หน.มาตุภูมิยอมรับ บ้านเมืองแตกแยกหนักปี 49 ชี้เหตุการทำรัฐประหารเพื่อให้เกิดความสามัคคี สับอดีต 5 รัฐบาลหากตั้งใจจริงความปรองดองย่อมสำเร็จ ด้านตัวแทนสถาบันพระปกเกล้ายัน คณะวิจัยไม่เคยรับผลประโยชน์เสนอแนวทางปรองดอง
วันนี้ (20 เม.ย.) ในการอบรมหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 3 ได้จัดให้มีการบรรยายพิเศษหัวข้อ “แนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ” โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เข้าร่วมบรรยาย พล.อ.สนธิกล่าวว่า ในฐานะที่ตนเองเป็นนักปรองดองคนหนึ่ง ที่อยากเห็นความปรองดองมาตั้งแต่เด็ก เพราะยึดถือปรัชญาว่าการมีศัตรูแค่ครึ่งก็มากแล้ว และวันนี้ก็ไม่อยากรื้อฟื้นอดีต แต่อยากคิดถึงอนาคตและสิ่งที่เป็นปัญหามาจนถึงปัจจุบัน คือ ระบบชนชั้นถือเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประชาธิปไตย ที่ยึดติดบุคคลมากกว่าองค์กร ขณะเดียวกัน ไม่ว่าใครมาเข้ามาบริหารประเทศก็จะยึดติดอยู่กับเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ แต่มองข้ามเรื่องความรัก ความสามัคคีของประชาชนในประเทศ ซึ่งความขัดแย้งของไทยมีมาตั้งแต่ปี 2475 และขัดแย้งรุนแรงสุดในปี 2549 จากการปฏิวัติ รัฐประหาร แต่แท้จริงแล้วเหตุผลของการปฏิวัติคือต้องการให้เกิดความสามัคคี เพราะเหตุหลักๆ ไม่มีรัฐบาลใดที่จะสร้างความเข้มแข็งในกรณีดังกล่าวนี้ จนถึงปัจจุบันนี้ก็ผ่านรัฐบาลมาแล้ว 5 ชุด ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังเน้นแก้ปัญหาในเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และการปกครอง แต่ในการพัฒนาสังคมทำน้อยมาก
พล.อ.สนธิกล่าวว่า เชื่อว่าหากรัฐบาลมีความตั้งใจจริงในการสร้างความปรองดอง ความรัก และความสามัคคี ประเทศก็จะพัฒนาไม่เกิดความขัดแย้งและแตกแยก เชื่อว่าทำได้แน่นอน โดยผู้นำต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่ทะเลาะกับฝ่ายใด ต้องเป็นเสาหลักของประเทศ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ความปรองดองเกิดขึ้นในประเทศ จึงมีการตั้ง กมธ.ปรองดองขึ้นมา และมีข้อตกลงร่วมกันของคณะกรรมการทั้ง 38 คน ว่าจะไม่นำเอาความเป็นนักการเมืองมาพูดคุย และจะต้องหาทางออกของความปรองดองด้วยเหตุผล ส่วนการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ที่ได้ให้สถาบันพระปกเกล้าศึกษานั้นมีเงื่อนไขคือ ผลงานวิจัยที่ออกมาถือเป็นผลงานวิชาการ จึงไม่ต้องแก้ไข และผลออกมาเช่นไรก็ขอให้ยอมรับ
ด้านนายวุฒิสารกล่าวว่า สำหรับสถาบันพระปกเกล้า คณะผู้วิจัยใช้กรอบ 3 อย่างในการดำเนินการ คือ 1. ศึกษาความขัดแย้งใน 10 ประเทศ ที่ท้ายที่สุดมีข้อยุติ 2. ศึกษาความขัดแย้งในประเทศไทย 3. สัมภาษณ์ความเห็นผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติและไม่แปลกที่คณะผู้วิจัยต้องสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง โดยคณะผู้วิจัยจะไม่พยายามนำเอาเรื่องความเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งทางคณะผู้วิจัยต้องการขจัดสิ่งเหล่านั้น และความเป็นธรรมควรฟังเสียงของส่วนรวมมากกว่า และจากการศึกษาคณะผู้วิจัยจึงได้เสนอให้มีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในระยะสั้น คือต้องสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดอง โดยรัฐบาลต้องเร่งเยียวยาผู้เสียหาย ในขณะที่สื่อต้องยุติการนำเสนอข่าวสารที่จะสร้างความขัดแย้งใหม่ในสังคม ซึ่งผู้ชุมนุมทุกฝ่ายต้องยุติพฤติกรรมว่ากฎหมู่เหนือกฎหมาย ต้องเปิดพื้นที่เจรจา รวมถึงต้องยุติการหมิ่นสถาบัน ส่วนระยะยาวเสนอให้มีการค้นหาเปิดเผยความจริง ซึ่งต้องดูบริบทความเหมาะสมเป็นตัวประกอบ
นายวุฒิสารกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยได้เสนอเรื่องการอภัยโทษไว้ 2 แนวทาง คือ 1. การอภัยโทษ โดยไม่รวมคดีอาญา 2. ให้อภัยโทษคดีอาญาที่มีเป้าประสงค์ทางการเมือง โดยข้อเสนอทั้งหมดจะสำเร็จได้ต้องมีการหารือจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ คดีที่เสนอให้มีการนิรโทษกรรมทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าต้องไม่รวมคดีหมิ่นสถาบัน อย่างไรก็ตาม คณะผู้วิจัยไม่เคยระบุว่าคณะกรรมการ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ไม่มีความเป็นธรรม จึงเสนอไว้ 3 ทางเลือก คือ 1. ให้ยกเลิก คตส. 2. โอนคดี คตส.ให้ ป.ป.ช. และ 3. คือยกเลิกคดีทั้งหมด พร้อมระบุทิ้งท้ายว่าทางเลือกที่ 3 มีโอกาสไม่ปรองดองสูง สุดท้ายทุกฝ่ายต้องกำหนดกติกาการเมืองร่วมกัน ทั้งนี้ ยืนยันว่าผลงานวิจัยที่ทำการศึกษาไม่ได้รับเงินมาจากใครหรือมีผลประโยชน์กับฝ่ายใดทั้งนั้น ส่วนปัญหาจากนี้ไปก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันพระปกเกล้าแล้ว ซึ่งจะเป็นเรื่องของผู้ที่รับไปดำเนินการต่อไป