“จุรินทร์” ระบุรายงานปรองดองของ กมธ.กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีเป้าหมายเดียวกัน ตั้งธงล้างผิด “นช.แม้ว” ชึ้แม้รัฐบาลจะทำสานเสวนาหลังรับรายงานปรองดองจากสภาฯ แต่ก็จะถูกกังขาถึงเรื่องความเป็นกลาง
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเสียงข้างมากเห็นชอบรายงานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ว่าหลังจากนี้เมื่อส่งรายงานของกรรมาธิการฯ ไปยังรัฐบาล ก็จะกลายเป็นเรื่องของการรับลูก-ชงลูกระหว่างกรรมาธิการฯ และรัฐบาล เพื่อนำรายงานดังกล่าวไปเป็นข้ออ้างในการลบล้างผลคดีของ คตส.ต่อการนิรโทษกรรมต่อไป และจะกลายเป็นชนวนของความขัดแย้งรอบใหม่ และจะเป็นการเริ่มต้นคู่ขัดแย้งคู่ใหม่ ระหว่างกรรมาธิการฯ กับสถาบันพระปกเกล้า และสถาบันพระปกเกล้ากับรัฐบาล
ขณะเดียวกัน ถ้ามีการนิรโทษกรรมก็จะทำให้เกิดปัญหาลุกลามกลายเป็นวิกฤตของประเทศอีกครั้ง เราได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว แต่ภารกิจยังไม่เสร็จสิ้น เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด การปรองดองไม่มีทางเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีการบังคับเอา การใช้เสียงข้างมากบังคับเอา สิ่งที่จะได้คือ ความยุติธรรมของผู้ชนะ แต่มันไม่มีทางได้ความปรองดองที่แท้จริง ฉะนั้น เป็นหน้าที่ของสังคมที่จะต้องติดตามอย่างรู้เท่าทัน ถ้าเกิดความเสียหายกับบ้านเมืองนอกจากรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบ คณะกรรมาธิการฯ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องรับผิดชอบด้วย
นายจุรินทร์กล่าวว่า หลังจากการเสนอรายงานของกรรมาธิการฯ สู่ที่ประชุมรัฐสภา ในวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา และประธานสภาฯ รับลูกบรรจุวาระในวันที่ 24 มี.ค. ขณะที่การประกาศกลับบ้านแบบเท่ๆ ประกาศในช่วงเย็นของวันที่ 24 มี.ค. แสดงให้เห็นถึงความชัดเจนว่ามีการกระทำอย่างเป็นกระบวนการและเป็นเรื่องเดียวกัน จึงอนุมานได้ว่าจะต้องกลับมาโดยไม่มีความผิด แสดงให้เห็นว่าจะต้องมีการนำรายงานกรรมาธิการฯ นี้ไปเป็นข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องที่มาจินตนาการเอาเอง โดยไม่มีที่มาที่ไป
“มีการตั้งธงเรียบร้อยแล้วว่าจะดำเนินการในลักษณะไหน เขาเลือกที่จะส่งต่อรัฐบาล กรรมาธิการฯ มีหน้าที่เป็นมือชงไปยังรัฐบาล รัฐบาลก็จะรับลูกหยิบยกบางประเด็นไปอ้างดำเนินการต่อไป การอ้างว่าจะแนบความเห็นอะไรเพิ่มเติม มันไม่ได้แตกต่างกัน ประเด็นอยู่ที่ส่งต่อรัฐบาล”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามแถลงการณ์ของสถาบันพระปกเกล้าทั้ง 3 ข้อ ถ้าส่งไปยังรัฐบาลแล้วไม่สามารถกระทำได้ทั้งหมด นายจุรินทร์กล่าวว่า ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ 1. สถาบันพระปกเกล้า ไม่ได้มีความเห็นส่งให้รัฐบาล แต่เขามีความเห็นให้ส่งไปยังคณะกรรมาธิการฯ 2. การจัดเสวนา สถาบันพระปกเกล้าเขาจะเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน แต่ถ้ารัฐบาลทำ รัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพหลัก ซึ่งสภาพของความเป็นกลางและความน่าเชื่อถือได้ มันก็ต่างกัน จะเชื่อได้อย่างไรว่าผลการจัดเสวนาจะเชื่อถือได้ และเขาจะไปหยิบยกบาประเด็นมาดำเนินการหรือไม่
“ผมไม่สามารถตอบได้ว่ารูปแบบวิธีการล้างผิดของเขาจะออกมาแบบไหน แต่เชื่อว่าธงของการล้างผิดมีอยู่ แต่อยู่ว่าจะทำเมื่อไหร่ และรูปแบบเป็นอย่างไร สิ่งที่เรากังวลไม่ใช่เรื่องของการขัดขวางผลประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง แต่เราเป็นห่วงระบบนิติรัฐ ถ้าคำพิพากษาศาลฎีกายังล้มล้างได้ด้วยการใช้เสียงข้างมาก ต่อไปก็ไม่มีการเกรงกลัวกฎหมาย”
ผู้สื่อข่าวถามว่า สามารถซ่อนการล้างความผิดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า ถ้าไม่มีมาตรา 309 นัยทางกฎหมายเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่นักกฎหมายต้องพูดกัน แต่ตนคิดว่าในแง่ผลประโยชน์อาจจะถูกหยิบยกมา ในการนำไปสู่การล้างผิดต่อไป ส.ส.ร.จะเป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาสำหรับการใช้ในการบรรลุเป้าหมายเดียวกันกับรายงานของกรรมาธิการฯ เพื่อคนคนเดียวเป็นหลัก แต่รูปแบบเนื้อหาอะไรต้องติดตาม เชื่อว่ามีการแทรกแซงทางการเมืองแน่นอน