ประชุมสภาพิจารณารายงานปรองดองของ กมธ.วันที่ 2 ส.ส.เพื่อไทย เรียงหน้าอุ้มนายใหญ่กลับประเทศโดยไม่ต้องติดคุก ดันล้มเลิกคดี คตส. ขณะที่ “ชำนิ” ระบุรายงานที่เสนอสภาฯ ไม่ใช่ข้อสรุปของ กมธ. แต่เป็นรายงานของผู้ที่รับงานมาเพื่อส่งต่อให้รัฐบาลดำเนินการตามเป้าหมายที่วางไว้ เตือน “แก้ ม.112-รื้อ รธน.-นิรโทษกรรม” คือชนวนที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้า ย้ำ “ป๋าเปรม” ไม่ใช่ตัวแทนของความขัดแย้ง แต่เป็นเรื่องของ “ทักษิณ” ที่ไม่ต้องการรับโทษ ได้ทรัยพย์สินที่ถูกยึดคืน ไม่สามารถตอบโจทย์ปรองดองได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาฯ พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างปรองดองแห่งชาติ วันนี้ (5 เม.ย.) เป็นวันที่ 2 ซึ่งมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม โดย ส.ส.พรรคเพื่อไทยอภิปรายสนับสนุนแนวทางการปรองดองและให้ความเป็นธรรมต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะไม่ได้ทำอะไรผิด ต้องคืนความยุติธรรม ดังนั้นการปรองดองต้องให้อภัยซึ่งกันและกันเพื่อสร้างความสามัคคีของคนในชาติ
นายพายัพ ปั้นเกตุ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า ตามรายงานการวิจัยระบุชัดเจนว่า ต้องเพิกถอนผลทางกฎหมายในคดีที่ทำโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งตนเห็นด้วยเพราะมีที่มาไม่ชอบธรรม มีแต่บุคคลที่อยู่ตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และอยู่ตรงข้ามรัฐบาลประชาธิปไตย แต่ไม่อยากเอ่ยชื่อเพราะเจ็บปวดใจ อยากอาเจียน แต่วันนี้อดีตกรรมการฯ บางคนกำลังถูกกรรมตามทัน อาทิ นักกฎหมาย ที่ถูกยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่ง อีกคนเป็นชายชื่อขึ้นต้นว่า “กล้า” และอีกคนที่เป็นผู้หญิง นามสกุล “เมณฑกา”
ส่วน นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จำเป็นต้องคืนความเป็นธรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ถูกยึดทรัพย์ตามกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม ความขัดแย้งที่เกิดในช่วง 5-6 ปีมานี้ เป็นการต่อสู้ระหว่างประชาชนกับประชาชน จนมีคนตาย 92 คน และบาดเจ็บกว่า 2,000 คน วันนี้เราต้องทำทุกอย่างเพื่อยุติความขัดแย้ง ต้องเดินหน้าสร้างความปรองดอง โดย ส.ส.และ ส.ว. ต้องจับมือกันเพื่อทำเป็นตัวอย่างให้ทุกภาคส่วน ได้เห็นว่าเกิดความปรองดองขึ้นแล้ว
ขณะที่ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีต กมธ.ปรองดอง อภิปรายว่า ประเด็นอ่อนไหวที่นำไปสู่การเผชิญหน้า มี 3 เรื่องใหญ่ คือ 1. ประเด็นพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะการแก้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 2. ระบบการเมืองไทย การเผชิญหน้าจากการจัดทำรัฐธรรมนูญในอนาคต และ 3. การปรองดองโดยเฉพาะการนิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นเรื่องใหญ่นำไปสู่ความขัดแย้ง
