xs
xsm
sm
md
lg

“กล้านรงค์” ชี้เหตุบัญญัติหมวดจริยธรรมใน รธน. จี้ต่อมสำนึกฝ่ายการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกล้านรงค์ จันทิก
กรรมการ ป.ป.ช.เชื่อสังคมไทยไปไม่รอด หากไม่มีจริยธรรมและยังขาดความกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง จี้ต่อมสำนึกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เหตุต้องบัญญัติหมวดจริยธรรมไว้ใน รธน. ด้าน “บรรยง” ระบุการคอร์รัปชันเป็นอุปสรรคพัฒนาประเทศ แนะ 3 ยุทธศาสตร์ ปลูกฝัง-ป้องกัน-ปราบปราม สู้คอร์รัปชัน

วันนี้ (3 เม.ย.) ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ปาฐกถาเรื่องจริยธรรมกับทางรอดประเทศไทย : ปัญหาและทางออก ในงานสัมมนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 12 ปีผู้ตรวจการแผ่นดิน ตอนหนึ่งว่า หากสังคมไทยไม่มีจริยธรรมประเทศไทยไปไม่รอด จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยจริยธรรมเป็นจิตสำนึกของคน ปัญหาของเราในขณะนี้เมื่อเป็นนามธรรมและจิตสำนึกของคนที่มีคุณธรรมและจริยธรรมอาจไม่เหมือนกัน เนื่องจากคนบางคนอาจมองว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องตามจริยธรรมแล้วเพราะเป็นจิตสำนึก แต่คนบางคนกลับมองว่าอาจจะถูกหรือไม่ถูกก็ได้ คำว่า จริยธรรม คือการประพฤติตนด้วยความถูกต้อง แม้ว่าความดี ความถูกต้องอาจเป็นนามธรรม หรือเป็นจิตสำนึก แต่การกระทำของเราอะไรที่เป็นสิ่งดีเรารู้ สิ่งใดไม่ดีเรารู้ ถ้าเราเอาคำว่าจริยธรรมเอาไว้ในความรู้สึกว่าเราจะทำด้วยความดี ความถูกต้อง ตนเชื่อว่าตรงนี้คือทางรอดของประเทศไทย

โดยในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ได้มีกำหนดจริยธรรมไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด แต่ตนรู้สึกอายว่าทำไมต้องไปกำหนดจริยธรรม ทำไมต้องไปกำหนดเช่นนั้น ทั้งที่เป็นเรื่องของจิตสำนึกความดี ซึ่งการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมถือว่ามีความผิดทางวินัย โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยิ่งถ้าถูกร้องเรียนว่าทำผิดวินัย ทางผู้ตรวจการฯ ก็จะพิจารณาตรวจสอบว่านักการเมืองทำผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ ซึ่งถ้าเห็นว่าร้ายแรงก็ต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช ไต่สวนตามข้อเท็จจริง ซึ่งถ้าเห็นตามผู้ตรวจการฯ ก็ต้องส่งเรื่องไปทางประธานวุฒิดำเนินการถอดถอน โดยมติวุฒิสภาก็ต้อง 3 ใน 5 ดังนั้น ตนขอฝากให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเดินหน้าในเรื่องสร้างจิตสำนึกของประชาชนที่ไม่ยอมรับการคอรัปชั่น และไม่ยอมรับคนที่ทำทุจริต ทำผิดกฎหมาย

“ผมอยากสร้างกระแสความกดดันให้เกิดการไม่ยอมรับคนที่กระทำความผิด หรือได้มาในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แม้จะไม่ถึงขับไล่ แต่ต้องแสดงออกว่าให้บุคคลนั้นรู้ว่าสังคมไม่ยอมรับ เหมือนคนเมายาบ้า หรือเป็นโรคที่สังคมรังเกียจ ผมมองว่าหากสังคมไม่สร้างความกดดัน จะลำบาก นอกจากนั้นแล้วผมอยากให้เอแบคโพลล์เปลี่ยนคำถามในการสำรวจความเห็นที่ระบุว่า ยอมรับได้หรือไม่หากรัฐบาลโกง แล้วประชาชนอยู่ดีกินดี ประเทศชาติเจริญ ให้เป็นเชื่อหรือไม่ว่าหากรัฐบาลโกง แล้วจะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีหรือชาติเจริญ ทั้งนี้ ในประเด็นคำถามแรกนั้นเป็นการสำรวจที่ผิดตรรกะ และสร้างสำนึกของประชาชนให้ยอมรับการทุจริต คอร์รัปชัน” นายกล้านรงค์กล่าว

นายกล้านรงค์กล่าวต่อว่า การวัดค่าความโปร่งใสของประเทศไทยในปีนี้ ได้ 3.4 คะแนน ตนถือว่าเป็นระดับที่ไม่เลวร้ายเกินไป หากเทียบกับค่าสำรวจความโปร่งใส 17 ปีที่ผ่านมา ที่ถัวเฉลี่ยได้ 3.3 คะแนน ทั้งนี้มีประเด็นที่จะทำให้เกิดความโปร่งใสได้ คือ จริยธรรม การทำดี ถูกต้องและทำด้วยความจริง อย่างไรก็ตาม สาเหตุการคอรัปชั่นและการทำผิดจริยธรรมนั้นเหมือนกัน มีอยู่ 5 ประการ ได้แก่ 1. กระแสบริโภคนิยม วัตถุนิยม 2. โครงสร้างสังคมไทย ระบบอุปถัมภ์แบบแนวดิ่งที่ผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่าต้องวิ่งเข้าหาผู้ที่มีอำนาจมาก เพื่อให้ตนเองอยู่รอด และได้ตามที่ตนเองต้องการ

นายกล้านรงค์กล่าวต่อว่า แนวการตัดสินของแต่ละองค์กรต้องยืนอยู่บนความเที่ยงธรรม ต้องไม่อยู่ภายใต้การกดดันใดๆ ทั้งสิ้น บางเรื่องสังคมพิพากษาไปก่อนตามความรู้สึก แต่องค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบจะยึดหลักตามความรู้สึกไม่ได้ ต้องยึดพยานหลักฐานแบบไม่มีอคติ ต้องกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง สังคมไทยยังขาดการกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ฉะนั้น ต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะจะไม่เกิดปัญหาจริยธรรมขึ้นเลย นอกจากนี้ยังมองว่าการจะแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ต้องสร้างให้คนไทยเกลียดการคอร์รัปชัน ตนมีความเห็นว่าสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้บ้านเมืองไปรอด จริยธรรมจำเป็นต้องเกิดขึ้น ความเข้มแข็งต้องเกิดขึ้นรวมทั้งความกล้าขององค์กรด้วย นั่นคือทางรอดของประเทศและทางออก อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช กำลังดำเนินการสอบอยู่คดีหนึ่ง ซึ่งมีการใช้งบประมาณพันล้านบาท แต่ขอไป 50เปอร์เซ็นต์ โดยมีการสอบพยาน 300-400 ปาก แต่เวลานี้พยานขอกลับคำให้การโดยยอมรับว่ามีการรับเงินไปจริง ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ อย่างมาก สำหรับมาตรา 113 ที่วางหลักในเรื่องของการคุ้มครองพยาน

ด้าน นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันการที่ภาคเอกชนจ่ายสินบนให้กับผู้มีอำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ของตนนั้น กำลังระบาดอย่างกว้างขวางและสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจและสังคมมากที่ สุด ซึ่งแบ่งได้ 3 ประเภท คือ 1. ซื้อหาความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยไม่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ เช่น ล็อกสเปก ฮั้วราคาในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การให้สัมปทานสำหรับกิจการผูกขาด ซึ่งการทุจริตในประเภทนี้มีปริมาณลงเงินสูงสุด ก่อความเสียหายให้กับสังคมมากที่สุด จนมีผู้กล่าวว่ามหาเศรษฐีไทย 8 ใน 10 คนมีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริตประเภทนี้ไม่มากก็น้อย 2. การซื้อหาความสะดวกคือการที่ภาคเอกชนจำเป็นต้องจ่ายค่าน้ำร้อน น้ำชา เพื่อแลกกับการได้รับอนุญาตหรือบริการจากภาครัฐ เช่น ในงานสรรพากร ตำรวจ งานแปลงสัญชาติคนต่างด้าว โดยสินบนประเภทนี้ไม่มีประโยชน์ในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นภาระต้นทุนที่ไม่จำเป็น 3. การซื้อหาความไม่ผิดคือการจ่ายสินบนเพื่อบิดเบือนความยุติธรรมให้ตนเองพ้น ผิดหรือได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ในกระบวนการทางกฎหมาย เช่น ในระบบตำรวจ อัยการ

นายบรรยงกล่าวต่อว่า แม้ทุกรัฐบาลจะมีนโยบายในการปราบปรามคอร์รัปชันมีการสูญเสียงบประมาณไปไม่ น้อยแต่การทุจริตคอร์รัปชันในปัจจุบันกลับขยายตัวและมีความลึกซึ้งมากขึ้น เนื่องมากจากมีการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ระหว่างผู้รับและผู้ให้ แยกเป็น ได้กระจุกเสียกระจาย คือการใช้หลักการที่ว่าเมื่อไม่มีผู้รู้สึกเสียหายย่อมไม่มีผู้ร้องเรียน เป็นการกระจายต้นทุนความเสียหายให้ทั่วๆ กัน เช่นการทุจริตในงบประมาณถ้าทุจริต 6,500 ล้านบาทจากงบประมาณส่วนกลาง ทุกคนจะเสียหายเพียง 100 บาท ทำให้ทุกคนไม่มีความรู้สึกว่าตนเองเสียหาย นอกจากนี้นักทุจริตยังสามารถประยุกต์วิธีแจกกระจุกเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ และโอกาสในการทุจริต เช่น การจ่ายเงินซื้อเสียง ได้วันนี้เสียวันหน้าที่นำมาจากหลักเกณฑ์ที่ว่าการทุจริตที่ไม่ส่งผลเสียใน ทันทีย่อมมีโอกาสที่จะถูกต่อต้านตรวจสอบน้อยกว่า เช่น การลงทุนขนาดใหญ่ในภาครัฐหรือวิสาหกิจที่มีการตัดค่าเสื่อมราคาในระยะยาว สามารถกล่าวอ้างถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคม โดยยากที่จะพิสูจน์ผลโดยระยะสั้น เป็นการผลักภาระต้นทุนความเสียหายให้แก่ผู้เสียภาษีในอนาคต บางครั้งก็ใช้วิธีการจ้างผู้เชี่ยวชาญกำมะลอมาช่วยยืนยันการศึกษาข้อมูลเป็น ไปได้ เพื่อผลักดันโครงการที่ไม่มีความคุ้มค่าอย่างแท้จริง อย่างการอนุมัติงบประมาณซ่อมสนามบินดอนเมือง 1,000 ล้านบาท อย่างรีบด่วน ทั้งที่ไม่มีแผนใช้งานที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันขาดทุนเดือนกว่า 20 ล้านบาท และการกำเนิดกลไกตัวแทนตัวกลาง ผู้ประสานงานการทุจริตที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะและเป็นการถาวรสามารถสนองความต้องการในการคอร์รัปชันให้แก่ทุกขั้วอำนาจการเมือง ไม่ว่าจะเปลี่ยนกี่ขั้วอำนาจก็ตาม ประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจที่รุนแรง เพราะเป็นการใช้ทรัพยากรจำนวนมาก โดยไม่ได้สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจขึ้นเลย แต่เอาส่วนแบ่งค่าตอบแทนในสัดส่วนที่สูง เช่นการจัดซื้อจัดจ้างด้านสารสนเทศ ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน ยากต่อการประเมินคุณค่าได้ ทุกคนรู้ถึงความชั่วร้ายของการคอร์รัปชัน แต่ก็มีการสร้างค่านิยมที่เชื่อว่าการแก้กรรมสามารถทำได้ เช่น การสร้างวัด สร้างพระ ก็หายได้ ซึ่งมหาเศรษฐีไทยจำนวนมากที่อยู่ในกลุ่มนี้

นายบรรยงยังกล่าวอีกว่า การคอร์รัปชันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ภาคเอกชนก็ขาดการพัฒนา โดยจะเห็นได้ว่างบลงทุนในการวิจัยภาคเอกชนต่ำที่สุด เพราะมองว่าต่อให้พัฒนาไปก็สู้กับการใช้วิธีซื้อหาความได้เปรียบหรือการกีด กันการแข่งขันที่ลงทุนต่ำว่าไม่ได้ ตนเห็นว่าหากประเทศไทยไม่สามารถปรับปรุงดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันที่อยู่ใน ระดับที่ร้อยละ 3.4 ให้สูงเกินกว่าร้อยละ 5 ได้ โดยยังคงพัฒนาไปในลักษณะนี้กว่าเราจะไปอยู่ในระดับเดียวกับมาเลเซียใน ปัจจุบันคงต้องใช้เวลาอีกประมาณ 50 ปี คือหลังปี พ.ศ. 2600 ไทยจึงจะบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศพัฒนา

นายบรรยงกล่าวว่า นอกจากนี้ยังเห็นว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมขณะนี้มีสาเหตุไม่น้อยที่มาจากการคอร์รัปชัน เพราะไม่มีการปรับปรุงศักยภาพในการแข่งขัน นอกจากนี้ การที่ความได้เปรียบ ความสะดวก และความผิด สามารถหาซื้อได้ จึงทำให้คนบางกลุ่มได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน รวมไปถึงเรื่องความแตกแยกสังคมไทยที่ทำให้เกิดความเหลือมล้ำ การที่คนกลุ่มใหญ่ใช้ความพยายามในทุกวิธีทางที่จะเข้าถึงอำนาจรัฐ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการและต้นทุน กลายเป็นรากฐานสำคัญของปัญหาแตกแยกรุนแรง แม้แต่ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีสาเหตุไม่น้อยที่มาจากคอร์รัปชัน ซึ่งตนขอพยากรณ์ว่าหากกลุ่มการเมืองและกลุ่มประชาชนที่พยายามต่อสู้กับกลุ่มคนที่เขานิยามว่าเป็นพวกอำมาตย์ ซึ่งเคยกุมอำนาจทรัพยากรและความได้เปรียบมาตลอดประสบความสำเร็จ เขาก็จะเผชิญกับเครือข่ายกลุ่มใหญ่กลุ่มใหม่ที่ถูกเชื่อมด้วยผลประโยชน์ คอร์รัปชัน ที่พูดตนไม่ได้กล่าวหาว่านักการเมืองและข้าราชการทุกคนเป็นคนไม่ดี แต่ก็ยากที่จะพูดได้ว่านักการเมืองทุกวันนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการได้รับผล ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

นายบรรยงกล่าวว่า โดยวิธีการต่อสู้คอร์รัปชันจะต้องใช้ยุทธศาสตร์แบ่งเป็น3 ส่วนคือการปลูกฝัง ป้องกันและปราบปราม รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่มีการดำเนินการอยู่ แต่ต้องให้มีความเข้มข้นชัดเจนมากขึ้น มาตรการแรกคือการเปลี่ยนทัศนคติของสังคมจากไม่ทำชั่วให้เป็นไม่ยอมให้มีการทำชั่ว มาตรการต่อมาคือการกระจายอำนาจรัฐ เพื่อให้งบประมาณลงไปสู่ท้องถิ่นและเกิดการตรวจสอบของประชาชนในพื้นที่ อีกมาตรการคือการขจัดเงื่อนไขที่เอื้อให้มีการทุจริต ลดขั้นตอนระบบราชการ และแก้ไขระเบียบที่มีความยุ่งยากซับซ้อน นอกจากนี้ควรเพิ่มความโปร่งใสในภาครัฐ แปรรูปรัฐวิสาหกิจที่สมบูรณ์ เปิดเสรีระบบเศรษฐกิจยิ่งขึ้น ส่งเสริมองค์กรภาคประชาชน ร่วมมือกับนานาชาติ และองค์ระหว่างประเทศ ซึ่งข้อเสนอส่วนใหญ่จะต้องริเริ่มโดยภาครัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น