ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 20 ปี “ชลอ เกิดเทศ” อดีต ผบ.ประจำกรมตำรวจ ยักยอกของกลางเพชรซาอุฯ-เรียกรับสินบน แก้ลงโทษลูกน้องโดนคุกทั่วหน้า
วันนี้ (9 ก.พ.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่ห้องพิจารณา 814 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 2 เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ อดีตผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ พ.ต.อ.ประเสริฐ จันทราพิพัฒน์ ผู้กำกับการตำรวจม้า กองบังคับการตำรวจสายตรวจ (ยศขณะนั้น), พ.ต.ต.ธานี สีดอกบวบ สารวัตร กก.กาฬสินธุ์ (หลบหนีการดำเนินคดี), ร.ต.อ.ฤทธิศาสตร์ แก้วเดช รองสว.สส.สภ.อ.บ้านตาก จ.ตาก, ด.ต.เท่ง ติ๊บปะละวงศ์ ผบ.หมู่ สภ.อ.เถิน จ.ลำปาง, จ.ส.ต.สนิท กาวิชา ผบ.หมู่ สภ.อ.เถิน, จ.ส.ต.เสวก หรือ ส่วย กันทะมา สังกัด ผ.5 กก.2 ป.และ นายสุรจิต หรือ แดงหงอก ชัยศิริ (เสียชีวิตเมื่อปี 2547) เป็นจำเลยที่ 1-8 ตามลำดับในความผิดฐาน ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ, ร่วมกันเบียดบังยักยอกทรัพย์ของผู้อื่นเป็นของตนเองโดยทุจริตและความผิดอื่นๆ หลายข้อหา
โดยคดีนี้โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2536 สรุปว่า พวกจำเลยซึ่งเป็นคณะพนักงานสอบสวนสืบหาเครื่องเพชรมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ของเจ้าชายไฟซาล ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถูกนายเกรียงไกร เตชะโม่ง คนงานไทยขโมยกลับประเทศไทยมาและนำมาขายให้กับนายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ เสี่ยเจ้าของร้านเพชร “สันติมณี” โดยระหว่างสืบสวนสอบสวนคดีพวกจำเลยทั้งหมดได้เรียกรับเงินจากผู้ต้องหาหลายครั้งจำนวน 3 ล้านบาท, จำนวน 6.6 แสนบาท และจำนวน 1.2 ล้านบาท เพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดีผู้ต้องหาในคดีรับของโจร และยังได้ร่วมกันยักยอกเพชรและทรัพย์สินของกลางหลายรายการ เช่น นาฬิกาข้อมือฝังเพชรยี่ห้อโชปาร์ด ,นาฬิกายี่ห้อบูเช่กิรอด ,อัญมณีแดงรูปดอกลำดวน 5 แฉก สร้อยเพชร สร้อยคอทองคำฝังเพชร จี้เพชร ต่างหู และอื่น ๆ ไปโดยมิชอบไม่นำส่งคืนให้กับพนักงานสอบสวน ซึ่งในชั้นพิจารณาคดีจำเลยทั้งหมดแถลงให้การปฏิเสธต่อสู้คดี
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2549 โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อประโยชน์ตนเองหรือผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 และมาตรา 83 ซึ่งพฤติการณ์จำเลยที่ 1 กระทำความผิดหลายกรรมต่างวาระกันให้ลงโทษทุกกระทงความผิดให้จำคุก 2 กระทงๆ ละ 10 ปี รวมจำคุกเป็นเวลา 20 ปี จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน เบียดบังทรัพย์เป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ให้จำคุก 7 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและคำรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษเห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกไว้เป็นเวลา 4 ปี 8 เดือน และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2, 