“ประพันธ์” ห่วงมาตรา 291/5 ใช้ พ.ร.บ.เลือกตั้งจัดการเลือก ส.ส.ร. ชี้มีเพียงแค่ผู้สมัครต้องไม่สังกัดพรรคการเมือง แต่ปล่อยให้พรรคการเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้โดยไม่มีความผิด จี้เพิ่ม พ.ร.บ.พรรคการเมืองที่มีโทษทางอาญามาด้วย “สดศรี” ชี้จัดเลือกตั้ง ส.ส.ร.ใช้งบ 1 พันล้านเศษ เพราะไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า-นอกราชอาณาจักร เตรียมแต่งตั้งกรรมการเขตศุกร์นี้
วานนี้ (25 เม.ย.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291/5 ที่กำหนดให้ กกต.นำ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.มาบังคับใช้ในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ว่า มีความชัดเจนมากกว่าร่างฯ แรก ซึ่งก็จะทำให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ผู้สมัคร ส.ส.ร.ต้องไม่สังกัดพรรคการเมือง และสามารถหาเสียงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของ ส.ส.ร.ได้ แต่ไม่สามารถหาเสียงผ่านทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ได้ ยกเว้นสื่อสิ่งพิมพ์ ส่วนในเรื่องของการร้องเรียนทุจริตการเลือกตั้ง กฎหมายยังให้อำนาจ กกต.เป็นผู้ดำนินการ โดยสามารถสั่งเลือกตั้งใหม่ หรือให้ใบเหลืองได้ก่อนการประกาศรับรองผล
ทั้งนี้ ถ้าหากจะมีการตัดสิทธิ์จะต้องยื่นเรื่องต่อศาลฎีกา ซึ่งตรงนี้ขั้นตอนในการปฏิบัติยังไม่มีความชัดเจน ว่าศาลจะใช้เวลาในการพิจารณากี่วัน เพราะกฎหมายกำหนดว่าหลังการเลือกตั้งแล้ว ให้ กกต.ประกาศรับรองผล ส.ส.ร.ภายใน 15 วัน คิดว่าหากมีการทุจริตเกิดขึ้น กกต.คงสามารถสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ไม่เกิน 2 ครั้ง และหลังประกาศรับรองผลแล้ว กกต.ก็ยังคงดำเนินการในเรื่องของการร้องคัดค้าน ซึ่งระยะเวลาการพิจารณาไม่นานเหมือนการร้องคัดค้านของ ส.ว.ที่ให้ กกต.ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี เพราะของ ส.ส.ร.ให้
กกต.ดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วัน
นายประพันธ์ยังแสดงความเป็นห่วงว่า การพิจารณามาตรา 291/5 ไม่ได้ให้ กกต.นำ พ.ร.บ.พรรคการเมืองที่มีบทโทษทางอาญาเกี่ยวกับการห้ามไม่ให้พรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองเข้าไปช่วยผู้สมัคร ส.ส.ร.หาเสียง มาบัญญัติไว้ด้วย ดังนั้นถ้าไม่มีการนำมาบัญญัติไว้ การเลือกตั้ง ส.ส.ร.ที่จะเกิดขึ้นก็จะมีข้อห้ามเพียงไม่ให้ ส.ส.ร.สังกัดพรรคการเมืองเท่านั้น แต่พรรคการเมืองสามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้โดยไม่มีความผิด และหากจะให้ กกต.ออกระเบียบห้ามในภายหลังก็ไม่สามารถทำได้ เพราะการกำหนดโทษทางอาญาต้องออกเป็น พ.ร.บ.เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เป็นดุลพินิจของรัฐสภาที่จะพิจารณาว่าสมควรจะมีการเพิ่มเติมบทบัญญัตินี้หรือไม่ แต่ที่ผ่านมาทราบว่า การให้มี ส.ส.ร.ครั้งนี้มีเจตนารมณ์ไม่อยากให้ ส.ส.ร.เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งที่สภาเห็นชอบมาก็มีเพียงประเด็นเดียว คือ ผู้สมัคร ส.ส.ร.ไม่ต้องการสังกัดพรรคการเมือง
ด้าน นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า ในวันที่ 27 เม.ย.ที่ประชุม กกต.จะมีการประชุมเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการเขต และประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ส่วนงบประมาณในการแต่งตั้ง กกต.เขต เพื่อจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.นั้นคาดว่าจะใช้งบประมาณน้อยกว่าที่กำหนดไว้ จากเดิม 2 พันกว่าล้านบาท เหลือประมาณ 1 พันกว่าล้านบาท เพราะไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร