ที่ประชุมศาล รธน.นัดพร้อมคู่กรณีคดีร้อง “จตุพร-อภิสิทธิ์-พล.อ.ประชา และพวก” สิ้นสุดสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.พร้อมกันในวันที่ 12 เม.ย.นี้ ด้าน กสม.ออกแถลงการณ์ประฌามการก่อเหตุความนุแรงภาคใต้ ชี้ละเมิดสิทธิมนุษยชน
วันนี้ (4 เม.ย.) นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณา 3 คำร้องที่เกี่ยวกับการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สมาชิกภาพการเป็น ส.ส.สิ้นสุดลง และมีคำสั่งให้นัดพร้อมคู่กรณีเพื่อกำหนดวิธีการพิจารณาและการยื่นหลักฐานโดยในคำร้องที่ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 (4) ประกอบมาตรา 101 (3) หรือไม่ ศาลได้นัดคู่กรณีในเวลา 10.00 น.
ส่วนกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม และคณะ รวม 83 คน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายวรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ประกอบมาตรา 106 (6) และมาตรา 266 (1) หรือไม่ ศาลนัดในเวลา 10.30 น.
และกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องของนายอภิสิทธิ์ และคณะ รวม 153 คน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก นายการุณ โหสกุล นายสุรชาติ เทียนทอง นายวรชัย เหมะ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (6) ประกอบมาตรา 265 (1) และมาตรา 266 (1) หรือไม่ ศาลนัดในเวลา 11.00 น.
ด้าน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ ระบุว่า ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่อำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา อ. แม่ลาน จ.ปัตตานี และ อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 31 มีนาคมนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อผู้ที่เสียชีวิต ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และผู้สูญเสียทรัพย์สิน รวมไปถึงครอบครัวของบุคคลดังกล่าว ตลอดจนห่วงใยในสวัสดิภาพของประชาชนในพื้นที่ ในการนี้จึงขอประณามการกระทำของผู้ก่อเหตุความรุนแรง อันเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย ละเมิดสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรม ซึ่งเป็นหลักสากลที่ต้องยึดถือ
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอสนับสนุนรัฐบาลในการดำเนินมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน การประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข ด้วยความร่วมมือของภาคประชาชนในการเฝ้าระวัง และการป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในพื้นที่ในทุกๆ ด้านให้กลับคืนมา พร้อมเร่งเยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูจิตใจและความบอบช้ำของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว