xs
xsm
sm
md
lg

กอ.รมน.ภ.4 ชูผลงาน 6 เดือนปราบยาเสพติด-น้ำมันเถื่อนควบคู่ดับไฟใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ และรองโฆษก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า
ยะลา - กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สรุปผลการปฏิบัติงาน ในรอบ 6 เดือน เน้นการป้องปรามและจับกุมขบวนการค้ายาเสพติด-ค้าน้ำมันเถื่อน จนยึดของกลางเป็นจำนวนมาก ควบคู่กับการใช้ยุทธศาสตร์การดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้สถานการณ์ในพื้นที่ไม่ถูกยกระดับเข้าสู่เวทีสากล

วันนี้ (31 มี.ค.) เวลา 09.30 น. ที่ห้องแถลงข่าวภายในศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ และรองโฆษก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวถึงการปฏิบัติงานของในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ว่า ได้มีการสร้างความรู้ และความเข้าใจในเรื่อง ประวัติศาสตร์ และอัตลักษณ์ที่ถูกต้อง เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติบนพื้นฐานของความแตกต่างผ่านทางผู้นำศาสนา โดยเชิญชวนบุคคลเป้าหมายเข้าร่วมโครงการประชาร่วมใจทำความดีเพื่อแผ่นดิน ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 ถึงปัจจุบัน มีผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว 3,975 คน สำหรับในรอบ 6 เดือน มีผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 400 คน และใช้การเข้าพบปะพูดคุยอย่างต่อเนื่องในชุมชน สถานศึกษา ส่งผลให้ประชาชนเข้าใจนโยบายการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล และหน่วยงานในพื้นที่

ส่วนยุทธศาสตร์การป้องกัน และแก้ไขปัญหาภัยแทรกซ้อน เพื่อให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงไม่ได้รับการสนับสนุนเครื่องมือและปัจจัยที่จำเป็นในการก่อเหตุ ด้วยการดำเนินการใน 2 เรื่องหลัก ได้แก่ ปัญหายาเสพติด และน้ำมันเถื่อน โดยได้จัดตั้งคณะทำงานพิเศษดำเนินการแก้ไขปัญหา
การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด แบบบูรณาการของศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเพื่อเอาชนะยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผลการปฏิบัติที่สำคัญ คือ 2. การปฏิบัติต่อปัญหาภัยแทรกซ้อน ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้จัดตั้งคณะทำงานพิเศษ ด้วยการบูรณาการกำลังร่วมหลายฝ่าย ประกอบด้วย ทหาร, ตำรวจ, สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด, ศุลกากร และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เข้าจัดการกับปัญหาภัยแทรกซ้อน ซึ่งมีเครือข่ายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ โดยใช้กฎหมายพิเศษเข้าดำเนินการอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ การดำเนินการต่อขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนในห้วงที่ผ่านมาสามารถตรวจยึดของกลางจำนวนกว่า 300,000 ลิตร และในรอบ 6 เดือน (ต.ค. 2554 - มี.ค. 2555) สามารถจับกุมและตรวจยึดของกลาง ประกอบด้วย รถกระบะ จำนวน 76 คัน, เรือ จำนวน 2 ลำ, สถานที่เก็บน้ำมัน จำนวน 10 แห่ง, น้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 84,295 ลิตร และ ผู้กระทำความผิด จำนวน 84 ราย

พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวต่ออีกว่า การดำเนินการต่อขบวนการค้ายาเสพติดในห้วงที่ผ่านมา ได้จัดกำลังเข้าดำเนินการกดดัน ปราบปราม และสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่จำนวน 150 ครั้ง ได้ผู้ต้องหาจำนวน 211 คน ตรวจยึดของกลางยาบ้ากว่า 250,000 เม็ด, พืชใบกระท่อมกว่า 2,500 กิโลกรัม, ยาแก้ไอกว่า 33,000 ขวด และยาเสพติดประเภทอื่นๆ อีกจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังสามารถขยายเครือข่ายจากผลการจับกุมที่นำไปสู่การยึดทรัพย์ เครือข่ายค้ายาเสพติดในพื้นที่ทั้งเงินสด, รถยนต์, ทองคำ, ที่ดิน และทรัพย์สินอื่นๆ อีกหลายรายการ รวมมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ซึ่งการเข้าดำเนินการดังกล่าวได้พบหลักฐานสำคัญที่เชื่อถือได้ว่า เครือข่ายยาเสพติดที่ถูกจับกุม เป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงกับพ่อค้ายาเสพติดทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเชื่อมโยงกับแกนนำ ผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่อย่างชัดเจน

ส่วนยุทธศาสตร์การดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้สถานการณ์ในพื้นที่ไม่ถูกยกระดับเข้าสู่เวทีสากล ด้วยการดำเนินการ มีการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม “ตามหลักนิติธรรม ” การนำกฎหมายพิเศษมาบังคับใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้. ทั้ง พ.รบ. กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายใน พ.ศ.2551 โดยได้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่เคารพในหลักกฎหมายไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และให้การเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเคร่งครัด ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาไม่มีกรณีร้องเรียนจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

โดยมีสถิติคดีความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 8,329 คดี ดังนี้ ไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด จำนวน 6,370 คดี รู้ตัวผู้กระทำความผิด จำนวน 1,959 คดี (จับได้ 1,397 คดี, หลบหนี 502 คดี) คดีเข้าสู่ชั้นศาล พิจารณาพิพากษา จำนวน 270 คดี - ลงโทษ จำนวน 145 คดี คิดเป็นร้อยละ 53.70 - ยกฟ้อง จำนวน 125 คดี คิดเป็นร้อยละ 46.30

โดยคดีล่าสุดเมื่อ 16 มี.ค.2555 ได้มีคำพิพากษาของศาลจังหวัดนราธิวาส กรณีวิทยาลัยอิสลามบูรพา ผู้ต้องหาจำนวน 7 คน โดยตัดสินพิพากษาประหารชีวิต จำนวน 5 คน จำคุก 27 ปี จำนวน1 คน และ อีก 1 คน หลบหนีในระหว่างประกัน ในคดีร่วมกันก่อการร้าย เป็นอั้งยี่ ซ่องโจร มีวัตถุระเบิด มีกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต พกปืนในสถานที่สาธารณะ

สำหรับสาเหตุสำคัญของการยกฟ้องคดี เนื่องจากขาดพยานหลักฐาน สาเหตุ คือ พยานกลับคำให้การ, ไม่มาขึ้นศาล เป็นต้น และที่ผ่านมาผู้ที่ถูกพิพากษายกฟ้องหลายรายได้ก่อเหตุซ้ำ เช่น กรณีสังหารหัวหน้าพรรคประชาธรรม เมื่อ 15 ธ.ค. 2554 พบว่า 1 ใน 2 ของผู้ก่อเหตุซึ่งเสียชีวิต, ศาลพิพากษายกฟ้องคดีฆ่าครูจูหลิน และยิงเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. จึงไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่า การยกฟ้อง คือ การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานด้านความเป็นธรรม เข้าไปพบปะเสริมสร้างความเข้าใจต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อกรณีเหตุการณ์สำคัญในห้วงที่ผ่านมา เช่น กรณีตากใบ, กรือแซะ, บ.กาโสด, ไอบือแย, บ.คอกกระบือ เป็นต้น หรือล่าสุดกรณีประชาชนเสียชีวิต 4 ราย และได้รับบาดเจ็บ 4 ราย ที่บ้านกาหยี ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี. โดยการชี้แจงให้สาธารณชนรับทราบ ตามผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระฯ จนนำไปสู่การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาต่อครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

ในขณะปฏิบัติหน้าที่ตามแผนเผชิญเหตุของหน่วย จากกรณีโจมตีฐานปฏิบัติการทหารพราน ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในความจริงใจของรัฐในการแก้ปัญหา และการบังคับใช้กฎหมายตามหลักนิติธรรมมากขึ้น มีการประสานและชี้แจงข้อเท็จจริงให้องค์กรเอกชน ตลอดจนได้พบปะหารือกับผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เข้าใจและรับทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ และไม่ยกประเด็นปัญหาไปสู่ประชาคมโลก

นอกจากนี้ยังดำเนินการสร้างความเข้าใจ เพื่อนำผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์กลับสู่ภูมิลำเนา รวมทั้งการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มีหมายตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และ หมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอนของกฎหมาย มียอดเข้าสู่กระบวนการแล้ว จำนวนกว่า 700 คน

การเตรียมการเพื่อรองรับการนำมาตรา 21 มาบังคับใช้ในพื้นที่ ตั้งแต่ 1 มี.ค.2555โดยมีการประชาสัมพันธ์ และติดต่อประสานงานกับญาติผู้หลงผิด ปัจจุบันมีผู้เข้าสู่กระบวนการแล้ว จำนวน 2 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ส่วนการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อให้สภาพแวดล้อมมีความปลอดภัย และประชาชนในพื้นที่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ด้วยการบูรณาการใช้กำลังทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง กำลังประชาชน และเครือข่ายภาคประชาชน ในการดูแลพื้นที่อย่างต่อเนื่อง มีการดูแลรักษาความปลอดภัยบุคคล, สถานที่, สาธารณูปโภค และการคมนาคม ที่เป็นเป้าหมายในการก่อเหตุรุนแรง ประกอบด้วย ครู โรงเรียน วัด พระ ชุมชนล่อแหลม ชุมชนเมือง รถไฟ ไฟฟ้า เขื่อน และ เส้นทางต่างๆ

พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวต่อถึงการติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุรุนแรงอีกว่า ได้ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ยึดถือหลักชนะ โดยไม่ต้องรบ ด้วยการเสริมสร้างความเข้าใจ การบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม และเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน

สรุปผลการปฏิบัติที่สำคัญ ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2554 ถึงปัจจุบัน มีการปะทะกับผู้ก่อเหตุรุนแรง และ เสียชีวิต จำนวน 13 คน สามารถจับกุมผู้ก่อเหตุรุนแรงที่มีหมาย ป.วิอาญา จำนวน 15 คน, สามารถตรวจยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ จำนวน 42 กระบอก, ตรวจยึดวัตถุระเบิดและอุปกรณ์ประกอบ จำนวนมาก

“การดำเนินงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ทั้งหมดนั้น โดยการนำของ พลโทอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 มีความตั้งใจแน่วแน่ และมุ่งมั่นที่จะทุ่มเท แรงกาย แรงใจในการปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถให้บรรลุผล และสนองตอบต่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำพาวิถีชีวิตของประชาชน สู่ความเป็นปกติ เกิดความปรองดอง สมานฉันท์ สามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้มิติของความหลากหลาย ทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการนำไปสู่สันติสุขที่ยั่งยืน อย่างแท้จริง ต่อไป” พ.อ.ปราโมทย์กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น