“ยิ่งลักษณ์” เผยยังไม่บรรจุรายงานปรองดองของ กมธ.เข้า ครม. แต่จะส่งเรื่องให้ ปคอป.ชุด “ยงยุทธ” เป็นประธานรับช่วงต่อ เพื่อศึกษารายละเอียดก่อน เลี่ยงตอบ พท.ดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อ้างเรื่องปลายทาง ชี้หน้าที่รัฐบาลนำประเทศสู่ความปรองดอง
วันนี้ (7 เม.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรรับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ และมีมติเห็นชอบให้ส่งผลการวิจัยปรองดองของสถาบันพระปกเกล้า และข้อสังเกตของ กมธ.ปรองดองไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เรื่องนี้เป็นข้อเสนอของทางสภาฯ ครม.เองคงต้องหาผู้ที่เกี่ยวข้องในการศึกษาก่อนว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร ซึ่งเราจะต้องรับฟังก่อน คงยังไม่เอาไปบรรจุเข้าเป็นวาระ ครม.
ส่วนจะเปิดเวทีรับฟังความคิดจากประชาชนหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าคงจะให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องไปดูว่ารายละเอียดจะเป็นอย่างไร มีส่วนใดบ้างที่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องทำต่อ ซึ่งตรงนี้จะต้องเน้นประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก
ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าเรื่องการปรองดองจะเดินหน้าไปได้หรือไม่ เพราะทางฝ่ายค้านเองก็ไม่เห็นด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ทุกอย่างเราต้องรับฟังข้อคิดเห็นของทุกส่วน และเป็นสิ่งที่เราใช้คำว่า ปรองดอง ซึ่งเราจะต้องมองเห็นในภาพรวมเป็นหลัก อะไรที่เป็นประโยชน์ส่วนรวมขอเรียนว่า สิ่งที่สภาฯ ส่งมาจะให้ทางคณะกรรมการฯที่เกี่ยวข้องนำไปศึกษาก่อน คงไม่รับทั้งหมด พอดีว่า ตนยังไม่เห็นรายละเอียด ต้องขอรอดูข้อมูลก่อน และให้คณะกรรมการได้ทำงานก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางพรรคเพื่อไทยออกมาระบุว่าจะพยายามดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าให้ได้ภายในเดือนกันยายนนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า อันนี้ไม่ทราบ เพราะว่าหน้าที่ของรัฐบาลเอง จริงๆ แล้วอย่างที่ว่าเราไปพูดกันปลายทาง ซึ่งเหมือนเป็นเทคนิค ความจริงเราต้องพูดว่าวัตถุประสงค์จะต้องให้ประเทศเดินไปข้างหน้า เราจะก้าวไปสู่ความปรองดองนั้นทำอย่างไร และหาทางออกร่วมกันนี้คือสิ่งที่เราต้องคำนึงถึงในภาพรวม
“ดิฉันเองก็ไม่อยากจะไปตอบว่าต้องพูดในเชิงเทคนิคอย่างนั้นอย่างนี้ แต่คิดว่าขอให้คณะกรรมการฯนำไปพิจารณาก่อน แล้วค่อยนำเสนอกลับมายังคณะรัฐมนตรีภายหลัง”
ส่วนจะจัดตั้งคณะกรรมการฯส่วนใดเข้ามาดูในเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จะส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว เพราะจริงๆ วันนี้ภารกิจของรัฐบาลเองจะต้องเร่งแก้ไขอยู่หลายเรื่อง ทั้งเรื่องราคาสินค้า เศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งเราจะต้องดูตามลำดับความสำคัญ