ถกลงตัว กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ มีมติใช้ กม.เลือกตั้ง ส.ส.-ส.ว. แทน กม.เลือกตั้งท้องถิ่น ให้อำนาจ กกต.สั่งเลือกตั้งใหม่ ก่อนส่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งวินิจฉัยให้ใบแดง
วันนี้ (24 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 18.00 น. มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อสรุปผลการพิจารณาข้อกฎหมายที่ใช้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายสามารถ แก้วมีชัย ประธานคณะกรรมาธิการฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยนายสามารถได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า แม้กรรมาธิการจะมีความเห็นให้ใช้ พ.ร.บ.เลือกตั้งสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นในการเลือกตั้ง ส.ส.ร. แต่เมื่อมีการอภิปรายในวาระ 2 มีความเห็นให้นำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 มาใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส.ร.แทนโดยตัวแทนจากกฤษฎีกาได้ร่วมกับปรับปรุงถ้อยคำ
โดยเนื้อหาที่ได้รับการปรับปรุงกำหนดให้นำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในส่วนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ว.มาใช้ เว้นแต่บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการเสียสิทธิจากการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และบทบัญญัติในส่วนที่ 9 การลงคแนนเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง ของหมวด 1 การเลือกตั้ง ส.ส.มาช้บังคับโดยอนุโลม บทบัญญัติใดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ว. ถ้าบทบัญญัติดังกล่าวให้การกระทำใดๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ว.เป็นความผิด และมีบทกำหนดโทษสำหรับความผิดนั้น ให้นำมาใช้บัคับการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ร.โดยให้ถืออัตราโทษอย่างเดียวกัน
คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้เป็นไปตามมาตรา 99 (1) และ(2) และมาตรา 100 (1) (3) และ(4) โดยต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตจังหวัดมาแล้วไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง ในกรณีที่มีการย้ายทะเบียนบ้านออกจากเขตจังหวัดหนึ่งไปยังอีกเขตจังหวัด อันทำให้บุคคลที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตจังหวัดเป็นเวลาติดต่อกันน้อยกว่า 90 วันถึงวันเลือกตั้ง ให้บุคคลนั้นมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งในเขตจังหวัดที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านครั้งสุดท้ายเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน
เมื่อได้มีการเลือกต้ง ส.ส.ร.เสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง โดยให้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละจังหวัดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร.ของจังหวัดนั้น ก่อนประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ให้กกต.มีอำนาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หากมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เว้นแต่การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งให้ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเพื่อวินิจฉัย กรณีการยื่นคำร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งให้ยื่นต่อ กกต.ภายใน 15 วัน เมื่อ กกต.ได้รับคำร้อง หากเป็นคำร้องที่ได้รับก่อนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้ กกต.สืบสวนหาข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับตั้งแต่ได้รับคำร้องนั้น
ให้ กกต.มีอำนาจในการกำหนดระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการเลือกตั้ง วิธีการสืบสวนสอบสวนวิธีการยื่นคำร้องคัดค้าน และการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตลอดจนการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา การพิจารณาของศาลฎีกามีอำนาจออกข้อกำหนดเพื่อให้การพิจารณาเป็นไปโดยเร็วและเที่ยงธรรม แต่หากระยะเวลาในการจัดทำรัฐธรรมนูญเลือกไม่ถึง 90 วัน และศาลฎีกายังไม่มีคำวินิจฉัยให้การพิจารณาของศาลฎีกาเป็นอันยุติ กรณีศาลฎีกาสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ร.ของผู้ใดให้สมาชิกภาพของ ส.ส.ร.ผู้นั้นสิ้นสุดลง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นกรรมาธิการฯ ได้นำข้อสรุปไปรายงานต่อที่ประชุมรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบจากที่ประชุมต่อไป