5, 6, 7 เนื่องจากพยานโจทก์ยังไม่เพียงพอ และให้คืนทรัพย์สินของกลาง 9 รายการและเงินจำนวน 200,000 บาทแก่ผู้มีสิทธิ์ ต่อมาโจทก์-จำเลยยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว เห็นว่า คำเบิกความและพยานหลักฐานโจทก์จำเลยในชั้นนำสืบแล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2533 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคณะพนักงานสอบสวนสืบหาเพชรของเจ้าชายไฟซาล ได้ให้ลูกน้องไปรับเงินจำนวน 3 ล้านบาทจากนายสุรศักดิ์ ศิริกุล ผู้ต้องหาคดีรับของโจรที่รับซื้อเพชรของกลางจากนายเกรียงไกร ซึ่งขโมยมาจากวังเจ้าชายไฟซาล โดยไม่นำเงินดังกล่าวส่งพนักงานสอบสวนเป็นของกลางและไม่จับกุมนายสุรศักดิ์ ดำเนินคดีข้อหารับของโจร จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาเบียดบังเอาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของตัวเองโดยทุจริตแลกกับการไม่ดำเนินคดีนายสุรศักดิ์ ฐานรับของโจร อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยที่ 2 กระทำผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ เรียกรับเงินจำนวน 6.6 แสนบาทจากผู้ต้องหาหรือไม่ เห็นว่าฝ่ายโจทก์มีนายนิคม เตชะโม่ง ญาตินายเกรียงไกร ให้การในชั้นสอบสวนว่า ได้พาจำเลยที่ 2 ไปรับเงินจำนวน 6.6 แสนบาทจากพันจ่าอากาศเอกคนหนึ่งซึ่งนายเกรียงไกรได้นำเงินไปฝากไว้ ที่จ.เชียงใหม่ โดยพันจ่าอากาศเอกคนดังกล่าวคืนเงินให้ในทันที เนื่องจาก นายนิคม บอกว่า นายเกรียงไกร ถูกจับกุมแล้วและจำเลยที่ 2 เป็นตำรวจมาเอาของกลางคืน
อย่างไรก็ตาม แม้ภายหลัง นายนิคม จะกลับคำให้การในชั้นศาล แต่คำเบิกความในชั้นสอบสวนน่าเชื่อถือกว่าเพราะพนักงานสอบสวนได้สอบถามพยานทุกครั้ง ซึ่งพยานยืนยันตามคำให้การเดิมมาโดยตลอดก่อนมาเปลี่ยนคำให้การในชั้นศาล ดังนั้นศาลเห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ติดตามทรัพย์สินของเจ้าชายไฟซาลคืน แต่กลับไม่นำของกลางดังกล่าวคืนพนักงานสอบสวน เชื่อว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาเบียดบังเอาทรัพย์สินเป็นของตนเองโดยทุจริต
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยที่ 7 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 8 (เสียชีวิตแล้ว) เรียกรับเงินจำนวน 1.2 ล้านหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนายนิคมเป็นพยานให้การในชั้นสอบสวนว่าจำเลยที่ 8 ได้เรียกรับเงินดังกล่าว แต่นายนิคมหาได้จำนวน 1 ล้านบาทแล้วนำไปมอบให้กับ จำเลยที่ 1 ที่กองบัญชาการสอบสวนกลาง
ต่อมาภายหลัง จำเลยที่ 7 ได้มารับเงินที่เหลืออีก 2 แสนบาทไป ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยที่ 7 และ 8 ไม่ได้ร่วมกระทำผิดด้วยนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย เห็นว่า จำเลยที่ 7 และ 8 เป็นเจ้าพนักงานเรียกรับผลประโยชน์เพื่อกระทำการใดหรือไม่กระทำการใดในตำแหน่งหน้าที่
