ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง "กรมเก็บ" ขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวังเพื่อดูแลและจัดเก็บทรัพย์สินแผ่นดิน ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมพระคลังมหาสมบัติ" ภายหลังการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงและกรม พ.ศ.2476 ในรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมพระคลังมหาสมบัติ กรมเงินตรา กรมรักษาที่หลวงและกัลปนา และกรมกระษาปณ์สิทธิการเข้าด้วยกันเรียกว่า “กรมพระคลัง” และเปลี่ยนชื่อมาเป็น “กรมคลัง” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “กรมธนารักษ์” เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2495
ภาระกิจของกรมธนารักษ์ในความรับรู้ของประชาชนทั่วไป คือผลิตเหรียญกษาปณ์ เหรียญที่ระลึกในพระราชวโรกาส และงานพระราชพีธีสำคัญๆ และดูแลที่ดินราชพัสดุ
กรมธนารักษ์ยังทำหน้าที่เป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ คือ ดูแลรักษาทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ซึ่งเป็นงานฝีมือที่ทรงคุณค่า แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่ตกทอดมาจากอดีต เป็นงานศิลปกรรมชั้นครูที่งดงาม จากการสร้างสรรค์ของช่างฝีมือในพระราชสำนัก ทรัพย์สินเหล่านี้มีมากถึง 90,000 กว่ารายการ ส่วนหนึ่งได้นำมาจัดแสดงที่ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์
ในสมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์ ซึ่งทรงกำกับดูแลกรมพระคลังมหาสมบัติได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างเทวรูปพระคลัง เพื่อให้เป็นที่คุ้มครองปกปักรักษาพระราชทรัพย์ของแผ่นดินที่รวมเก็บไว้ในพระคลังมหาสมบัติ และให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวแก่ข้าทูลละอองธุลีพระบาทที่รับราชการในกรมพระคลังมหาสมบัติให้มีขวัญกำลังใจยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต โดยขอพระบรมราชานุญาตทำรูปปั้นเทวรูปพระคลังลักษณะคล้ายพระสยามเทวาธิราชเป็นบางส่วน
พระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติเป็นรูปปั้นมีลักษณะเป็นเทวดาหล่อยืนทรงเครื่องกษัตริยาธิราช สวมมงกุฏยอดชัย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัว เปรียบเสมือนมีเทวดาปกปักรักษาทรัพย์สมบัติทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน
ปีนี้ กรมธนารักษ์มีอายุครบ 80 ปี นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ได้จัดสร้างเหรียญพระคลังในพระคลังมหาสมบัติขึ้น เพื่อเป็นการเผยแพร่เรื่องราวประวัติศาสตร์ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน และจะนำรายได้จากการจัดสร้างไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน รายได้อีกส่วนหนึ่งจะนำไปสนับสนุนด้านการศึกษาในโครงการ“เพชรยอดมงกุฏ”ซึ่งเป็นโครงการที่พระธรรมภาวนาวิกรม (เจ้าคุณธงชัย) วัดไตรมิตรวรวิหารเป็นผู้ก่อตั้ง และดำเนินงานมากว่า 10 ปีแล้ว เป็นโครงการสร้างนักเรียนเพื่อให้เกิดความเป็นเลิศในด้านการศึกษา 10 สาขาวิชา เพื่อให้สามารถแข่งขันทัดเทียมกับต่างประเทศได้ เช่น สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ฯลฯ
รายได้ส่วนที่สาม จะเป็นสวัสดิการของกรมธนารักษ์
เหรียญพระคลังในพระคลังมหาสมบัติเป็นเหรียญรูปไข่ ด้านหน้ากลางเหรียญมีรูปเทวรูปพระคลังเต็มองค์ ประทับยืนบนแท่นทรงเครื่องกษัตริยาธิราชสวมมงกุฎยอดชัยพระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงดอกบัว เบื้องหลังเทวรูปพระคลังเป็นรูปพระวิมานเก๋งจีนที่เทวรูปพระคลังสถิตอยู่
ด้านหลังกลางเหรียญมีตราสัญลักษณ์กรมธนารักษ์ เบื้องบนรูปตราสัญลักษณ์มีข้อความว่า “พระคลังในพระคลังมหาสมบัติ” เบื้องล่างมีข้อความว่า “ ครบ 80 ปี กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง พ.ศ.2555”
เหรียญที่จะจัดสร้างออกมามีด้วยกัน 4 ชนิดประกอบไปด้วย
•เหรียญชนิดทองคำขัดเงา 99% น้ำหนัก 300 กรัม ขนาดความสูง 7 เซนติเมตร ราคาเหรียญละ 999,999 บาท
•เหรียญชนิดทองคำ 96.5% น้ำหนัก 18 กรัม ขนาดความสูง 3 เซนติเมตร ราคาเหรียญละ 50,000 บาท
•เหรียญเงินรมดำพ่นทรายพิเศษ 95% น้ำหนัก 15 กรัม ขนาดความสูง 3 เซนติเมตร ราคาเหรียญละ 2,000 บาท
•เหรียญทองแดงรมดำพ่นทราย 95% ขนาดความสูงของเหรียญ 3 เซนติเมตร ราคาเหรียญละ 120 บาท
เหรียญทั้ง 4 ชนิดจะเปิดโอกาสให้มีการจองก่อน สามารถสั่งจองได้ที่ส่วนกลาง สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ สำนักการคลัง กรมธนารักษ์ ซ.อารีย์สัมพันธ์ ถ.พระรามที่ 6 กรุงเทพฯ สำนักบริหารเงินตรา ถ.จักรพงษ์ กรุงเทพฯ สำนักกษาปณ์ ถ.พหลโยธิน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ส่วนภูมิภาค ศาลาธนารักษ์ 1 ถ.ราชดำเนิน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ศาลาธนารักษ์ 2 ศาลากลางจังหวัด (หลังเก่า) อ.เมือง จ.สงขลา สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ 75 พื้นที่ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เริ่มจองได้ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม– 30 เมษายน 2555 และรับเหรียญตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นไป