ที่ประชุมร่วม 4 ฝ่าย มีมติใช้ กม.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.-ส.ว. จัดเลือกตั้ง ส.ส.ร. ให้ กกต.พิจารณาเรื่องร้องเรียนภายใน 30 วันก่อนยื่นศาลฎีกาฯ แจกเหลือง-แดง ด้าน “พีรพันธุ์” เผยหากศาลพิจารณาไม่ทันกำหนดเวลาต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่
วันนี้ (24 เม.ย.) ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ประกอบด้วย ตัวแทนคณะกรรมาธิการกิจารวุฒิสภา (วิปวุฒิ) คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐสภา (วิปรัฐบาล) คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อหาทางออกข้อกฎหมายที่จะใช้ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยมีนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าร่วมประชุมเพื่อนำมติของกรรมการ กกต.มาแจ้งต่อที่ประชุม
หลังจากประชุมนานกว่า 3 ชั่วโมง นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา แถลงสรุปผลการประชุมว่า มาตรา 291/5 ในประเด็นให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยเบื้องที่ประชุมเห็นร่วมกันให้ กกต.จัดการเลือกตั้ง โดยใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. โดยเลือกในส่วนของการเลือกตั้ง ส.ว.มาปรับปรุงถ้อยคำเพื่อให้มีความเหมาะสม โดยปราศจากการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และกำหนดให้มี ส.ส.ร.จังหวัดละ 1 คน โดยให้มีการปรับปรุงบทบัญญัติในส่วนขอการเลือกตั้งล่วงหน้าและการเลือกตั้งนอกเขตประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับการเลือกตั้ง ส.ส.ร.
ทั้งนี้ หลังจากที่มีการเลือกตั้งแล้วเสร็จ หากมีการร้องเรียนสามารถร้องมายัง กกต.ได้ภายใน 15 วัน โดยให้ระยะเวลา 30 วันแก่ กกต.ในการพิจารณาคำร้อง เพื่อส่งสำนวนต่อไปยังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เป็นผู้ออกใบเหลืองและใบแดง โดยไม่กำหนดระยะเวลาในการพิจารณา แต่ต้องกระทำโดยเร็วที่สุด
ด้าน นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในประเด็นการให้เวลาศาลพิจารณาคำร้องการเลือกตั้งนั้น แม้จะไม่ได้กำหนดระยะเวลา แต่หากศาลพิจารณาไม่ทันตามกำหนดเวลาก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่