม่ได้ เตือนมั่วเสนออาจนำไปสู่การทำรัฐประหารอีกรอบ
วันที่ 25 เม.ย. อ.คมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โต้กรณีที่ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ ออกประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ 34 ผ่านรายการ News Hour ทางสถานีเอเอสทีวี ทีวีเพื่อประชาชน
อ.คมสันกล่าวว่า ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ไม่ใช่ข้อเสนอทางวิชาการ เป็นเพียงข้อเสนอการเคลื่อนไหวทางการเมือง เนื่องจากขาดการวิเคราะห์ทางวิชาการอย่างเป็นระบบ มีเป้าอยู่ในใจมุ่งเล่นงานผู้ทำรัฐประหาร ที่สำคัญยังเอื้อให้พวกทุจริตคอร์รัปชั่นได้ประโยชน์ โดยไม่คำนึงว่าจะนำไปสู่ความวุ่นวาย หรือจะสร้างความขัดแย้งรอบใหม่หรือไม่
กรณีที่กลุ่มนิติราษฎร์ อ้างว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะโทษมากเกินไปนั้น ถือว่าเป็นข้อเสนอที่วิปริต เจตนาลดสถานะสถาบันให้ด้อยกว่าประชาชน เพราะแท้จริงแล้วกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้วางหลักว่าจะต้องรับโทษแค่ไหน เพียงแต่กำหนดว่าเมื่อมีความผิดก็ต้องรับโทษตามสมควรแก่เหตุ เมื่อย้อนดูความผิดฐานก่อการร้าย อั่งยี่ซ่องโจร ต่างก็มีโทษหนักทั้งนั้น ดังนั้น ความผิดฐานดูหมิ่นสถาบัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ จึงไม่ใช่หมิ่นประมาทธรรรมดา เมื่อมีโทษสูงจึงไม่ใช่เรื่องแปลก
ส่วนเรื่องนิรโทษกรรม ที่กลุ่มนิติราษฎร์เห็นว่าไม่ควรล้มล้างความผิดทั้งหมดนั้น ตนเห็นว่าเป็นเพียงข้อเสนอของกลุ่มการเมืองสวมคราบนักวิชาการที่เรียกว่า คณะนิติราษฎร์เลือกเอาเฉพาะกรณีรัฐประหาร 19 ก.ย.49 โดยลืมแนวคิดเรื่องผลไม้พิษที่เคยเสนอไว้
อ.คมสันกล่าวต่อว่า การให้องค์กรอื่นที่ไม่ใช่ศาลขึ้นมาพิจารณาคดี แน่นอนแม้จะไม่ขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ขัดหลักนิติรัฐที่กลุ่มนิติราษฎร์เคยพูดมาก่อน ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ต้องการให้มีคณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง มีอำนาจเหนือศาล ตุลาการ ชี้ขาดส่งคดีต่างๆ แล้วส่งคดีให้ศาลพิจารณาต่อ แสดงว่าเป็นองค์กรเหนือศาล ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร หากเป็นฝ่ายการเมืองแสดงว่ากลุ่มนิติราษฎร์กำลังนำข้อเสนอวิปริตให้ฝ่ายบริหารครอบงำตุลาการ
“นักวิชาการจะเคลื่อนไหวเรื่องไดต้องมีความรอบคอบคำนึงถึงผลกระทบ มากกว่าเป้าหมายที่ตัวเองตั้ง เป้าหมายของคณะนิติราษฎร์ยังไม่รู้ว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมจริงหรือไม่ ดังนั้น ข้อเสนอนี้จึงเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งหมด ไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางวิชาการที่จะให้ความรู้แก่ประชาชน”
อ.คมสัน กล่าวทิ้งท้ายว่าในสถาพความเป็นจริงสังคมไทยหากทำอะไร สร้างความกดดันในแต่ละฝ่ายจนไม่มีทางออก จะได้รับผลตอบรับกลับมาในรูปของความขัดแย้งรุนแรง ดังนั้น เมื่อขอเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ แม้แต่กลุ่มการเมืองเองยังยากที่จะขานรับ เพราะสุดท้ายการเมืองต้องแตกหักกัน ซึ่งอาจเป็นชนวนเงื่อนไขความไม่พอใจของกลุ่มทหาร จนนำไปสู่การรัฐประหารอีกก็ได้