“ชวนนท์” ไม่จบ! จี้ “ปู” แจง ว.5 ซัดเลี่ยงพูดรายละเอียดยิ่งทำคนสงสัย ส่อปกปิดข้อมูล ฉะโกหกชาวบ้าน ยันสื่อไม่รู้ดอดเข้าโรงแรม จวกเลิกเอาเพศมาอ้าง งงถกเฉพาะก๊วนซี้ เสมือนปล่อยข้อมูลวงใน แถมพบยังไม่ชอบถกนักลงทุนด้วย เชื่อเกี่ยวประเมินราคาที่ดินใหม่ แนะกรมธนารักษ์แจงเลื่อนประกาศเพื่ออะไร เล็งยื่นสอบจริยธรรมแน่
วันนี้ (21 ก.พ.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ชี้แจงให้ชัดเจนว่าการไปปฏิบัติภารกิจ ว.5 ชั้น 7 ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ ระหว่างการประชุมสภาฯ ไปพบกับใครบ้างและหารือเรื่องอะไร เพราะการพูดเพียงแค่ว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่หลีกเลี่ยงที่จะพูดในรายละเอียดนั้น ย่อมทำให้ตั้งข้อสงสัยได้ว่ามีพิรุธ และมีวาระซ่อนเร้น เนื่องจากมีความพยายามปกปิดข้อมูลต่อสาธารณะ อีกทั้งนายกรัฐมนตรียังโกหกประชาชนอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นคำพูดของคนเป็นผู้นำประเทศ โดยอ้างว่าการเดินทางไปที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์เป็นเรื่องเปิดเผยที่สื่อมวลชนรับทราบดี ทั้งที่ความจริงเรื่องนี้มีการกำหนดเป็นภารกิจลับไม่ให้สื่อมวลชนติดตามทำข่าว โดยสังคมไทยจะไม่มีโอกาสรับทราบเรื่องดังกล่าวเลย หากไม่เกิดเหตุการณ์ที่นายเอกยุทธ อัญชันบุตร ถูกทำร้ายและมีการออกมาเปิดเผยว่าพบนายกรัฐมนตรีและนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในสถานที่ดังกล่าว ซึ่งมีการเปิดเผยภายหลังว่าเป็นผู้บริหารของบริษัทแสนสิริ แลนด์แอนด์เฮ้าส์ และเอสซีแอทเสท จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีพูดความจริงกับประชาชน เลิกใช้ความเป็นผู้หญิงมาปกปิดการกระทำความผิดหรือหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ เพราะทำให้เสื่อมเสียเกียรติภูมิของผู้หญิงและผู้นำประเทศ
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ยังตั้งคำถามถึงนายกรัฐมนตรีว่า เหตุใดจึงจำเพาะเจาะจงที่จะหารือกับกลุ่มนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่นายกรัฐมนตรีมีความสนิทสนมเท่านั้น ทั้งๆ ที่หากไม่มีปัญหาเรื่องผลประโยน์ทับซ้อน หรือการให้ข้อมูลวงในเพื่อให้พรรคพวกตัวเองแสวงหาประโยชน์จากการกำหนดนโยบายด้านที่ดินของรัฐบาลแล้ว เหตุใดจึงไม่ประชุมในสถานที่เปิดเผยและเชิญนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดมาร่วมหารือตามวิสัยผู้นำที่ดีพึงกระทำ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการเลือกปฏิบัติและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรียังไม่เคยสนใจที่จะแลกเปลี่ยนความเห็นกับภาคธุรกิจมาก่อน ดังจะเห็นได้จากการปฏิเสธไม่ให้สมาคมธนาคาร สภาอุตสาหกรรม และสภาหอการค้าเข้าพบ รวมถึงไม่เข้าร่วมประชุมหอการค้าทั่วประเทศ และยังไม่สนใจที่จะจัดให้มีการประชุม กรอ.ด้วย
“ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จึงมีสิทธิ์ตั้งข้อสงสัยว่า ภารกิจลับที่โฟร์ซีซั่นส์อาจมีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวกับการประเมินราคาที่ดินใหม่ที่มีการเลื่อนการประกาศออกไป 6 เดือน จากเดิมที่จะต้องประกาศในวัที่ 1 ม.ค. รวมถึงการเลื่อนการบังคับใช้ผังเมืองใหม่ใน 12 จังหวัดด้วย โดยทางพรรคจะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดว่าเหตุใดอธิบดีกรมธนารักษ์จึงยอมเลื่อนประกาศการประเมินราคาที่ดินใหม่ออกไป ทั้งๆ ที่มีการออกประกาศราคาที่ดินใหม่แล้วในวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา อีกทั้งอำนาจในการประเมินราคาที่ดินตามกฎหมายเป็นของกรมธนารักษ์ แต่การเลื่อนการประกาศครั้งนี้กลับใช้กฎหมายที่ดินมาเป็นข้ออ้าง ซึ่งได้ให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคไปพิจารณาว่าจะมีปัญหาเรื่องการขัดกันของกฎหมายหรือไม่ พร้อมกับเตือนข้าราชการว่าอย่าสนองนโยบายการเมืองจนทำให้ชาติเสียประโยชน์ เพราะสุดท้ายแล้วผู้ที่ต้องรับผิดชอบ คือ ข้าราชการ ไม่ใช่นักการเมือง” นายชวนนท์กล่าว
ส่วนกรณีที่ นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ออกมาระบุว่าการเลื่อนประเมินราคาที่ดินออกไปไม่เกี่ยวข้องกับ ว.5 โฟร์ซีซั่นส์นั้น นายชวนนท์กล่าวว่า ไม่แปลกใจเพราะหากบอกว่าเกี่ยวก็คงถูกย้ายออกจากตำแหน่ง โดยสิ่งที่อธิบดีกรมธนารักษ์ควรชี้แจง คือ อะไรทำให้ยอมเลื่อนการประเมินราคาที่ดิน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ยืนย้นว่าต้องทำตามกฎหมายในการประเมินราคาที่ดินใหม่เมื่อครบ 4 ปี ซึ่งในขณะนั้นอธิบดีกรมธนารักษ์ก็รับทราบถึงข้อร้องเรียนของสมาคมอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการให้มีการประกาศเลื่อนการประเมินราคาที่ดินจากปัญหาน้ำท่วมแล้ว ดังนั้น ในวันนี้จะอ้างว่าเลื่อนการประกาศราคาที่ดินใหม่ออกไปเพราะเหตุผลน้ำท่วมนั้นจึงฟังไม่ขึ้น เนื่องจากขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
“พฤติกรรมของนายกรัฐมนตรี เข้าข่ายขัดจริยธรรม และส่อว่าจะเกิดปัญหาทุจริตเชิงนโยบายโดยมีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยพรรคจะรวบรวมข้อมูลหลักฐานเพื่อนำไปสู่การยื่นถอดถอนต่อไป พร้อมกับเตือนให้หยุดใช้ความเป็นผู้หญิงมาเป็นข้ออ้างหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ เพราะเท่ากับว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์กำลังทำลายภาพลักษณ์ของผู้หญิงทั้งประเทศ” นายชวนนท์ กล่าว
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ยังตั้งข้อสังเกตถึงแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลที่ยังไม่มีการระบุพื้นที่รับน้ำ และหลายพื้นที่ที่มีการระบุว่าจะเป็นพื้นที่รับน้ำก็มีข้อร้องเรียนจากภาคประชาชนว่า พื้นที่เหล่านั้นไม่ใช่พื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติ และอาจส่งผลต่อระบบนิเวศวิทยา รวมถึงยังมีกรณีที่นายทุนอาจฉวยโอกาสไม่ให้เกษตรกรเช่าที่ดินเพื่อหวังรับเงินชดเชยจากรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงการการเกษตรของประเทศด้วย แต่รัฐบาลกลับไม่มีมาตรการใดรองรับเรื่องเหล่านี้ สะท้อนว่ารัฐบาลใช้เรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง