ศาล รธน.นัดชี้ชะตา “ตู่” สิ้นสภาพความเป็น ส.ส.หรือไม่ 18 พ.ค. ขณะที่คำร้อง ส.ส.พท.-ปชป.เอี่ยวถุงยังชีพหรือไม่นัดฟังคำวินิจฉัย 20 เม.ย.นี้
วันนี้ (12 เม.ย.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกนั่งบัลลังก์นัดพร้อมคู่กรณีเพื่อกำหนดกระบวนการพิจารณาในคดีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้พิจารณาวินิจฉัยให้สมาชิกการเป็น ส.ส.สิ้นสุดลงรวม 3 คำร้อง โดยในคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 (4) ประกอบมาตรา 101 (3) หรือไม่ เนื่องจากขาดจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยเพราะไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จึงทำให้สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.
นายจตุพรได้เดินทางมาด้วยตนเองพร้อมกับนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ นปช. นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคนเสื้อแดงประมาณ 10 คนที่เดินทางมาให้กำลังใจ ซึ่งนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับมอบหมายจากคณะตุลาการฯ ให้อ่านกระบวนวิธีการพิจารณา ระบุว่า ในคดีนี้นายจตุพรขอนำพยานเข้าสืบรวม 7 ปากและขอแถลงเปิดคดีด้วยวาจา และเอกสาร พร้อมให้ศาลถ่ายทอดสด แต่คณะตุลาการฯ เห็นว่าคดีมีพยานเพียงพอแล้ว โดยประเด็นที่จะวินิจฉัยเป็นประเด็นข้อกฎหมาย จึงมีคำสั่งงดการไต่สวนและไม่อนุญาตให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียง แต่เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา อนุญาตให้คู่กรณีแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลนัดพร้อม หากไม่แถลงถือว่าไม่ติดใจ ศาลฯ ได้นัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 18 พ.ค.55 เวลา 10.30 น.
จากนั้นศาลได้นัดพร้อมในคดีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ประกอบมาตรา 106 (6) และมาตรา 266 (1) หรือไม่เนื่องจากเข้าไปยุ่งเกี่ยวการแจกถุงยังชีพที่ จ.พิษณุโลก และกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของนายอภิสิทธิ์ พร้อมคณะรวม 153 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ของ พล.ต.อ.ประชา นายการุณ โหสกุล นายสุรชาติ เทียนทอง นายวรชัย เหมะ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย สิ้นสุดลงตามมาตรารัฐธรรมนูญ 106 (6) ประกอบมาตรา 265 (1) หรือไม่ เนื่องจากเข้าไปแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในการแจกถุงยังชีพช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554
โดยในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ได้มอบหมายให้นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจมาศาลฯ ขณะที่พรรคเพื่อไทย พล.ต.อ.ประชา และผู้ถูกร้องทั้งหมดได้เดินทางมารับฟังด้วยตนเอง ซึ่งนายวสันต์ได้อ่านรายงานกระบวนการวิธีพิจารณาระบุว่า คดีดังกล่าวนี้จากคำชี้แจงของคู่กรณีและหนังสือยืนยันจากสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ระบุว่านายจารุพงศ์ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็น ส.ส.แล้ว และประธานสภาฯ ได้ประกาศเลื่อนลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับถัดไปขึ้นมาทำหน้าที่ โดยมีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา ดังนั้นจึงไม่เป็นเหตุให้ศาลฯ ต้องวินิจฉัยให้สมาชิกภาพการเป็น ส.ส.สิ้นสุดลง จึงมีคำสั่งจำหน่ายคำร้องเฉพาะกรณีของนายจารุพงศ์ ส่วนผู้ร้องและผู้ถูกร้องในทั้งสองคดี ศาลเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอวินิจฉัยแล้วจึงมีคำสั่งงดการไต่สวน และนัดคู่กรณีฟังคำสั่งศาลในวันที่ 20 เม.ย. เวลา 10.00 น.
อย่างไรก็ตาม คู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้ขอยื่นเอกสารเพิ่มเติม รวมถึงคำแถลงปิดคดีเป็นเอกสาร โดยนายวิรัตน์ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกคำอภิปรายของ พล.ต.อ.ประชาและพวกรวม 8 คนในการอภิปรายไม่ไว้วางในครั้งที่ผ่านมาจากสำนักเลขาธิการสภาฯ มาประกอบการพิจารณาวินิจฉัย เนื่องจากเห็นว่าเป็นหลักฐานสำคัญ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถขอคำอภิปรายดังกล่าวได้ ซึ่งคณะตุลาการรับที่จะออกหนังสือเป็นหมายเรียกเอกสารให้นายวิรัตน์นำไปยื่นเพื่อขอหลักฐานดังกล่าวจากสภาฯ ภายในวันเดียวกันนี้ ทั้งนี้ ศาลได้แจ้งคู่กรณีทราบว่าหากคู่กรณีประสงค์ยื่นเอกสารเพิ่มเติมขอให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 18 เม.ย.นี้
นายวิรัตน์ให้สัมภาษณ์ว่า ในส่วนของนายอภิสิทธิ์ และ นพ.วรงค์ ตนมั่นใจในพยานหลักฐานเอกสารที่ยืนยันว่าบุคคลทั้งสองไม่ได้เข้าไปดำเนินการแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งไม่ได้มีการดำเนินการเปลี่ยนแปลงถุงยังชีพให้เป็นของตนเอง โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกก็เห็นด้วยและอนุญาตชัดเจน ทั้งนี้ เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ที่ต้องบริการประชาชนให้เร็วที่สุด แต่เมื่อไหร่ที่มีการฉีกถุงยังชีพเพื่อเปลี่ยนแปลงนั้นจะมีความผิด