ส่วนจำเลยที่ 4 ทางนำสืบได้ความจากพยานโจทก์ว่ารับทรัพย์สินของกลางจากนายนิคม ที่มาเรียกไปคืน นางสวย เสาวนีย์ ที่นายเกรียงไกรนำมาทรัพย์สินของกลางหลายรายการมาฝาก ประกอบกับหลักฐานที่พนักงานสอบสวนได้ไปตรวจค้นบ้านจำเลยที่ 4 พบของกลางในคดี เชื่อว่าจำเลยที่ 4 ยึดทรัพย์สินของกลางมาจริง แต่ไม่นำส่งพนักงานสอบสวนจึงมีเจตนาเบียดบังเอาทรัพย์สินเป็นของตนเอง
คดีประเด็นสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 5 และ จำเลยที่ 6 กระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบเรียกรับเงินจำนวน 2 แสนบาท หรือไม่เห็น จำเลยที่ 5-6 เบิกความรับว่ารับเงินจากนายนิคม ที่เบิกจากธนาคารจำนวน 2 แสนบาทไว้จริง แต่ปฎิเสธไม่ทราบว่าเป็นเงินของกลาง และภายหลังได้นำเงินส่งพนักงานสอบสวนแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 5-6 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมต้องทราบว่านายนิคมเป็นผู้ต้องหาคดีรับของโจร แต่กลับไม่จับกุมดำเนินคดีตั้งแต่แรก จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 5-6 รับเงินไว้เป็นค่าตอบแทนแลกกลับการไม่ดำเนินคดีผู้ต้องหาที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าหลักฐานไม่เพียงพอลงโทษจำเลยที่ 5-6 นั้น ไม่ต้องด้วยศาลอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.147 ฐานเป็นเจ้าพนักงาน เบียดบังทรัพย์เป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 5, 6 และ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.149 ประกอบ ม.83 ลงโทษจำคุกเป็นเวลาคนละ 7 ปี แต่จำเลยที่ 5 และ 6 นำเงินของกลางจำนวน 2 แสนบาทมาคืน มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือลงโทษจำคุกเป็นเวลา 4 ปี 8 เดือน นอกเหนือจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า สำหรับคดีนี้ในศาลชั้นต้นใช้เวลาสืบโจทก์-จำเลยนานกว่า 13 ปีเนื่องจากเอกสารในคดีมีจำนวนมาก และต้องส่งประเด็นไปสืบตามศาลต่าง ๆ รวมทั้งการติดตามพยาน ในศาลอุทธรณ์อีก 6 ปี รวมเป็นเวลากว่า 19 ปี โดยคดีนี้เป็นคดีแรกที่ยื่นฟ้องพล.ต.ท.ชลอ กับพวก ในสำนวนคดีเพชรซาอุฯ จนต่อมามีการฟ้อง พล.ต.ท.ชลอ กับพวก คดีอุ้มฆ่านางดาราวดี และ ด.ช.เสรี ภรรยาและบุตรชายของ นายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ เสี่ยเจ้าของร้านเพชร “สันติมณี” ที่รับซื้อเพชรมาจาก นายเกรียงไกร เตชะโม่ง ที่เป็นผู้ขโมยเพชรมาจากวังเจ้าชายไฟซาล ซึ่งคดีอุ้มฆ่า 2 แม่ลูกศรีธนะขัณฑ์โดยวิธีนำศพทั้งสองไปไว้บนรถแล้วให้รถสิบล้อวิ่งทับอำพรางเป็นอุบัติเหตุนั้น คดีถึงที่สุดแล้วโดยศาลฎีกาพิพากษาให้ประหารชีวิต พล.ต.ท.ชลอ ส่วน นายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ ศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกในความผิดฐานรับของโจร เป็นเวลา 3 ปี คดีสิ้นสุดแล้วเช่นกัน
นอกจากนี้ พล.ต.ท.ชลอ ยังถูกถอดยศตำรวจและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2553 เนื่องจากต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษประหารชีวิตในคดีอุ้มฆ่าสองแม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย ตริตาภรณ์ช้างเผือก ตริตาภรณ์มงกุฎไทย จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย และเหรียญจักรมาลาด้วย