นายชำนิระบุอีกว่า รายงานของ กมธ.ปรองดองมีการออกมาก่อนหน้านี้รวม 3 ฉบับ ซึ่งรายงาน กมธ.ฉบับแรกเป็นเรื่องของผู้รับงานที่จะตอบโจทย์ผู้ฝากงานมาให้ทำ จึงไม่ใช่ข้อสรุปของ กมธ. ทำให้เราต้องโต้แย้งรายงานดังกล่าว ต่อมาก็มีรายงานออกมาใหม่อีกฉบับ มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาให้มีความรัดกุมมากขึ้น มีการอธิบายเหตุผลเงื่อนไขต่างๆ ชัดเจนมากขึ้น แต่ยังไม่ตอบโจทย์ข้อสรุปของ กมธ.ได้
จนต่อมาได้มีรายงานฉบับล่าสุดที่พิจารณาอยู่ในสภาขณะนี้ ซึ่ง กมธ.ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ซึ่งตนยังไม่สรุปว่าผิดหรือไม่ผิด แต่เมื่อมีการวิจารณ์กว้างขวางและบานปลาย ข้อสรุปนี้สร้างเงื่อนไขใหม่ของความขัดแย้งไม่ใช่ยุติความขัดแย้ง เมื่อได้ฟังความเห็นก็คิดว่าจะมาประชุม กมธ.ปรองดองครั้งสุดท้ายในวันที่ 27 มีนาคม ซึ่งตนเข้าใจว่าจะมีการหาทางออกหลังจากได้ฟังความเห็นอย่างกว้างขวางแล้วรายงานเสนอสภา แต่วันนี้การพิจารณารายงานไม่ใช่ข้อสรุปของ กมธ.แต่เป็นรายงานของผู้รับงานที่จะส่งงานให้รัฐบาลเพื่อตัดสินใจในอนาคต จนทำให้เกิดความขัดแย้งโต้เถียงกันรุนแรงในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม
“ผมเคยอยู่ในการเคลื่อนไหว เป็นนักศึกษาเคยได้รับผลกระทบมาก่อน การนิรโทษกรรมในประเทศไทยไม่ใช่ไม่เคยมี เพราะประเทศไทยมีความขัดแย้งมีกระบวนการปรองดองโดยใช้วิธีนิรโทษกรรม ซึ่งการนิรโทษกรรม เคยมีมาแล้ว 24 ครั้ง แบ่งเป็น 5 รูปแบบ แต่ทั้งหมดเป็นการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิดในความขัดแย้งทางการเมือง แต่ไม่ใช่ความผิดทางอาญา”
นายชำนิกล่าวว่า ที่มีข้อเสนอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เจรจากันนั้น ข้อเสนอนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะ พล.อ.เปรมไม่ได้เป็นตัวแทนความขัดแย้ง อย่าสมมติให้ พล.อ.เปรมเป็นตัวแทนความขัดแย้งหลัก เพราะ พล.อ.เปรมไม่ใช่ตัวแทนความขัดแย้ง
“คู่ขัดแย้งในปัจจุบันเป็นกระบวนการของ พ.ต.ท.ทักษิณกับประเทศไทย วันนี้คุณทักษิณมีคดี คุณทักษิณต้องการนิรโทษกรรม วันนี้คุณทักษิณถูกยึดทรัพย์ ต้องยอมรับว่าต้องการเอาทรัพย์คืน คุณทักษิณต้องการผลทางการเมืองกลับคืนมา เป็นโจทย์ที่ไม่สามารถหาคำตอบได้จากข้อสรุปของ กมธ. วันนี้ กมธ.ได้ให้ความเห็นในประเด็นในเงื่อนไขที่ได้ข้อเสนอแนะ โดยข้อเสนอมีหลายข้อซึ่งล้วนแต่มีข้อเสนอที่เดินไปได้ครึ่งเดียว กมธ.เดินไปไม่ได้สุด ทั้งนี้ การเผชิญหน้าจะเกิดขึ้นใหม่ เมื่อคู่ขัดแย้งเป็นอย่างนี้ผู้จัดการคือรัฐบาลต้องให้คำตอบเงื่อนไขนี้ จึงเป็นหน้าที่ต้องใคร่ครวญอย่างรอบคอบ ยอมรับความจริงที่จะต้องสร้างความเห็นพ้องทุกฝ่าย และต้องปรองดองตามหลักนิติธรรม”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นเวลา 11.00 น. นายสมศักดิ์ได้สั่งให้พักการประชุมพิจารณารับทราบรายงาน กมธ.ปรองดอง เพื่อเข้าสู่ระเบียบวาระพิจารณากระทู้ถามสด